ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงนำประสบการณ์จากการทรงงาน และทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านในแต่ละภาค เพื่อมาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย จนผลิดอกออกผลกลายเป็นที่มาของการพระราชทานลายผ้าพระราชทาน ตลอดจนพระราชทานแนวคิดเรื่อง “Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” อันเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ยาวไกล
ล่าสุดได้เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนภาคเหนือ ตามโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภูมิปัญญาชุมชนไทย ณ สวนซากุระ และสวน 80 สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หมู่ที่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย, “ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, “อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” อธิบดีกรมการปกครอง, “นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, “พิชัย คำเกิด” หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง, “ธนนนท์ นิรามิษ” ภริยารองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ “ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชน เฝ้าฯรับเสด็จอย่างใกล้ชิด
เมื่อเสด็จเข้าสู่บริเวณนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคเหนือ ได้มีกลุ่มผู้เฝ้าฯรับเสด็จขอพระราชทานคำแนะนำ จำนวน 20 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Pawana Design จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่ม JaoJiang-จาวเจียง จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มศิญดา ผ้าทอ (SIYADA) จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่ม Ninechaidee (นายใจดี) จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่, วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มหัตถกรรมบ้านโป่งน้ำร้อนเมืองงาม จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มบัวคำผ้าไทย จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มขรินทร์ ผ้าฝ้ายใยกัญชง จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มสตรีทอผ้า ศรีดอนชัย จังหวัดเชียงราย, กลุ่มปักผ้าด้วยมือบ้านสันกอง จังหวัดเชียงราย, กลุ่มผ้าเขียนเทียน บ้านห้วยหาน จังหวัดเชียงราย, กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านทุ่งพร้าว จังหวัดเชียงราย, กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงแคววัวดำ จังหวัดเชียงราย, กลุ่มจันทร์ศรีฝ้ายทอ จังหวัดลำพูน, กลุ่มผ้าทอมือบ้านห้วยปิง จังหวัดลำพูน, กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านผาด่าน จังหวัดลำพูน, แต้มตะกอ (กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ) จังหวัดอุทัยธานี, กลุ่มคราฟท์ สตูดิโอ (แบรนด์จินจำ) จังหวัดพะเยา, กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชาวเขา-ปียาสิลา จังหวัดเพชรบูรณ์ และกลุ่มศิลปาชีพ ได้แก่ สมาชิกชนเผ่าลาหู่ จังหวัดลำปาง, สมาชิกชนเผ่าลีซู จังหวัดเชียงใหม่, สมาชิกชนเผ่าลาหู่ จังหวัดเชียงใหม่, สมาชิกชนเผ่าดาราอั้ง จังหวัดเชียงใหม่, สมาชิกชนเผ่ากะเหรี่ยง จังหวัดเชียงใหม่, สมาชิกชนเผ่ากะเหรี่ยง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, สมาชิกชนเผ่าม้ง จังหวัดเชียงราย,สมาชิกชนเผ่าอาข่า จังหวัดพะเยา, สมาชิกชนเผ่าเมียน จังหวัดพะเยา, สมาชิกชนเผ่าอาข่า จังหวัดเชียงราย, ครูเซรามิก ศูนย์ศิลปาชีพฯ บ้านแม่ต่ำ จังหวัดลำปาง และครูเซรามิก ศูนย์ศิลปาชีพฯ บ้านทุ่งจี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งทุกกลุ่มใช้สีและวัตถุดิบมาจากธรรมชาติตามแนวพระดำริแฟชั่นยั่งยืน อันเป็นการลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยผลงานทุกชิ้นมีตราสัญลักษณ์ Sustainable Fashion ที่ทรงออกแบบและพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปมอบให้ทุกกลุ่มที่ดำเนินการพัฒนาผลงานตามพระดำริ และภายหลังจากทรงมีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำเสร็จสิ้นแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชุดฟ้อนถิ้งบ้อง โดยนักเรียนโรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ จึงเสด็จกลับ
ตลอดทั้งวัน “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา” โปรดให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการออกแบบ, ตัดเย็บ, ถักทอ และด้านสีธรรมชาติ เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่กลุ่มทอผ้าและสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผืนผ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีรายได้ในการดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน.