“ในหลวง-พระราชินี” โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรและสังฆทานถวายคณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในพิธีนวัคคหายุสมธัมม์ เฉลิมพระเกียรติและถวายพระพร “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ”

วันที่ 16 ธ.ค. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรและสังฆทานถวายในการที่คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยพระเดชพระคุณพระพรหมวัชราจารย์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานพิธีฝ่ายฆราวาส ร่วมกันจัดพิธีเจริญนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัยแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในโอกาสที่ทรงพระประชวร

นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิธีเจริญนวัคคหายุสมธัมม์ในครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภารได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการสวดมนต์หรือการเจริญพระพุทธมนต์มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตรายจากโรคภัยต่างๆ และทำให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อผู้สวดมนต์สวดด้วยความเคารพศรัทธาพร้อมกับแผ่เมตตาและทำใจให้สงบเป็นสมาธิก็จะทำให้พระปริตรนั้นมีพลังและอานุภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมการศาสนายังได้ประสานไปยังองค์การทางศาสนา ร่วมกันจัดพิธีทางศาสนาถวายพระพรแด่พระองค์ ณ ศาสนสถานตามธรรมบัญญัติของแต่ละศาสนาอีกด้วย

สำหรับการสวดพระปริตรหรือพระพุทธมนต์นี้อันเกี่ยวเนื่องกับหลักโหราศาสตร์ที่เรียกว่า ดาวนพเคราะห์ประจำวันทั้ง 9 คือ วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ วันราหู (วันพุธกลางคืน) และวันที่สมมติอีก 1 วัน ที่มีนามว่าพระเกตุ ทำหน้าที่คุ้มครองบุคคลที่ไม่ทราบวันเกิด ซึ่งหลักคัมภีร์ทางโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า ในวันทั้งเจ็ดมีเทวดาคุ้มครองเกี่ยวข้องด้วยกำเนิดมนุษย์ อันอาจส่งผลให้เกิดคุณเกิดโทษ ทำให้เกิดทุกข์โศก โรคภัย หรือทำให้เกิดความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และอายุยืนยาวหรือสั้นได้ ตามโบราณประเพณีเมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือมีอายุครบปีนักษัตรหรือรอบปีที่เป็นวาระสำคัญๆ ควรที่จะมีการบำเพ็ญกุศลครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ปราศจากโรคาพยาธิ มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นเครื่องหมายคนดีตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา.