70 ปีแห่งการครองแผ่นดิน “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงทำอย่างเดียวคือ ทรงทำเพื่อประชาชนคนไทยทั้งปวง จะมีพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลก ที่พระบาทเปื้อนฝุ่นโคลนตมเพื่อคนไทยได้ถึงเพียงนี้...“ที่อยู่ของข้าพเจ้าคือที่ที่อยู่ท่ามกลางประชาชนคนไทยทั้งมวล” ไม่เคยมีวันใดที่ว่างเว้นจากการทรงงาน และไม่เคยมีวันใดที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขของคนไทย เพราะนี่คือความสุขแท้จริงของพ่อแห่งแผ่นดิน

นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจมากมายนับไม่ถ้วน และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ ที่ทรงริเริ่มไว้เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชา ซึ่งก่อให้เกิดผลอันเป็นคุณอนันต์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง ยังทรงเป็น “ต้นแบบแห่งความดีงามทั้งปวง” โดยหนึ่งในของขวัญแห่งชีวิตแทนคำพ่อสอน ที่ฝากไว้เป็นมรดกแห่งแผ่นดิน ให้ประชาชนคนไทยได้เจริญรอยตามเพื่อเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตในทุกยุคทุกสมัยก็คือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมานานหลายสิบปีแล้ว โดยมีพระราชดำริเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2517 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า

“คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองล้าสมัยว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทํางานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ประเทศต่างๆในโลกนี้กําลังตก กําลังแย่ กําลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวดทั้งในอํานาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่าน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดและมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความเห็นเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัติจากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดเวลา...และขอเติมว่าถ้าทําทั้งหมดก็จะทําไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่ง หรือแม้หมู่บ้านหนึ่งทําเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์-เซ็นต์ ก็จะเป็นการถอยหลังถึงสมัยหิน สมัยคนอยู่ในอุโมงค์ หรือในถ้ำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยหมู่บ้านอื่น เพราะว่าหมู่อื่นก็เป็นศัตรูทั้งนั้น ตีกัน ไม่ใช่ร่วมมือกัน จึงต้องทําเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละคนต้องหาที่อยู่ ก็หาอุโมงค์หาถ้ำ ต้องหาอาหาร คือไปเด็ดผลไม้ หรือใบไม้ ตามที่มี หรือไปใช้อาวุธที่ได้สร้างได้ประดิษฐ์เอง ไปล่าสัตว์ กลุ่มที่อยู่ในอุโมงค์ในถ้ำนั้นก็มีเศรษฐกิจพอเพียง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ปฏิบัติได้”

พระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เมื่อประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจรุนแรง ในปี 2540 ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึงประชาชนในชนบท กดดันให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในห้วงวิกฤติดังกล่าว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเน้นย้ำถึงแนว ทางการดำเนินชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยพึ่งตนเองเป็นหลัก พร้อมส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีความรักใคร่สามัคคีกัน และสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข

ทรงย้ำอีกครั้งระหว่างที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆเข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อปี 2540 ว่า “การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สําคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า อุ้มชูตัวเองไว้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง” ขณะเดียวกัน ยังมีพระราชดําริว่า “ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้จะไม่ถึงครึ่ง อาจจะเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะ สามารถที่จะอยู่ได้”

กว่าคนไทยทั้งประเทศจะเข้าใจถึงความหมายแท้จริงของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็เมื่อรัฐบาลได้อัญเชิญแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (ปี 2545-2549) และฉบับที่ 10 (ปี 2550-2554) นอกจากนั้น แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ด้วย

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงชี้ทางสว่างให้คนไทยมานานแล้ว โดยทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างอันดีงามเสมอมา ภาพของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก ใช้ชีวิตสมถะ และใกล้ชิดราษฎร ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ และกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ประชาชนชาวไทยลุกขึ้นทำความดี เพื่อเดินตามรอยพ่อแห่งแผ่นดิน พ่อผู้เสีย สละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อความผาสุกของปวงประชา

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงชีวิตเพื่อให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง ทำได้ทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว, ชุมชน จนถึงภาครัฐ เมื่อทุกคนมีความสุขมีความพอดี และมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อนั้นประเทศชาติบ้านเมืองของเราก็จะสงบสุขร่มเย็น อีกทั้งคนไทยจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความโลภ และสามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวของโลกยุคใหม่.

ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ