21 ตุลาคม 2443 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ของปวงชนชาวไทย
เป็นพระบรมราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐม รามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 และ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหา
ราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ ทั้งเป็นพระอัยยิกา พระบาท สมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหา วชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระราชมารดาที่ประเสริฐสุด โดยทรงอภิบาลอบรมพระราชธิดาและพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ ด้วยพระองค์เองอย่างดีเยี่ยมทั้งด้านพระราชจริยวัตร การศึกษา การอบรมขัดเกลาพระกิริยาอัธยาศัย ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในกิจการทุกเรื่องจนพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของพสกนิกรชาวไทย
พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพ สร้างคุณูปการแผ่ไพศาลต่อแผ่นดินไทย ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในระหว่างเสด็จฯเยือน มิตรประเทศ อีกทั้งทรงแบ่งเบาพระราชภาระด้วยการดูแลเอาใจใส่ออกเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรในชนบทอย่างต่อเนื่อง ทรงสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่การสาธารณสุข ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกร ทอดพระเนตรความทุกขเวทนาของราษฎรยามเจ็บไข้ได้ป่วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก พระราชทานนามว่า “แพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี” มีอักษรย่อว่า “พอ.สว.”
พร้อมกันนี้ทรงให้การพัฒนาอาชีพเพื่อการกินดีอยู่ดีของราษฎร โดยทรงมุ่งให้ลดละเลิกการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอย จนสามารถคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นที่มาของโครงการพัฒนาดอยตุง และชาวไทยภูเขาพร้อมใจถวายพระสมัญญาว่า “แม่ฟ้าหลวง” ขณะที่ด้านศาสนา ทรงสนับสนุนการศึกษาสงฆ์และการปฏิบัติ ธรรมอย่างกว้างขวาง
อีกพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง คือ ทรงพระเมตตาในการจัดจำหน่ายดอกป๊อปปี้ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เนื่องในวันทหาร ผ่านศึกทุกปี ทั้งทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สงเคราะห์ช่วยเหลือทหารผ่านศึก และครอบครัว และผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยและความมั่นคงต่อประเทศ ตลอดจนทหารนอกประจำการ
แม้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 ทรงมีพระอาการประชวร และประทับพักฟื้นพระวรกาย ณ โรงพยาบาลศิริราช ได้มี พระกรุณาพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะแพทย์และพยาบาลที่ถวายการรักษา ตลอดจนราชองครักษ์ ข้าราชบริพาร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับซื้อดอกป๊อปปี้ ณ ที่ประทับ
และในช่วงเช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2537 เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลา 100 ปี และบริเวณ พระบรมรูป สมเด็จ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงนำดอกป๊อปปี้จำหน่ายให้ประชาชน ในการนี้ถือเป็นพระราชกรณียกิจครั้งสุดท้าย
เมื่อทรงหายจากพระอาการประชวร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระ บรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระ กนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับ สมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯกลับไปประทับ ณ วังสระปทุม เป็นภาพที่สถิตแห่งความทรงจำครั้งสุดท้ายของชาวไทยที่ได้ชื่นชมพระบารมี ยังความปลาบปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้ จนกระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรม ราชชนนี เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา
เนื่องในวาระครบรอบ 120 ปี วันคล้ายวัน พระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรม ราชชนนี 21 ตุลาคม 2563 รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม จะจัดนิทรรศการ “ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคมนี้ ที่ Icon Art & Culture Space ชั้น 8 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
กิจกรรมจะจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ ประกอบด้วย ส่วนแรกจุดน้อมรำลึก “ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” มีการประดับดอกไม้ที่นำมาจากโครงการพัฒนาดอยตุงอย่างวิจิตรงดงาม ส่วนที่ 2 การแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ผ่านโครงการ พอ.สว. และมูลนิธิถันยรักษ์ ด้านการศึกษา ที่ทรงอุปถัมภ์สนับสนุนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตลอดจนมีพระราชดำรัสในการเสด็จฯไปในสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้ ได้นำเสนอ ถึงต้นไม้ดอกไม้ทรงโปรด งานอดิเรก และงานประดิษฐ์ของสมเด็จย่า
ส่วนที่ 3 การสาธิตและการประดิษฐ์ของที่ระลึกตามรอยสมเด็จย่า ได้แก่ การ์ดจากดอกไม้แห้ง และการปักผ้าครอสติช ส่วนที่ 4 การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม โดยกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ฟ้อนรำไหว้สาแม่ฟ้าหลวง รำอาข่าโบราณและร่วมสมัย ฟ้อนไต่เก่า และจากสมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน อาทิ การบรรเลงดนตรีไทย การแสดงเชิดหุ่นตอนจับนาง นาฏศิลป์พื้นบ้าน ชุดเก็บใบชา ฟ้อนล้านนา ภูไทเรณู ฟ้อนขันดอก ฟ้อนที ระบำเปี้ยว รำวรเชษฐ์
และ ส่วนสุดท้าย นำเสนอวิถีชีวิตของชนเผ่าที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งอาข่า ไทใหญ่ ลาหู่ และมีการสาธิตงานหัตถกรรม เช่น การปักผ้า การชงชา การจำหน่ายของที่ระลึก
พระจริยวัตรที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระกรุณาธิคุณสุดเหลือคณานับ “สมเด็จย่า” จึงทรงเป็นที่รักใคร่เลื่อมใสศรัทธาและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พสกนิกรทั้งแผ่นดิน
“แม่ฟ้าหลวง” ที่สถิตในดวงใจของปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์.
ทีมข่าววัฒนธรรม