ในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 คนไทยและชาวต่างชาติ มีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จ ชื่นชมพระบารมี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งเป็นการต่อเนื่องจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในการเสด็จพระราช ดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ที่ประชาชนได้สัมผัสไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562

“ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค” และ “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” ถือว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่ง “ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่สืบทอดตามแบบโบราณราชประเพณีควบคู่สังคมไทยมายาวนาน...

ตามที่ก่อนนี้มีการแถลงข่าว การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พุทธศักราช 2562 ที่กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้ข้อมูลว่า ตามโบราณราชประเพณี นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามแบบโบราณราชประเพณีให้ถูกต้อง ที่ทำกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็น 3 ตอน หรือ 3 ช่วงเวลา...

ช่วงแรก...การเตรียมน้ำอภิเษก และน้ำสรงพระมุรธาภิเษก เพื่อนำมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามความหมายของคำว่า “อภิเษก” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “การรดอันยิ่ง” ใช้แต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งเป็นธรรมเนียมอินเดีย ต้องเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก “ปัญจมหานที” คือ แม่น้ำใหญ่ 5 สาย

มีในประเทศอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมหิ แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ที่ใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เสมอมา แต่ด้วยการเดินทางนี้ลำบาก บางครั้งต้องตุนเก็บน้ำไว้...ถึงเวลาใช้ก็เบิกมาประกอบพระราชพิธีฯ

ช่วงหลังนี้มีการอนุโลมแม่น้ำ 5 สายในประเทศไทยขึ้นแทนเรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” ถูกใช้ประกอบพระราชพิธีฯหลายครั้ง และน้ำสำคัญใน 76 จังหวัด มีพิธีเสกน้ำพุทธมนต์ ที่วัดสุทัศนเทพวราราม

ช่วงที่สอง...พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4-6 พ.ค. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย อาทิ การถวายน้ำสรงพระมุรธาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรณบัฏ พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์

ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เบื้องปลาย คือ เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ตามโบราณราชประเพณี หมายถึง การชมเมือง และเป็นโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี...สมัยโบราณ มี 2 ทาง คือ เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางน้ำ)

เมื่อสมัยก่อน...การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สามารถจัดขึ้นในคราวเดียวต่อเนื่อง แต่ระยะหลังบางครั้งอาจไม่สะดวกในการจัดเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครพร้อมกันได้ต่อเนื่อง...

โดยเฉพาะทางชลมารค ไม่อาจดำเนินการได้ทันที เพราะต้องมีการดูถึงในเรื่องสภาพกระแสน้ำ สภาพท้องฟ้าและอากาศ...

อีกทั้งมีเรื่องเรือถูกจอดนิ่งนาน อาจเสื่อมสภาพ ผุพังตามกาลเวลา ต้องซ่อมแซมปรับปรุงให้สมบูรณ์ และยังต้องฝึกซ้อมฝีพายใช้เวลานาน ทำให้การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ต้องเว้นระยะห่างออกเป็น 2 ช่วง

ปัจจุบันมีการขยายเป็นช่วงที่สาม...ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

หากย้อนในสมัยรัชกาลที่ 4 สมัยรัชกาลที่ 5 สมัยรัชกาลที่ 6 และสมัยรัชกาลที่ 7 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มาตลอด เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพิธีบรมราชาภิเษก

กระทั่งปี 2493 สมัยรัชกาลที่ 9 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในครั้งนั้นมีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค แต่งดในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพราะพระองค์เสด็จฯไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ต่อมา...ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัตประเทศไทย และประทับเป็นการถาวร ทรงฟื้นฟูขบวนพยุหยาตราทางชลมารค แต่ไม่ใช่การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ที่เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เพราะเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือการแสดงสาธิตรับแขกบ้านแขกเมือง และการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ

“แสดงให้เห็นว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2468 สมัยรัชกาลที่ 7 และไม่เคยมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกแต่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งมีระยะห่างกันนานกว่า 94 ปี...” วิษณุ ว่า

“พยุหยาตรา” มีความหมายว่า เดินทางเป็น “กระบวน” ที่ต้องจัดเป็นริ้ว แถว ที่มีความสง่างาม ในการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า “พยุหยาตราทางสถลมารค” และยังมีการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ที่เรียกว่า “พยุหยาตราทางชลมารค” เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน ที่ถูกออกแบบเป็น 2 แบบ คือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) และขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) ที่มีการกำหนดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 7

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค (ใหญ่) จัดรูปขบวนเรือพระราชพิธีฯ 52 ลํา แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง สายละ 11 ลำ และเรือแซง สายละ 3 ลำ

แถวถัดมา “ริ้วสายใน” ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วยเรือเอกไชย-เหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก

“ริ้วสายกลาง” ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญที่สุด ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ คือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

และมีเรืออีเหลือง เป็นเรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมกับเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจ ซึ่งขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เริ่มจากท่าวาสุกรี ถึงท่าราชวรดิฐ ระยะทาง 3.5 กม. ใช้เวลาประมาณ 1.15 ชั่วโมง

ตลอดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเคลื่อนขบวนจะมีการเห่เรือประกอบด้วย กองทัพเรือ ได้ให้ น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย ศิลปินแห่งชาติ ประพันธ์บทเห่เรือขึ้นใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยบทเห่เรือทั้งหมด 3 องก์ คือ บทสรรเสริญพระบารมี (บทใหม่) บทชมเมืองและบทชมวัง

ประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถร่วมเฝ้าฯรับเสด็จชื่นชมพระบารมีและความงดงามของขบวนเรือ ในพระราชพิธีฯอันยิ่งใหญ่ ตลอดเส้นทางที่ขบวนเสด็จฯผ่าน ที่นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่สืบทอดตามแบบโบราณราชประเพณีครั้งนี้...

ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 นี้ จะถูกถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ ความสง่างาม และความสมบูรณ์ที่สุด...ออกสู่สายตาคนทั้งโลก...