พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาชาญทางด้านแฟชั่นของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” คือจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูอนุรักษ์ผ้าไทยและชุดไทยประจำชาติ จนก่อเกิดเป็นโครงการหลวงต่างๆ ที่ช่วยให้สมบัติล้ำค่าของประเทศยังคงเป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ
เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” จึงทรงส่งเสริมฟื้นฟูผ้าไทยและชุดไทยอย่างจริงจัง โดยทรงเป็นต้นแบบในการใช้ “ชุดไทยพระราชนิยม” ในพระราชวโรกาสต่างๆอย่างสร้างสรรค์ ทรงทำทุกวิถีทางเพื่ออนุรักษ์งานหัตถศิลป์อันล้ำค่าของชาติ ด้วยทรงตระหนักรู้ถึงคุณค่าของความเป็นไทย อันเป็นมรดกที่สืบทอดมาแต่ครั้งโบราณกาล
“...ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดช พระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรม ราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดังที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี...” พระราชดำรัสดังกล่าวของ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว
นอกจาก “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” จะทรงเลือกฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยมได้อย่างสง่างามเหมาะกับพระราชวโรกาสต่างๆ ยังทรงเป็น ผู้นำเทรนด์แฟชั่น “กระเป๋าทรงถือสไตล์รักษ์โลก” ซึ่งตัดเย็บจากเศษผ้าไหมที่เหลือจากการตัดฉลองพระองค์ ทรงออกแบบเพื่อใช้สอยสำหรับการเสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจในแต่ละวโรกาส เพื่อเป็นการลดปริมาณสิ่งของที่เหลือจากการตัดฉลองพระองค์ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการจัดการสิ่งของเหลือใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้ทักษะด้านการออกแบบทางศิลปะมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือเป็นพระราชนิยมที่มาจากแนวคิด “Zero Waste” ต่อยอดสู่การใช้พลัง “ซอฟต์ เพาเวอร์” เพื่อทำให้ชื่อเสียงของผ้าไทยและงานหัตถศิลป์ไทยขจรขจายไปทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหมปักซอยไหมน้อย ลายรวงข้าว, ผ้าไหมปักซอยไหมน้อย ลายกอบัว, ผ้าไหมปักซอยไหมน้อย ลายดอกเล็บมือนาง, ผ้าจกไหม ลายข้าวหลามตัด, ผ้าขิดสลับหมี่ ลายกาบแก้วบัวบาน, ผ้าไหมมัดหมี่ ลายหมี่วงอุ้มโคม, ผ้าภูษาไหมยกดอก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์, ผ้าภูษาไหมยกดอก ลายดอกดาวเรืองถมเกสร, ผ้าไหมแพรวาลายเกาะ และผ้าไทภูเขาชนเผ่าม้ง ก็ล้วนแต่ได้รับการชุบชีวิตให้กลับมาโลดแล่นเป็นที่ประจักษ์ในความงดงามอีกครั้ง
อีกหนึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นของ “สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” คือทรงนิยม “พัดด้ามจิ้วเขียนลาย” ทำจากไม้และผ้าปักลวดลายแสนประณีตบรรจง ปลุกกระแสนิยมสร้างความคึกคักให้ผลิตผลจากฝีมือลูกหลานชาวไร่ชาวนา ที่วางจำหน่ายอยู่ในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
อาจกล่าวได้ว่า ทรงเป็นต้นแบบของ “พระราชินียุคนิวนอร์มอล” ผู้ซึ่งพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์อันท้าทายและความผันแปรไม่แน่นอนของโลกยุคใหม่ เหนืออื่นใดยังทรงรู้จักใช้พลัง “ซอฟต์ เพาเวอร์” ได้อย่างชาญฉลาดยิ่ง เพื่อทำให้ชื่อเสียงของผ้าไทยและงานหัตถศิลป์ไทยขจรขจายไปทั่วโลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ยิ่งนานวัน “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ยิ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ให้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ทรงเกื้อหนุนและแบ่งเบาพระราชภารกิจอันหนักอึ้งขององค์พระมหากษัตริย์ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานแผ่นดิน เพื่อเสริมสร้างความสุขแก่ปวงประชา โดยหนึ่งในพระราชภารกิจเร่งด่วนที่ได้รับมอบหมายคือ การติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อพระราชทานความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสร้าย
ด้วยทรงห่วงใยในสุขภาพพลานามัยของประชาชนชาวไทย และเล็งเห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประชาชนหลากหลายอาชีพ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ได้พระราชทาน “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด—19” และโปรดเกล้าฯให้ใช้พื้นที่ในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 30 ฟาร์ม ในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารที่ปลอดภัย แหล่งสร้างรายได้ และแหล่งสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ตกงานในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ใหญ่ โดยโปรดเกล้าฯให้น้อมนำความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อช่วยจ้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชน
“เราสามารถทำเศรษฐกิจพอเพียงแล้วเรามีอาหารทาน มีรายได้จากผลผลิตที่เราปลูก ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี และเราไม่ต้องลำบาก ทำให้เรามีงาน มีรายได้ตลอดไป อยากให้ช่วยขยายความรู้นี้ให้กับคนรุ่นถัดๆไป จะได้รู้สึกรักบ้าน และอยากอยู่ถิ่นฐานที่บ้านของตัวเอง สามารถประกอบอาชีพและมีรายได้ ขอส่งกำลังใจให้นะคะ เพราะก็อยากจะช่วยให้ทุกคนมีรายได้ในช่วงโควิด”...พระราชดำรัสดังกล่าวของ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” ที่พระราชทานแก่ประชาชนผู้มาเฝ้าฯรับเสด็จ และสมาชิกโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19 ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดสกลนคร แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยที่ทรงห่วงใยปวงชนชาวไทย
ภายใต้บุคลิกสง่างามองอาจเข้มแข็ง โลกพลันสว่างไสวด้วยรอยแย้มพระสรวลอบอุ่นจริงใจขององค์ราชินี ทรงมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความแข็งแกร่งและอ่อนโยนตามแบบฉบับ “พระราชินียุคใหม่” อย่างแท้จริง.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ