สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็น องค์ประธานตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 รอบตัดสินระดับประเทศ ณ สุราลัยฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ผลการตัดสิน รางวัลพิเศษ Best of the Best ได้แก่ ผ้ายกราชสำนัก (ผ้ายกใหญ่) ลายสิริวชิราภรณ์ ของพลตรีชัยยุทธ วชิรวรภักดิ์ จากกลุ่มผู้ประกอบการ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน (สถาบันสิริกิติ์) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และรางวัลพิเศษแม่น้ำหอม เหรียญทอง ได้แก่ นางปาริชาติ แก้วหนัก กลุ่มผู้ประกอบการปาริชาติไหมไทย ชื่อผลิตภัณฑ์ สิริวชิราภรณ์ น้ำหอมดั่งดวงหฤทัย จากจังหวัดลำพูน

เมื่อเย็นวันที่ 31 ต.ค. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธาน การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม รอบตัดสินระดับประเทศ ประจำปี 2567 หนึ่งในโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสู่สากล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดให้มีการประกวดผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเป็นการสืบสานต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจ การเชิดชูเกียรติให้กับผู้ที่สืบสานต่อยอด ณ สุราลัยฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

ในการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตัดสินผ้าลายพระราชทานร่วมกับคณะกรรมการกิตติมศักดิ์และคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ขณะที่งานหัตถกรรม ระดับประเทศปีนี้มีผู้เข้าร่วมการประกวดจาก 4 ภูมิภาค ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าประกวดฯ ระดับประเทศ รวม 78 ผลงาน แบ่งเป็นประเภทผ้าจำนวน 72 ผลงาน และงานหัตถกรรม จำนวน 6 ชิ้นงาน

ทั้งนี้ “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นลายที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศและทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีลายพระราชทานหลักจำนวน 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ๒๕๖๗ ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี พระราชทานแก่ศิลปินช่างทอผ้าและหัตถกรรมไทย โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก จก ขิด แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่และประเภทผ้าบาติก ส่งผลให้ช่างทอผ้า ทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค รวมถึงช่างหัตถกรรมทุกประเภท เกิดแรงบันดาลใจ ทุ่มเทกำลัง ความคิดและนำลายพระราชทานหลักทั้ง 4 ลายนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทำให้พี่น้องประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากการได้ใช้ภูมิปัญญามาสร้างโอกาสขยายผลต่อยอด โดยมีแนวพระดำริเป็นหลักชัยให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับรางวัลการประกวดระดับประเทศ รับพระราชทานรางวัลการประกวด “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม แบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล ดังนี้ ประเภทที่ 1 รางวัลพิเศษ ประกอบด้วยรางวัลพิเศษ Best of the Best ที่เป็นรางวัลชนะเลิศรางวัลเดียว จาก 14 ประเภท ประเภทที่ 2 เหรียญรางวัลพระราชทาน โดยรางวัลชนะเลิศ เหรียญทองคำ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 เหรียญนาก รางวัลชมเชย ใบประกาศเกียรติคุณ

ผลการตัดสินรางวัลพิเศษ Best of the Best ได้แก่ ผ้ายกราชสำนัก (ผ้ายกใหญ่) ลายสิริวชิราภรณ์ ของพลตรีชัยยุทธ วชิรวรภักดิ์ จากกลุ่มผู้ประกอบการ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน (สถาบันสิริกิติ์) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รางวัลพิเศษแม่น้ำหอม เหรียญทอง ได้แก่นางปาริชาติ แก้วหนัก กลุ่มผู้ประกอบการปาริชาติไหมไทย ชื่อผลิตภัณฑ์สิริวชิราภรณ์ น้ำหอมดั่งดวงหฤทัย จากจังหวัดลำพูน

ส่วนรางวัลงานหัตถกรรม จำนวน 6 ชิ้น เหรียญทอง ได้แก่ นางสุกัญญา สมสวาท จากกลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านลิเภา ผลิตภัณฑ์กระเป๋าย่านลิเภาทรงหมอนลายสิริวชิราภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพลตรีชัยยุทธ วชิรวรภักดิ์ จากพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน สถาบันสิริกิติ์ ผลิตภัณฑ์ตลับถมทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รางวัลเหรียญเงิน นส.นภัทร์ธมณฑ์ สวัสดีนฤนาท กลุ่มผู้ประกอบการดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่ จำกัด ผลิตภัณฑ์กระเป๋าเงินแท้ลายสิริวชิราภรณ์ จังหวัดน่าน รางวัลเหรียญนาก นายนพดล สดวกดี ผลิตภัณฑ์เรือสำเภาจักสาน SSG 999/555 จังหวัดสิงห์บุรี และรางวัลชมเชย ได้แก่ นส.วิณุรา คงทอง กระเป๋าทรงพูแอปเปิ้ล กลุ่มจักสานหมู่บ้านอ่าวยายเกิด จังหวัดสิงห์บุรี และนายนพดล สดวกดี กระเป๋าคลัตช์ งวงคู่ อเนกประสงค์ลายพระราชทาน จังหวัดสิงห์บุรี

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่