“...คนเราทุกคน ย่อมปรารถนาความสุขความเจริญ ความสุขความเจริญของแต่ละบุคคล กับความสุขความเจริญของชาติบ้านเมืองนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หากเกิดปัญหาอุปสรรค หรือโรคภัยไข้เจ็บใดๆเข้ามาแผ้วพาน เราทุกคนย่อมจะต้องร่วมมือกัน ด้วยความรัก สามัคคี ความอดทน และความเข้าใจปัญหา จะพาให้เราผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลาย ทั้งนี้ความสำเร็จ เกิดจากการที่เรามิได้เพียงแต่คำนึงถึงความสุขความเจริญของแต่ละบุคคล แต่ยังคำนึงถึงความสุขความเจริญของบ้านเมือง เราจึงสามารถร่วมมือกันผ่านพ้นอุปสรรคและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานาได้อย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี...” พระราชดำรัสดังกล่าวของ “พระบาทสมเด็จพระวชิร เกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2564 สะท้อนได้ดีถึงน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ที่ทรงห่วงใยในสุขภาพพลานามัยและความกินดีอยู่สุขของพสกนิกรชาวไทย
โดยหนึ่งในพระราชภารกิจเร่งด่วนคือ พระราชทานพระบรมราโชบายในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย พร้อมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อจะได้พระราชทานความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากวิกฤติโควิด-19
ด้วยทรงคาดการณ์ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะไม่จบลงในเร็ววัน จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมแล้วกว่า 2,848,739,775 บาท โดยแบ่งเป็นความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข 47.97% คิดเป็นจำนวนเงิน 1,366,586,348 บาท รองลงมาคือความช่วยเหลือด้านการศึกษา 21.87% คิดเป็นจำนวนเงิน 623,085,205 บาท ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ตามมาด้วยความช่วยเหลือในโครงการราชทัณฑ์ปันสุข 16.88% คิดเป็นจำนวนเงิน 480,958,269 บาท, ถุงพระ ราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค 8.87% คิดเป็นจำนวนเงิน 252,645,056 บาท และโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ 3.15% คิดเป็นจำนวนเงิน 89,720,326 บาท นอกจากนี้ยังพระราชทานที่ดินในพระปรมาภิไธย ไปแล้วกว่า 4,854 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
ตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก เมื่อต้นปี 2563 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้เร่งจัดหา “เครื่องช่วยหายใจ” อย่างทั่วถึง ภายใต้โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน โดยโปรดให้ประสานความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตจากสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเครื่องช่วยหายใจกำลังขาดแคลนอย่างหนัก และเป็นที่ต้องการอย่างมากของชาวโลก ขณะเดียวกัน ยังมีพระราชดำริให้สร้างห้องตรวจหาเชื้อแบบเหมาะสมกับพื้นที่ โดยโปรดให้บริษัทเอสซีจีดำเนินการสร้าง “ห้องตรวจหาเชื้อพระราชทาน Modular Swab Unit” ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเสริมความพร้อมหากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ๆ อีกทั้งยังพระราชทาน “รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบเชิงรุก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการค้นหาผู้ป่วย ณ จุดที่มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที นอกจากนี้ได้พระราชทาน “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” สำหรับใช้งานคู่กับ “รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย” เปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ พร้อมติดตั้งเครื่องมือที่จำเป็นไว้ภายในรถ ด้วยสมรรถนะที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษ ทำให้ทราบผลของการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 3 ชั่วโมง สามารถตรวจได้ 800-1,000 ตัวอย่างต่อวัน ช่วยค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งยังพระราชทาน “รถ X-ray Digital mobile” เป็นรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลคันแรกในประเทศไทย ที่มีระบบ AI สามารถส่งข้อมูลของผู้ป่วยผ่านสัญญาณ 5G เพื่อให้แพทย์ทำการวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยด้วยจอมอนิเตอร์ ช่วยลดการสูญเสียผู้ป่วยที่ติดเชื้อลงปอดได้อย่างมีนัยสำคัญ
ไม่เพียงเท่านี้ ได้พระราชทาน “เครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่” เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลสนาม อีกทั้งพระราชทาน “ห้องความดันลบ” และ “ห้องความดันลบแบบเคลื่อนที่” ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับใช้แยกผู้ป่วยติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากในห้องสู่บริเวณภายนอก โดยห้องความดันลบเคลื่อนที่สามารถนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนามได้ด้วย เพื่อรับสถานการณ์คนไข้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหนัก พร้อมทั้งพระราชทาน “ชุดป้องกันเชื้อโรค PPE” และ “ชุดป้องกันเชื้อโรค PAPR” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้สวมใส่ป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงานดูแลคนไข้โควิด-19 และป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในห้องผ่าตัดและห้องไอซียู ตลอดจนได้พระราชทาน “รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน” เพื่อใช้ในการกู้ชีพช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในพื้นที่ทุรกันดารที่เข้าถึงได้ยาก ภายในรถติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารระบบ 4G ทำให้สามารถส่งข้อมูลให้แพทย์ทำการวิเคราะห์ได้อย่างทันท่วงที ระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล
เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าการแพร่ระบาดในพื้นที่เรือนจำอาจจะยับยั้งได้ยาก ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 10 จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ผ่าน “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” สำหรับนำไปป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดในเรือนจำทั่วประเทศ อีกทั้งเพิ่มศักย ภาพในการรักษาผู้ต้องขังให้กับโรง พยาบาลในสังกัดกรมราชทัณฑ์ ขณะเดียวกัน ก็มีพระราชดำริให้จัดทำ “ถุงยังชีพพระราชทาน” พระราชทานแก่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่นับรวมถึง “โรงครัวพระราชทาน” ซึ่งเกิดขึ้นจากความห่วงใยในสุขอนามัยของประชาชน โปรดให้มีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานขึ้น โดยมุ่งเน้นอาหารปรุงสุกสะอาดสดใหม่ และคำนึงถึงหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ ที่สำคัญจะต้องมีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย ที่ช่วยบำรุงร่างกายและต่อต้านโควิด-19 เพื่อนำไปแจกจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
ด้วยทรงห่วงใยในสุขภาพพลานามัยของประชาชนชาวไทย และเล็งเห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประชาชนหลากหลายอาชีพ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ได้พระราชทาน “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19” และโปรดเกล้าฯใช้พื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 30 ฟาร์ม ในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารที่ปลอดภัย แหล่งสร้างรายได้ และแหล่งสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ตกงานในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ใหญ่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้น้อมนำความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อช่วยจ้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนในยามวิกฤติ
นับเป็นสายธารแห่งพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ