เพื่อยกระดับผ้าไทยและงานหัตถกรรมต่างๆของไทยให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ในระดับสากล “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เสด็จไปทรงเป็นประธานในงานประชุมวิชาการ Symposium การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 จัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมทรงบรรยายในหัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” และทอดพระเนตรนิทรรศการ “การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่สากล ประจำปี 2567 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025)” ณ สเฟียร์ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์

ในโอกาสนี้ “สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทรงบรรยายในหัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2567” ร่วมกับ “กุลวิทย์ เลาสุขศรี” บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย และ “ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์” ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก โดยมีพระดำรัสถึงเนื้อหาในหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 5 ซึ่งเริ่มจากการขับเคลื่อนงานศิลปหัตถกรรมของไทยให้ดำรงอยู่ได้ในสังคมยุคใหม่ บนพื้นฐานทางวัฒนธรรม ชุมชน แล้วนำมาต่อยอด พัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนำไปใช้ได้อย่างยั่งยืน ตามเทรนด์ทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ Warm Embrace : โอบอ้อมอบอุ่น, Paradise Found : สวรรค์เขตร้อน, Silhouette of the Past : เงาแห่งอดีต และ Iridescent Dream : แพรวพราววาวฝัน ที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด รัก เคารพ และรู้สึก (Love, Respect, Sentiment)

“สำหรับองค์ความรู้การนำเสนอในหนังสือ “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025” เล่มนี้เป็นความยาก ความท้าทายของผู้ประกอบการในการสร้างสรรค์งาน เพราะมีแนวความคิดใหม่ ด้วยเทคนิคการผสมสี ทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง การออกแบบดีไซน์ต่างๆ สะท้อนความรัก 4 มิติ คือ รักตัวเอง, รักสิ่งแวดล้อม, รักในอดีต และรักในอนาคต หรือ Love, Respect, Sentiment เป็นหัวข้อหลักของการนำเสนอในเล่มนี้ รวมทั้งมีการเชื่อมต่อทางภูมิปัญญา หรือ Wisdom ซึ่งจะมีอยู่ในทุกๆเล่ม ตั้งแต่เล่มที่ 1–5 ซึ่งเป็นการกลับมาของภูมิปัญญา และการกลับมาทบทวนองค์ความรู้ใหม่ตลอดเวลา รวมทั้งมีการวางพื้นฐานวิถีการทอผ้า เทคนิคการย้อมสี เพื่อเป็นการตอกย้ำทั้งในเรื่องของเทคนิค และหลักการพื้นฐาน รวมถึงการสืบทอด โดยยังคงเทคนิคพื้นฐานของการทอผ้าไทย ทั้งมัดหมี่, ยกดอก, เกาะ หรือล้วง, บาติก, ขิด, จก รวมทั้งมี 4 เทคนิคตามฤดูกาล ได้แก่ ผ้าทอเกล็ดเต่า, ผ้าทอเกล็ดเต่าใหญ่, ผ้ายกลายราชวัตรโคม หรือลายราชวัตรดอกใหญ่ และผ้าขิดลายดอกจันทร์

...อย่างผ้าทอเกล็ดเต่า เป็นผ้าที่ท่านหญิงได้เห็นมาเมื่อครั้งโดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถือว่าเป็นผ้าไทยที่เมื่อได้เห็นและสัมผัสแล้วรู้สึกอยากนำมาทำเป็นเสื้อผ้า เพราะว่าสมัยที่ยังเป็นเด็กและวัยรุ่น มีความรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย ลวดลายมีความกราฟิกและดูเก๋ เข้ากับตัวเองได้ง่ายในสมัยนั้น ซึ่งผ้าลายเกล็ดเต่า ถ้าช่างทอที่ฝีมือดี เวลาสัมผัสเนื้อผ้าจะมีความเป็นสามมิติ ผู้ใหญ่ในยุคนั้นจะชอบนำผ้าเกล็ดเต่ามาตัดเป็นแจ็กเกต เพราะลวดลายดูเป็นสากล และสวยกำลังพอเหมาะ และนอกจากนำมาตัดเป็นเสื้อผ้า อีกอย่างที่ท่านหญิงนำผ้าลายเกล็ดเต่ามาลองใช้คือเฟอร์นิเจอร์ ลองนำมาเป็นปลอกหมอนต่างๆ หรือนำมาบุเบาะรองนั่ง, โซฟา และผ้าม่าน ซึ่งสวยงามมาก และทำให้บ้านดูน่ารักอบอุ่น และมีมิติมากขึ้น”

ด้าน “กุลวิทย์ เลาสุขศรี” เผยว่า เล่มนี้เราใช้อารมณ์ความรู้สึกมาเป็นตัวตั้งในการคิดค้นสูตรสำหรับเล่มที่ 5 เนื่องจากการทำหนังสือ “Thai Textiles Trend Book” ทั้ง 4 เล่มที่ผ่านมา ทำให้ได้พิสูจน์แล้วว่าศิลปินทอผ้าของเมืองไทยมีความสามารถในการที่จะทอผ้าได้ และผ้าหลายๆ ลายเป็นผ้าลายสร้างสรรค์ที่มีความสวยงาม และเป็นที่ยอมรับของสากล ถือได้ว่าเล่มที่ 5 นี้จะมีความท้าทายศิลปินช่างทอผ้าให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ภายใต้ 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ “Warm Embrace : โอบอ้อมอบอุ่น” ซึ่งความรักแรก คือความรักของครอบครัว ให้ความรู้สึกถึงความรัก ความสัมพันธ์ ความอบอุ่นที่ได้จากการสัมผัสการโอบกอด แสดงผ่านกลุ่มสีพาสเทล, “Paradise Found : สวรรค์เขตร้อน” ใช้กลุ่มสีที่ได้แรงบันดาลใจจากป่าฝนเขตร้อน ทั้งทวีปอเมริกา, แอฟริกา และเอเชีย รวมทั้งแมลงและนก, “Silhouette of the Past : เงาแห่งอดีต” ใช้กลุ่มสี เฉดสีเอิร์ธโทน เคลือบฝุ่น ให้ความรู้สึกถึงกาลเวลา ความทรงจำ ความสงบที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโบราณสถาน สถาปัตยกรรม และ “Iridescent Dream : แพรวพราววาวฝัน” ใช้กลุ่มสีเฉดที่ให้ความรู้สึกกระตุ้นสายตา ปลุกเร้าพลัง เติมความสนุก สดใส มีชีวิตชีวา สะท้อนการสร้างสรรค์ทางการมองเห็น

สำหรับ “ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์” ขยายความว่า มีการตอกย้ำอัตลักษณ์ของการทอผ้า ไม่ว่าจะเป็น มัดหมี่, ยกดอก, เกาะ หรือล้วง, บาติก, ขิด, จก ส่วนสีสันลวดลายได้รับอิทธิพลมาจาก “Thai Textiles Trend Book” เล่มที่ 1-4 โดยมี 4 เทคนิคน่าจับตาสำหรับฤดูกาลนี้ ประกอบด้วยผ้าที่มีลักษณะเป็นสมมาตร ได้แก่ ผ้าทอเกล็ดเต่า, ผ้าทอเกล็ดเต่าใหญ่, ผ้ายกลายราชวัตรโคม และผ้าขิดลายดอกจันทร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผ้าโบราณที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยโครงการใส่ผ้าไทยให้สนุกได้นำรูปแบบการใช้ Trend Book สอดแทรกเข้าไปเพื่อพัฒนาฝีมือของช่างทอผ้า ยกตัวอย่างเช่น ลายทอเกล็ดเต่าใหญ่ เป็นการขยายลวดลายของเกล็ดเต่าเล็กให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์และเสื้อผ้าที่ดูทันสมัย

สำหรับหนังสือ “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025” สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ประจำปี 2025 และนับเป็นเล่มที่ 5 ในหนังสือพระนิพนธ์ด้านเทรนด์และแฟชั่น สำหรับการถักทอผืนผ้าและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ที่มีแนวคิดว่าด้วยการ “เชื่อมต่อถักทอภูมิปัญญา : Threads of Wisdom” ถ่ายทอดการเชื่อมโยง สืบทอด และการผสมผสานของภูมิปัญญาไทย เพื่องานหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดย “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ได้พระราชทานแนวพระดำริภายใต้ 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ Warm Embrace : โอบอ้อมอบอุ่น, Paradise Found : สวรรค์เขตร้อน, Silhouette of the Past : เงาแห่งอดีต และ Iridescent Dream : แพรวพราววาวฝัน

หนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอแนวทางการสร้างสรรค์สิ่งทอสำหรับฤดูกาล นอกจากเทคนิคยอดนิยมของสิ่งทอไทย อาทิ มัดหมี่, ยกดอก, เกาะ หรือล้วง, ขิด และจก ยังแนะนำรูปแบบเทคนิคการทอที่น่าจะนำกลับมาตีความใหม่ เช่น ผ้าทอเกล็ดเต่าหลากหลายขนาด, ผ้ายกลายราชวัตรโคม/ดอกใหญ่ และเทคนิคผ้าขิดที่มีการตีความใหม่ ของกลุ่มหัตถกรรมทอผ้าขิดวัดโฆษาที่สอดคล้องกับกระแสแฟชั่นร่วมสมัย อีกความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนใน “Thai Textiles Trend Book” เล่ม 1-4 คือ การนำเสนอการผสมผสานเฉดสีสำหรับการใช้งาน (Colour Combination) ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านประยุกต์ใช้แนวคิดและองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น อันเป็นจุดประสงค์หลักของหนังสือเล่มนี้ สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้สนใจหนังสือ “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2025” สามารถดาวน์โหลดได้ทาง https://online.fliphtml5.com/rnqjs/tmaz/ 

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่