“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงเป็นดั่งแสงสว่างบนเส้นทางแห่งการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทย ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ในการดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” โดยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ “สมเด็จย่า” ทรงอุทิศทุ่มเทพระวรกายเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทย ทรงฟื้นคืนชีวิตภูมิปัญญาผ้าและหัตถศิลป์ไทยให้กลายเป็นต้นทุนทางภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพ ทรงสนับสนุนการสร้างอาชีพเสริมยามว่างจากฤดูการเกษตร ส่งเสริมการถักทอผืนผ้าและสร้างสรรค์งานหัตถกรรม นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” สนพระทัยงานด้านศิลปาชีพฯมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์โดยเสด็จ “สมเด็จย่า” ไปทรงเยี่ยมและพระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนทอผ้าที่ถักทอด้วยฝีมือของชาวนาชาวไร่ ด้วยพระปณิธานอันยิ่งใหญ่ในการส่งเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มทอผ้าในทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งนี้ ได้พระราชทานแนวพระดำริในการพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยและได้มาตรฐานระดับสากล โดยทรงชักชวนนักออกแบบแถวหน้าระดับประเทศ มาระดมความคิดและมอบคำแนะนำให้แก่ผู้ประกอบการด้านผ้าไทย ในการเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบ อีกทั้งทรงสนับสนุนการฟื้นคืนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อให้ช่างทอผ้ามีธนาคารเส้นใย ทรงสนับสนุนให้ย้อมสีเส้นใยและผืนผ้าด้วยสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้สวมใส่

จากการเสด็จไปทอดพระเนตรผลงานของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองในทุกภูมิภาคของประเทศไทย พระองค์ได้พระราชทานโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส สนับสนุนให้ประชาชนชาวไทยได้สวมใส่ผ้าไทยกันอย่างแพร่หลาย เริ่มต้นด้วยการพัฒนาลายผ้าที่ต่อยอดจากลวดลายพื้นถิ่นอย่างร่วมสมัย เสริมด้วยการจับคู่สีที่ทันสมัยและเป็นแฟชั่น พร้อมพระราชทานคำแนะนำทางด้านการฝึกอบรม ช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่

ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการผ้าไทยคือ ผ้าลายพระราชทานเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่ผ่านการศึกษาค้นคว้าลวดลายผ้าโบราณจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบผสมผสานเกิดเป็นลวดลายผืนผ้าต้นแบบที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ ทุกองค์ประกอบของลวดลายล้วนเปี่ยมไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง เริ่มตั้งแต่ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ผ้าบาติกลายปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ผ้าบาติกลายป่าแดนใต้ ผ้าบาติกลายท้องทะเลไทย ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และล่าสุด ผ้าลายดอกรักราชกัญญา พระองค์ได้พระราชทานผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย “ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” เพื่อส่งมอบให้แก่ช่างทอผ้า ทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นักออกแบบ นักศึกษา และเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการจุดประกายในการสร้างสรรค์แรงบันดาลใจ นำไปต่อยอดได้อย่างไม่จำกัดรูปแบบ เกิดผลลัพธ์เป็นผ้าลายพระราชทานรูปแบบที่หลากหลายสุดวิจิตร ยกระดับวงการผ้าไทยด้วยมูลค่าเพิ่มของผืนผ้า สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน ชุบชีวิตต่อลมหายใจของช่างทอผ้าให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีเกียรติ และมีความภาคภูมิใจในตนเอง ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในการเข้ามาสืบสานงานที่บรรพบุรุษและชุมชนได้สร้างสรรค์เป็นมรดกอันล้ำค่าฝากไว้ให้แผ่นดิน

พระอัจฉริยภาพอันโดดเด่นยังแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด เมื่อพระองค์ได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 1-4 โดยมีพระปณิธานที่จะอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมให้มีความร่วมสมัย ทรงค้นคว้าองค์ความรู้และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักศึกษา และประชาชนชาวไทยที่มีหัวใจรักผ้าไทย ตลอดจนอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น ศิลปะ และการออกแบบ นำไปใช้เป็นข้อมูลในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างกว้างขวาง มีการนำเสนอเรื่องราวเบื้องหลังของกลุ่มสีที่เป็นเทรนด์ปัจจุบันของโลก และผืนผ้าที่ผ่านการคัดสรรด้วยพระองค์เอง ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการสร้างสรรค์ผืนผ้า ยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าระดับสากล

ทุกครั้งทุกคราที่เสด็จไปทรงเยี่ยมและพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า ทรงชักชวนนักออกแบบแถวหน้าของประเทศ คณะที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คณะผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง มาร่วมบูรณาการองค์ความรู้เป็นการเฉพาะ มอบคำปรึกษาให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า เพื่อยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน เทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชันผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใยที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย และการสร้างแบรนด์ในระดับสากล ส่งผลดีแก่ผู้ประกอบการ ช่างทอ ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีความร่วมสมัย ตรงใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นับได้ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงสนองพระราชปณิธานใน “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ในเรื่องของการต่อยอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองทางด้านปลูกฝ้าย การปลูกต้นหม่อน การเลี้ยงหนอนไหม ปลูกพืชพรรณที่ให้สีธรรมชาติ พระราชทานคำแนะนำโดยทรงนำอุปสงค์ความต้องการสวมใส่ผ้าไทยมากระตุ้นในส่วนของอุปทาน เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัย สามารถสวมใส่ผ้าไทยได้ในทุกโอกาส ด้วยแนวพระดำริที่ว่า หากคนทุกเพศทุกวัยจะสวมใส่ผ้าไทยได้ ควรมีการออกแบบที่ดีมากระตุ้นให้ช่างทอผ้าได้เรียนรู้ว่า ความต้องการจะเพิ่มขึ้น ถ้าทอผ้าตัดชุดให้ได้ตรงกับความต้องการ โดยนำลวดลายดั้งเดิมของบรรพบุรุษ มาผสมผสานให้มีความร่วมสมัย สอดคล้องกับเทรนด์ระดับสากล ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสความนิยมการสวมใส่ผ้าไทยอย่างแพร่หลาย ในทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และสามารถต่อยอดเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้แก่งานศิลปหัตถกรรมไทยในเชิงธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง

พระองค์ยังทรงเป็นต้นแบบของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในเรื่องของการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทย ทรงนำผ้าทอมือจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มาออกแบบตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ที่มีความร่วมสมัย และทรงสวมใส่ในหลากหลายวาระโอกาส ด้วยแนวพระดำริที่จะกระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ร่วมสมัยแก่วงการผ้าไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพนี้ จึงทรงได้รับการถวายรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ)

น้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ไม่เพียงแต่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ยังส่งผลให้ประเทศชาติเกิดความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม ความมั่นคงทางสังคมและชุมชน ตลอดจนสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ นับเป็นการแบ่งเบาพระราชภารกิจใน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” สนองพระราชภารกิจในการตามรอยเบื้องพระยุคลบาท และบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พสกนิกรชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง.

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่