ด้วยพระปณิธานในการสืบสานและต่อยอดการอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จเปิดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา
ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทย ให้กับผู้ประกอบการ OTOP และสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรมในพื้นที่ภาคใต้กว่า 50 กลุ่ม จาก 14 จังหวัดภาคใต้เพื่อยกระดับ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทรนด์สีสัน เทรนด์แฟชั่นผ้าไทย การออกแบบคอลเลกชันผ้าไทย การเลือกใช้เส้นใย ที่มีคุณภาพ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผ้าไทย
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ผลิต ที่เคยมีพระวินิจฉัยให้ปรับเปลี่ยน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กลุ่มผู้ผลิต โดยทรงนำประสบการณ์จากการทรงงาน ทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง นำมาประยุกต์ให้เป็นงานออกแบบที่นำสมัย รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Branding) มาช่วยยกระดับคุณภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์
พร้อมทั้งพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เนื่องในโอกาสเสด็จมาทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดพัทลุง แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เพื่อนำไปมอบแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิค และเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มุ่งมั่นสืบสาน ต่อยอดภูมิปัญญา และงานหัตถศิลป์พื้นถิ่นให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทย โดยได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้ แล้วทรงนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจ ซึ่งผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” แบ่งออกเป็นประเภทผ้าบาติก ผ้ามัดหมี่ และผ้ายก
นอกจากนี้ ได้พระราชทานผ้าบาติก ลายที่ 4 ซึ่งโปรดให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี 2503 และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบผสมผสาน “ลายดอกรักราชกัญญา” ร่วมกับลายดั้งเดิม ที่ใช้ลวดลายดอกไม้นานาชนิด เพื่อให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล.