พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง 21 นัด ทอดพระเนตรภายในห้องสะพาน เดินเรือ ด้วยความสนพระทัย โดยมี ผบ.ทร.นำกำลังพล รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการเฝ้าฯรับเสด็จ และน้อมเกล้าฯ ถวายเรือหลวงช้าง (จำลอง)

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 พ.ค.พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับ รถยนต์พระที่นั่งเสด็จออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ พระลานพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร จากนั้นประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเสด็จฯไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมี พล.ร.ท.อาภา ชพานนท์ เสนาธิการกองเรือยุทธการ/นายทหารราชองครักษ์ในพระองค์ กราบบังคมทูลรายงาน นาย ธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสมบูรณ์ จิตรพัฒนากุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 2 พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 พล.ร.ต.อนันท์ สุราวรรณ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ พร้อมข้าราชการ เฝ้าฯรับเสด็จ

จากนั้นเสด็จเข้าห้องประทับรับรอง แล้วเสด็จฯไปยังรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จออกจากสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ไปยังท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อเสด็จฯถึง พล.ร.ต.ทรงศักดิ์ จุมปามัญ รองผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ นายทหารราชองครักษ์ในพระองค์ กราบ บังคมทูลรายงาน พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่า ราชการจังหวัดชลบุรี นายเอกราช สมัครไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี พล.ร.ท.ชยุต นาเวศภูติกร ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ พล.ต.ต.ธวัชเกียรติ จินดาควรสนอง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี เฝ้าฯรับเสด็จ และเมื่อเสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ประทับพระราช อาสน์ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล

ลำดับต่อมา พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้าฯถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รองศาสตราจารย์ วัชรีวรรณ ทองสะอาด ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ทูลเกล้าฯถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จากนั้น พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ กราบ บังคมทูลรายงานความเป็นมาในการต่อเรือหลวงช้าง และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง โดยเสด็จออกจากพลับพลาพิธี เสด็จขึ้นเรือหลวงช้าง บริเวณดาดฟ้าหลัก ขณะที่เสด็จขึ้นเรือ จนท.ทัศนสัญญาณเชิญธงมหาราชใหญ่ขึ้นสู่ยอดเสาเรือหลวงช้าง ทรงทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.ร.ต.อารยะ สิงหเสมานนท์ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ และ น.อ.ธีรสาร คงมั่น ผู้บังคับการเรือหลวงช้าง กราบบังคมทูล รายงาน และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ รับการถวายความเคารพยิงสลุตหลวง โดยทรงผินพระพักตร์ไปทางเรือหลวงปิ่นเกล้า 09 นาฬิกา ของทิศหัวเรือหลวงช้าง ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด จากนั้นเสด็จฯไปยังบริเวณหัวเรือ เรือหลวงช้าง ประทับยืน ณ พระสุจหนี่ บนแท่นพิธี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่แผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง แล้วทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือหลวงช้าง พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ จากนั้น เสด็จฯไปยังห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามา ภิไธย ในสมุดที่ระลึก แล้วเสด็จฯไปยังห้องโถงนายทหาร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้บัญชาการทหารเรือ เฝ้าฯน้อมเกล้าฯ ถวายเรือหลวงช้าง (จำลอง) ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ น้อมเกล้าฯ ถวายลองลูกปืนยิงสลุตหลวงนัดแรก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ทูลเกล้าฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้างแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ผู้บังคับการเรือหลวงช้างทูลเกล้าฯ ถวายพระมาลาปักชื่อเรือหลวงช้างแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้วเสด็จฯไปยังห้องสะพานเดินเรือ ทอดพระเนตรภายในห้องสะพานเดินเรือ ซึ่งเป็นห้องที่ใช้ในการควบคุม และบังคับเรือในการเดินทางปฏิบัติ ภารกิจ โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆที่ทันสมัยอย่างครบครัน เพื่อใช้ในการบังคับและอำนวยความสะดวกในการเดินเรือ แล้วเสด็จฯไปยังหัวเรือ ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด

ลำดับต่อมา เสด็จฯไปยังบันไดทางลงเรือทำความเคารพธงราชนาวีทางท้ายเรือ จนท.ทัศนสัญญาณ เชิญธงมหาราชใหญ่ลงจากยอดเสาเรือหลวงช้างแล้วเสด็จลงจากเรือหลวงช้าง ไปยังพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก เสด็จฯไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ สมควรแก่เวลาจึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯออกจากท่าเรือจุกเสม็ด ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือประทับ เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์พระลาน พระราชวังดุสิต แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สำหรับความเป็นมาของเรือหลวงช้าง หมายเลข 792 (HTMS Chang) เป็นเรือลำที่สองในเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ชุดเรือหลวงอ่างทอง และเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ที่สุด รวมถึงเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทย สังกัดกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ มีสัญญาณเรียกขานว่า HSXZ โดยจะมีภารกิจหลักเป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือดำนํ้าในอนาคตด้วย

เรือหลวงช้างได้รับการพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามชื่อของเกาะช้าง จ.ตราด กองทัพเรือไทยและทางการจีนได้ลงนามในสัญญาเพื่อต่อเรือหลวงช้าง เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 ซึ่งถือเป็นการผลิตและส่งออกเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LPD) ครั้งแรกของจีน โดยเรือหลวงช้าง ต่อโดย China Shipbuilding Trading ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งปรับปรุงจากเรืออู่ลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ 071 ใช้ระยะเวลาในการต่อ 4 ปี คือตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2562 ที่เริ่มเซ็นสัญญา และปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 กองทัพเรือไทยรับมอบเรือหลวงช้าง และนำเรือเข้าประจำการโดยที่ตัวเรือยังเป็นเพียงเรือเปล่า มีเพียงระบบนำร่องในการเดินเรือเท่านั้นที่ได้รับการติดตั้งมาจากทางอู่ต่อเรือ เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งกองทัพเรือมีแผนที่จะติดตั้งระบบอำนวยการรบ ระบบอาวุธ ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับต่างๆ และเรดาร์ทางทหารในภายหลัง โดยมีแผนจะคัดเลือกบริษัทมาดำเนินการติดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ภายใต้วงเงินประมาณ 950 ล้านบาท

เรือหลวงช้างมีความยาว 213 เมตร มีความกว้าง 28 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน มีความเร็วสูงสุด 25 นอต กินน้ำลึก 6.8-7 เมตร มีระยะในการปฏิบัติการไม่ต่ำกว่า 10,000 ไมล์ทะเล สามารถคงทนทะเลได้ถึงระดับ 6 (Sea State 6) ปฏิบัติการได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องส่งกำลังบำรุง 45 วัน ประกอบไปด้วยกำลังพลประจำเรือจำนวนทั้งสิ้น 196 นาย แบ่งเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร 26 นาย ชั้นประทวน 135 นาย และพลทหาร 35 นาย รองรับการบรรทุกกำลังรบสำหรับการปฏิบัติการยกพลขึ้นบกพร้อมกับอุปกรณ์ได้ 650 นาย พื้นที่ดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ทุกประเภทของกองทัพเรือ โดยมีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ 3 จุด พร้อมกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์อีก 2 ลำ

การบรรทุกกำลังพลสำหรับการยกพลขึ้นบก สามารถรองรับกำลังพลได้ 650 นาย พร้อมทั้งบรรทุกยานพาหนะ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 1 สามารถบรรทุกยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 9 คัน หรือบรรทุกรถถังหลัก (MBT) ได้ 11 คัน ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 2 สามารถบรรทุกยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 8 คัน หรือรถถังหลัก (MBT) ได้ 9 คัน และส่วนของอู่ลอยภายในเรือ สามารถบรรทุกเรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) ได้ 6 ลำ หรือเรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) ได้ 9 ลำ หรือยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 40-57 คัน หรือยานเบาะอากาศ (LCAC) ได้ 2 ลำ

เรือหลวงช้างได้รับการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จำนวน 11 ห้อง เป็นหอผู้ป่วย 3 ห้อง และส่วนสำหรับการรักษาด้านต่างๆ เช่น การเอกซเรย์ ทันตกรรม ศัลยกรรม ห้องแลป จำนวน 8 ห้อง ระบบอาวุธในเรือปัจจุบันยังไม่มีการติดตั้ง แต่มีแผนในการติดตั้งในอนาคต โดยสามารถรองรับการติดตั้งปืนใหญ่เรือขนาด 76 มิลลิเมตร จำนวน 1 แท่นยิง และระบบป้องกันระยะประชิดแบบปืนกล 6 ลำกล้องหมุนขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 4 แท่น

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่