ด้วยพระปณิธานในการให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรี สวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการในปีงบประมาณ 2565 และพิจารณาแผนการดำเนินงานโครงการ
ในปีงบประมาณ 2565 โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโครงการที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย และทรงห่วงใยในสุขภาพของคนไทย ตลอดจนสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัดไร้ที่พึ่ง โดยทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนมาก ภายหลังที่ได้ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ามีจำนวนลดลงอย่างมาก สอดคล้องกับจำนวนสัตว์ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าที่ลดลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวพระนโยบายและการกำกับติดตามขององค์ประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ
ปัจจุบันการดำเนินโครงการอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 ถึง 2568 มีเป้าหมายเพื่อปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในการขจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ในปี 2564 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้วจำนวน 4 ราย และด้วยข้อจำกัดในการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและทำหมันในสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัยของประชาชน ที่ประชุมจึงมีมติให้ทุกฝ่ายเร่งรัดการดำเนินงานในแต่ละยุทธศาสตร์ เมื่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย โดยปรับรูปแบบการปฏิบัติงานต่างๆให้เหมาะสม คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในภาคสนาม
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 จำนวนทั้งสิ้น 72 โครงการ ภายใต้ 8 ยุทธศาสตร์ และมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกันใน 4 ประเด็นคือ 1.การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 2.การบริหารจัดการประชากรสัตว์เลี้ยงทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ 3.การส่งเสริมให้ภาคเอกชนและสังคม มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และ 4.การแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวชายแดน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน.