ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทส.เปิดเผยว่า ขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหา ภัยแล้ง 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤติภัยแล้ง ประกอบด้วย

1.พื้นที่ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

2.พื้นที่ ต.ดงเค็ง อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น

3.พื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี (จุดที่ 1)

4.พื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี (จุดที่ 2)

5.พื้นที่ ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

6.พื้นที่ ต.บางแก้ว อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา

7.พื้นที่ ต.หนองงูเหลือม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม

8.พื้นที่ ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

9.พื้นที่ ต.พยุห์ อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ

10.พื้นที่ ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จ.นครพนม

11.พื้นที่ ต.โพธิ์ตาก และต.นาทราย อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม

12.พื้นที่ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์

13.พื้นที่ ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน

14.พื้นที่ ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

15.พื้นที่ ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวอีกว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับ “โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ แก้ปัญหาภัยแล้ง” ไว้เป็น “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤติภัยแล้ง โดยที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ออกแบบ และวางแผนจัดทำโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการก่อสร้างระบบประปาบาดาลในบริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพน้ำบาดาลที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำอุปโภคบริโภค ประกอบกับการยินยอมของราษฎรให้ใช้พื้นที่สำหรับดำเนินงานโครงการ และความพร้อมในการรับมอบเป็นผู้ดูแลระบบหลังดำเนินการ แล้วเสร็จ โดยการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้เกิดการ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน เมื่อดำเนินการโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ จะทำให้มีน้ำต้นทุนสำหรับทำระบบประปาหมู่บ้านได้อย่างเพียงพอและมั่นคง สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งในด้านการอุปโภคบริโภค และเป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับเกษตรกรรม