ตอกย้ำความเป็นพระราชินียุคใหม่สุดสตรอง ที่นอกจากจะทรงใช้พลัง "ซอฟต์พาวเวอร์" เพื่อทำให้ชื่อเสียงของผ้าไทยและงานหัตถศิลป์ไทยขจรขจายไปไกลได้อย่างน่าภาคภูมิใจ “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธา พิมลลักษณ พระบรมราชินี” ยังทรงเป็นต้นแบบของ "ควีนยุคนิวนอร์มอล" ที่พร้อมเปล่งประกายสู่สายตาชาวโลก

ตลอดเวลาที่ผ่านมา "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี" ทรงปลุกกระแสผ้าไทยและงานหัตถศิลป์ไทยให้คึกคักมาแล้ว โดยทรงเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่นชุดไทยพระราชนิยม และกระเป๋า ทรงถือสไตล์รักษ์โลก ซึ่งตัดเย็บจากเศษผ้าไหมที่เหลือจากการตัดฉลองพระองค์ ทรงออกแบบเพื่อใช้สอยสำหรับการเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจในแต่ละวโรกาส เพื่อเป็นการลดปริมาณสิ่งของที่เหลือจากการตัดฉลองพระองค์ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการจัดการสิ่งของเหลือใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้ทักษะด้านการออกแบบทางศิลปะมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือเป็นพระราชนิยมที่มาจากแนวคิด "Zero Waste" ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหมปักซอยไหมน้อย ลายรวงข้าว, ผ้าไหมปักซอยไหมน้อย ลายกอบัว, ผ้าไหมปักซอยไหมน้อย ลายดอกเล็บมือนาง, ผ้าจกไหม ลายข้าวหลามตัด, ผ้าขิดสลับหมี่ ลายกาบแก้วบัวบาน, ผ้าไหมมัดหมี่ ลายหมี่วงอุ้มโคม, ผ้าภูษาไหมยกดอก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์, ผ้าภูษาไหมยกดอก ลายดอกดาวเรืองถมเกสร, ผ้าไหมแพรวาลายเกาะ และผ้าไทยภูเขาชนเผ่าม้ง ก็ล้วนแต่ได้รับการชุบชีวิตให้กลับมาโลดแล่นเป็นที่ประจักษ์ในความงดงามอีกครั้ง

อีกหนึ่งเอกลักษณ์โดดเด่นของ "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี" คือ ทรงนิยม "พัดด้ามจิ้วเขียนลาย" ทำจากไม้และผ้าปักลวดลายแสนประณีตบรรจง ปลุกกระแสนิยมสร้างความคึกคักให้ผลิตผลจากฝีมือลูกหลานชาวไร่ชาวนา ที่วางจำหน่ายอยู่ในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ความฟิตและความแข็งแกร่งตามแบบฉบับของ “พระราชินียุคใหม่” ยังได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชน ผ่านพระปรีชาสามารถด้านกีฬาอันหลากหลาย ไล่ตั้งแต่ ทรงร่วมแข่งขันกีฬา “ไอซ์ ฮอกกี้” ให้กับทีม BLUE ในคู่เปิดสนาม ที่สนามไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล ไอซ์ ฮอกกี้ อารีนา เชียงใหม่ อีกทั้งทรงร่วมวิ่งในระยะทาง 10 กิโลเมตร ใช้เวลา 61 นาที 45 วินาที ในรายการ CIB RUN 2023 “วิ่งเฉลิมพระเกียรติ CIB RUN เคียงข้างประชาชน” ณ สนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อร่วมส่งเสริมให้ข้าราชการตำรวจมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี พร้อมเชิญชวนประชาชนจากทุกภาคส่วนทุกเพศทุกวัยให้มาร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและความฟิต

ตอกย้ำความแข็งแกร่ง และพระปรีชาสามารถรอบด้าน เมื่อ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ทรงเข้าร่วมการแข่งขันเรือใบนานาชาติต่อเนื่องกันหลายแมตช์ ประเดิมรายการแรกเมื่อปลายปี 2566 ด้วยการนำทีมวายุ เข้าชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพ รีกัตต้า” ครั้งที่ 35 ณ หาดกะตะ จังหวัดภูเก็ต ตามมาด้วยการนำทีมวายุคว้าชัยชนะอันดับหนึ่งในการแข่งขันเรือใบข้ามอ่าว ในมหกรรมเรือใบเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่จังหวัดเพชรบุรี โดยประทับเรือใบประเภท TP 52 รุ่นไออาร์ซี ซีโร หมายเลขเรือ THA 72

นอกจากจะทรงทำหน้าที่หลัก คือบังคับหางเสือเรือให้แล่นไปตามทิศทางที่ต้องการ แสดงทักษะในการชักใบเรือและปรับใบเรือตามกลยุทธ์ที่วางไว้ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ยังทรงสะกดทุกสายตาด้วยวินาทีหยุดโลก เมื่อทรงปีนเสาเรือใบอย่างคล่องแคล่ว เพื่อขึ้นไปผูกผ้าใบ ท่ามกลางไอแดดร้อนระอุ

จนมาถึงล่าสุด พระปรีชาสามารถด้านกีฬาเป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลกอีกครั้ง เมื่อ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” เสด็จฯทรงร่วมการแข่งขันเรือใบรายการใหญ่ระดับโลก “Puerto Portals 52 Super Series Sailing Week” TP 52 Super Series 2024 ณ เกาะมายอร์กา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2567 โดยมีบุคคลสำคัญจากวงการกีฬาเรือใบทั่วโลกเข้าร่วมงานคึกคัก อาทิ นักกีฬาจากรายการอเมริกาส์คัพ, นักกีฬาเรือใบเหรียญโอลิมปิก และนักเรือใบชื่อก้องโลก

การแข่งขันในครั้งนี้ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ไม่เพียงจะทรงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะตัวแทนทีมชาติไทยร่วมกับทีมวายุ หมายเลขเรือ 27 ในตำแหน่ง “Strategist” เพื่อทรงทำหน้าที่ดูทิศทางลม วางแผนทิศทางการแล่นเรือให้ไปสู่จุดหมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัย แต่ยังทรงทำหน้าที่บนเรือร่วมกับสมาชิกในทีมทั้ง 15 คน อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย อาทิ ทรงขึ้นและเก็บใบเรือ ตลอดจนช่วยบังคับเรือให้แล่นไปในทิศทางที่ต้องการ พร้อมกันนี้ยังทรงให้กำลังใจสมาชิกทุกคนในทีมวายุให้มีสมาธิ และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสถานการณ์ตามทิศทางลม ส่งผลให้ทีมวายุทำคะแนนสะสมได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่งทั้ง 13 ทีม จาก 9 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ การแข่งขันเรือใบรายการ “Puerto Portals 52 Super Series Sailing Week” TP 52 Super Series 2024 เริ่มแข่งตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2567 โดยจะแข่งขันวันละ 2 Race จนครบ 5 วัน รวม 10 Race แล้วคณะกรรมการจึงนำผลการแข่งขันทั้ง 10 Race มารวมกัน เพื่อหาทีมชนะเลิศในสนามที่ 4 ต่อไป สามารถรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันอย่างใกล้ชิดได้ทางช่องยูทูบ “52 Super Series”

นับเป็นการสืบสานกีฬาเรือใบของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ อีกทั้งทรงส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจแก่นักกีฬาเรือใบรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนไทยให้ได้ฝึกฝนทักษะ และพัฒนาต่อยอดการเล่นเรือใบสู่ระดับสากลต่อไป ประชาชนชาวไทยต่างเฝ้ารอชื่นชมพระปรีชาสามารถของ “พระราชินีสุดสตรอง” ว่าจะทรงเผยพรสวรรค์ใดที่ซ่อนเร้นอยู่ เพื่อให้สมกับที่ทรงเป็นต้นแบบ “พระราชินียุคนิวนอร์มอล” ทั้งแข็งแกร่งและอบอุ่นอ่อนโยน.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่