พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสายพระโลหิตจากพระบรมราชวงศ์ศิลปินอย่างแท้จริง เนื่องแต่องค์พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ล้วนทรงเป็นศิลปินอันเอกอุตม์ ไม่ว่าจะเป็น “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช” ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์เป็นวรรณศิลป์ชั้นเลิศประดับวงการวรรณคดีไทย ด้าน “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ทรงเป็นนักแกะสลักและจินตกวี โดยภาพแกะสลักบานประตูวัดสุทัศนเทพวรารามสะท้อนได้ดีถึงพระอัจฉริยภาพ ขณะที่ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ก็ทรงได้รับการยกย่องในพระปรีชาสามารถด้านกวีโวหารและร้อยแก้ว โดยมีบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี 12 เดือน เป็นยอดของความเรียงอธิบาย หากกล่าวถึง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ย่อมจะต้องนึกถึงพระราชนิพนธ์บทละคร และพระปรีชาสามารถในด้านการแสดงละคร เฉกเช่นเดียวกับ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” ทรงเป็นศิลปินผู้เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพรอบด้าน ทั้งด้านการวาดภาพ, ถ่ายภาพ, วรรณศิลป์ โดยทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงทรงคุณค่ามากมายไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน

สำหรับ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” โปรดการ ปั้น, การแกะสลัก และการวาดภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงหัดโขนตั้งแต่พระชันษา 5-6 ชันษา และทรงเล่นโขนเป็นตัวละคร “ทศกัณฐ์” ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และยังทรงพระนิพนธ์ ร้อยแก้ว ตลอดจนแสดงพระปรีชาสามารถในด้าน ศิลปะและกวีนิพนธ์

ในหนังสือ “สี่เจ้าฟ้า” ถ่ายทอดถึงพระปรีชาสามารถในวัยเยาว์ว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 10 โปรดการเขียนภาพตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยสมเด็จพระ บรมชนกนาถจะทรงสอนให้ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงหัดเขียนภาพสีน้ำมัน ทรงปั้นรูปรถยนต์เรือรบได้เหมือนของจริงมาก โดยทรงหัดเขียนรูปสีน้ำมัน ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องใช้จากสมเด็จพระบรมชนกนาถ พร้อมแบ่งประทานให้มหาดเล็กได้เขียนด้วย ขณะทรงพระเยาว์โปรดการเขียนภาพวิวเป็นพิเศษ ในตอนบ่ายหลังเลิกเรียน มักทรงชวนมหาดเล็กถีบรถจักรยานไปเลือกมุมใดมุมหนึ่งของสวนจิตรลดา แล้วประทับเขียนภาพอย่างตั้งพระทัย แต่ภาพที่ทรงเขียนกลับเป็นภาพเรือรบจอดในทะเล และภูเขาในหมอก แทนที่จะเป็นภาพทิวทัศน์ภายในสวนจิตรลดา พอเริ่มทรงพระอักษรได้ก็โปรดเขียนการ์ตูนแล้ว พระอัจฉริยภาพด้านการวาดภาพปรากฏเด่นชัดอีกครั้ง เมื่อพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์การ์ตูนมาจัดทำเป็นบัตรอำนวยพร (ส.ค.ส.) ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ต่อเนื่องมาทุกปีนับตั้งแต่ปี 2560 สร้างความปลื้มปีติยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ

แม้จะทรงแบกรับพระราชภารกิจอันหนักอึ้ง และทรงองอาจเข้มแข็งในแบบทหาร แต่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” ก็โปรดการผ่อนคลายพระราชหฤทัยด้วยการวาดภาพ และทรงบทกวีนิพนธ์ อีกทั้งทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยให้วงดนตรีไทยส่วนพระองค์บรรเลงถวายด้วย น้อยคนนักจะทราบว่า ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 10 โปรดเพลงไทยเดิมแท้ๆอย่าง ลาวดวงเดือน, สร้อยแสงแดง, ลาวเจริญศรี และลาวครวญ ทรงขอให้สมเด็จพระ บรมราชชนนีร้องเพลง “ลาวดวงเดือน” ให้ฟังเสมอ ขณะเดียวกัน ก็ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นองค์สยามมกุฎ ราชกุมาร พระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงแซกโซโฟนกับสมเด็จพระบรม ชนกนาถ “ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9” ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้กลายเป็นภาพประทับใจที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพวกเราคนไทยตราบนานเท่านาน.

ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ