แรกนาขวัญปีนี้พระโค (พอ-เพียง) เสี่ยงทายกินน้ำ หญ้า เหล้า ทำนายว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง พระยาแรกนาเสี่ยงทายผ้านุ่งได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ ผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ประชาชนแห่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไปเป็นสิริมงคลในการทำเกษตรและเพาะพันธุ์สำหรับการปลูกข้าวปีหน้า ชาวนาโคราชปลื้มคำทำนาย พระโคหวังขายข้าวได้ราคา
เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร ทั้งนี้เมื่อเวลา 08.32 น. วันที่ 10 พ.ค. พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนา ยาตราขบวนพร้อมด้วยเทพีคู่หาบทอง-เงิน ออกจากโรงพิธีพราหมณ์ โดยเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.ปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ น.ส.ภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.ธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร กับ น.ส.วราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร ส่วนพระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ-พระโคเพียง
เมื่อถึงหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาเฝ้าทูลละออง ธุลีพระบาท ถวายบังคม แล้วออกไปประกอบพิธีแรกนา เจ้าหน้าที่จูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาเจิมพระโคและคันไถแล้วจึงไถดะไปโดยรี 3 รอบ โดยขวาง 3 รอบ หว่านธัญพืช แล้วไถกลบอีก 3 รอบ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธี พราหมณ์เชิญของกินเสี่ยงทาย 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค การนี้พระยา แรกนาหยิบเสี่ยงทายผ้านุ่ง 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ส่วนการเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง พระโคกินน้ำและหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดม สมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้าพยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง จากนั้นนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กราบบังคมทูลเบิกผู้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วย
เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 16 ราย ดังนี้ อาชีพทำนา ได้แก่ นางทองเม็ด พรมพิทักษ์ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ อาชีพทำสวน ได้แก่ นายประดับ ปิ่นนาค อ.เมืองอุตรดิตถ์ อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายสุริยา ห่วงถวิล อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางอัญชัน สุขจันทร์ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นายพินิจ แก้วพิมาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสัมฤทธิ์ อินทร์เฉลียว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสุชาติ ปิยะศิรินนท์ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม
อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายณัฏฐชัย นาคเกษม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายธีรุตม์ อนวัชศิริวงศ์ อ.เมืองพะเยา อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางอวยพร ราชเล็ก อ.กงหรา จ.พัทลุง สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสนิท ดำบรรณ์ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายแล โพธิ์วัด อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ เรืออากาศตรีบัญชา เพ็ชรรักษ์ อ.เมืองสิงห์บุรี ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นายนพธิไกร จอมภาปิน อ.ลอง จ.แพร่ และสมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ ด.ญ.รัตนกานต์ นวลจันทร์ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2567 จำนวน 12 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร อ.สูงเม่น จ.แพร่ กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง พาราบ้านคำข่า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร กลุ่มเกษตรกร เลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไทย เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงพื้นบ้านไหนหนัง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุ่งรวงทอง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) อ.ลอง จ.แพร่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสามัคคีพันธุ์ข้าว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานม่วงเตี้ย
อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน อ.เถิน จ.ลำปาง ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโพธิ์เจริญ อ.เมืองชัยนาท และวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ อ.เมืองอำนาจเจริญ
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติปี 2567 จำนวน 7 สหกรณ์ ดังนี้ สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด อ.เอราวัณ จ.เลย สหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ได้แก่ สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท้ายวัดพญาปันแดน จำกัด อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขลำพูน จำกัด อ.เมืองลำพูน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคุรุสภา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จำกัด อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และสหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำกัด อ.เมืองนครศรีธรรมราช
เสร็จแล้วได้แห่พระยาแรกนาเป็นขบวนอิสริยยศ จากโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนาเข้าเฝ้า ทูลละอองธุลีพระบาท ถวายบังคมแล้วเข้าขบวนไปขึ้นรถยนต์หลวง ไปยังแปลงนาสาธิตสวนจิตรลดา หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บริเวณแปลงนาสาธิต สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2567 จากนั้นพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกทรงปลูกในฤดูนาปี 2566 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พันธุ์ข้าวนาสวน 6 สายพันธุ์ และพันธุ์ข้าวเหนียว 2 สายพันธุ์ น้ำหนักรวม 2,743 กิโลกรัม จัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้พสกนิกร ประชาชนผู้สนใจและชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตร
ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บรรดาเกษตรกรและประชาชนที่รออยู่รอบมณฑลพิธีพากันกรูเข้ามาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อนำไปเป็นขวัญกำลังใจในการเพาะปลูก และยังได้แย่งกันเก็บต้นไม้ อาทิ ดาวเรือง แพงพวย อ้อย กล้วย รวมทั้งสายสิญจน์ในมณฑลพิธีที่ถือเป็นของสิริมงคลอีกด้วย นางละออง มุ่งเกี้ยวกลาง ชาวนาวัย 77 ปี มาจาก อ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า ปีนี้ เป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมพระราชพิธีฯ ที่สนามหลวงได้เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวมงคล ไปเพาะพันธุ์ข้าวสำหรับฤดูทำนาในปีหน้า เพราะที่บ้านทำนาข้าวหอมมะลิ 8 ไร่ ตอนนี้เริ่มหว่านไถทำนากันแล้ว หวังว่าน้ำท่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ ราคาขายข้าวดีตามคำทำนายของพระโคเสี่ยงทาย
เช่นเดียวกับ ด.ญ.กัญญ์วรา พงษ์มาก วัย 11 ขวบ จาก อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เดินทางมาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวแรกนาขวัญกับครอบครัวเป็นปีที่สอง กล่าวว่า มาช่วยคุณแม่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวแรกนาขวัญไปเพาะกล้าปลูกข้าว ไว้กินเองในครอบครัว เพราะที่บ้านมีที่นาไม่มาก ข้าวที่ปลูกได้มีไว้แจกจ่ายสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น