พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถหลากหลายด้าน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา พระราชทานกิจกรรมมากมาย เพื่อทำนุบำรุงสุขให้แก่ราษฎรของพระองค์ ทรงห่วงใยเรื่องความเจ็บป่วยและปรารถนาให้พสกนิกรของพระองค์มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมาโดยตลอด
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
ในปี 2519 สมัย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ได้มีการสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับประชาชน มีการบริจาคเงินและที่ดินสร้างโรงพยาบาล น้อมเกล้าฯถวายแด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) นับเป็นโรงพยาบาลที่มีความสำคัญต่อพสกนิกรไทย เนื่องจากสร้างในท้องถิ่นห่างไกล ทุรกันดาร ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ โดยมีการสร้างโรงพยาบาลทั้งสิ้น 21 แห่ง
พระมหากรุณาธิคุณของ “ในหลวง รัชกาลที่ 10” ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ด้านสุขภาพไม่ได้มีเพียงการพระราชทานพระราชานุญาตให้สร้างโรงพยาบาลเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพสกนิกรเท่านั้น พระองค์ยังมีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ และเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลแต่ละแห่งด้วยพระองค์เอง อย่างน้อยแห่งละ 3 ครั้ง คือ วางศิลาฤกษ์ เปิดโรงพยาบาล และเยี่ยมโรงพยาบาล ด้วยพระองค์เองไม่ว่าพื้นที่ที่ทำการสร้างจะทุรกันดารหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆจะยังเข้าไม่ถึง ทรงไม่คำนึงถึงความยากลำบาก
พระองค์ทรงรักโรงพยาบาลและมีความห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก ได้พระราชทานข้าวสารให้โรงพยาบาลทั้ง 21 แห่ง เพื่อให้นำไปประกอบอาหารแจกจ่ายบุคลากรและประชาชนในพื้นที่โดยไม่มีใครทราบมาก่อน ด้วยพระเมตตาของพระองค์ท่าน ทำให้บุคลากรของโรงพยาบาลทุกคนร่วมช่วยกันพัฒนาทำนุบำรุงรักษาโรงพยาบาล ดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลได้พัฒนาไปมากกว่างบประมาณที่ได้รับ ทั้งยังถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีความหมายต่อประชาชนเพราะดำเนินการโดยอาศัยวิธีการคิดเพื่อประชาชน การประสานผลประโยชน์ระหว่างท้องถิ่นและโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมอย่างเต็มที่ ตามพระราชปณิธาน
พระเมตตาจาก “ในหลวง รัชกาลที่ 10” ทำให้พสกนิกรไทยที่อยู่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีมีคุณภาพ ภายใต้คุณภาพมาตรฐานและการดูแลที่ดี ส่งผลให้พสกนิกรไทยที่อยู่ในพื้นที่ตั้งของโรงพยาบาลทั้ง 21 แห่ง และบริเวณโดยรอบ มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ได้รับการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
ทรงห่วงใยการศึกษาของชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และการพัฒนาการศึกษาของเยาวชน มีพระราชประสงค์ที่จะกระจายการจัดการศึกษาไปในถิ่นทุรกันดาร โดยตั้งพระราชปณิธานว่าการศึกษาจะมีส่วนให้เยาวชนของชาติมีพื้นฐานความรู้ที่จะนำไปดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2522 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายโกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักนนทบุรี รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 7 ล้านบาท นำไปเป็นทุนก่อสร้างโรงเรียนกรมสามัญศึกษา จำนวน 6 โรงเรียน โดยทรงกำหนดจังหวัดที่เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนด้วยพระองค์เอง ประกอบด้วย โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 นครพนม โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 กำแพงเพชร โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 สุราษฎร์ธานี โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1 อุดรธานี โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 สงขลา โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3 ฉะเชิงเทรา พร้อมกับพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ ม.ว.ก. อัญเชิญขึ้นประดับ ณ อาคารเรียนทั้ง 6 แห่ง
นอกจากโรงเรียนเหล่านี้แล้วก็ยังมีโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ อาทิ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ สมุทรสงคราม โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ ปทุมธานี โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ฯ สมุทรสาคร โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย ระยอง โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ นนทบุรี โรงเรียนราชปิโยรสา ยุพราชานุสรณ์ น่าน เป็นต้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาของเยาวชน
Bike for Mom & Dad
“ในหลวง รัชกาลที่ 10” ยังพระราชทานกิจกรรมให้ประชาชนทั้งประเทศได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความรักที่มีต่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวง รัชกาลที่ 9” และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ เสริมสร้างสุขภาพของประชาชน ในการออกกำลังกาย และมีน้ำใจนักกีฬาผ่านการทรงจักรยานพระที่นั่งร่วมกับพสกนิกรอย่างใกล้ชิด
วันที่ 16 ส.ค.2558 ประวัติศาสตร์ไทยและกินเนสส์ เวิลด์ เรกคอร์ด หรือกินเนสส์บุ๊ก ได้บันทึกสถิติโลกในวันที่พระองค์ทรงจักรยานพระที่นั่งพร้อมพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา นำขบวนข้าราชการ และประชาชนทั่วประเทศ ในกิจกรรม Bike for Mom หรือ “ปั่นเพื่อแม่” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมปั่นมากที่สุดในโลกถึง 136,411 คน
Bike for Mom เป็นกิจกรรมตามพระราชปณิธาน เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีแด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 ส.ค.2558
กิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ทำให้ท้องถนนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กลายเป็นถนนสายสีฟ้าตามสีเสื้อที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันสวมใส่ แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เสียง “ทรงพระเจริญ” ดังขึ้นตลอดระยะทางที่จักรยานพระที่นั่งเคลื่อนผ่านพสกนิกร ที่รอเฝ้าฯรับเสด็จสองฝั่งถนน ตั้งแต่พระลานพระราชวังดุสิต ยังกรมทหารราบที่ 11 ย้อนกลับมาที่พระลานพระราชวังดุสิต รวมระยะทาง 43 กิโลเมตร
ต่อเนื่องปีเดียวกัน วันที่ 11 ธ.ค.2558 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงจักรยานพระที่นั่งนำประชาชนทั่วประเทศปั่นจักรยาน ในกิจกรรม Bike for Dad หรือปั่นเพื่อพ่อ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธ.ค.2558 ในครั้งนี้ ทรงจักรยานพระที่นั่งพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ จากพระลานพระราชวังดุสิต ผ่านเส้นทางย่านเยาวราช วงเวียนใหญ่ กลับมาที่จุดเดิม ระยะทาง 29 กิโลเมตร ถนนทุกเส้นกลายเป็นสีเหลืองจากสีเสื้อของประชาชนที่ร่วมกันสวมใส่เพื่อแสดงความจงรักภักดี
ทรงมุ่งมั่นให้ประชาชนชาวไทยรวมพลังความสามัคคี แสดงความ จงรักภักดีแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านกิจกรรมการปั่นจักรยาน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 83 พรรษา 12 ส.ค.2558 ที่ประชาชนชาวไทยรวมพลังปั่นจักรยานพร้อมกันทั่วประเทศจนเป็นที่ประจักษ์ สามารถสร้างสถิติโลกจากการที่มีประชาชนร่วมกันปั่นในรูปแบบขบวนพาเหรดมากที่สุดในโลกดังได้กล่าวไว้แล้ว
อุ่นไอรักคลายความหนาว
นอกจากจะทรงพระปรีชาสามารถในด้านกีฬา ยังพระราชทานกิจกรรมเพื่อทำนุบำรุงสุขให้แก่ราษฎร ให้คนไทยให้ความสำคัญกับครอบครัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หน่วยราชการในพระองค์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ที่พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ 8 ก.พ.-11 มี.ค.2561 เพื่อพระราชทานความสุขให้ประชาชน และเผยแพร่ความงดงามของความเป็นไทย
ภายในงานอบอวลไปด้วยสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 เผยแพร่พระราชกรณียกิจต่างๆ มีการเนรมิตดอกไม้บานสะพรั่ง ทำให้ประชาชนได้มีความสุข ความรื่นเริง และรำลึกถึงวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 5 และสวมผ้าไทยมาร่วมงาน ด้วยความรักที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ต่อมาระหว่างวันที่ 9 ธ.ค.2561-19 ม.ค.2562 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ขึ้นอีกครั้ง ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดราชปะแตน เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน ที่พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์ จากนั้นทรงจักรยานไปยังสวนสุขภาพลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ระยะทางไป-กลับ 39 กม. มีผู้ร่วมขบวนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในทุกจังหวัดพร้อมใจปั่นไปในเส้นทางที่กำหนดอย่างพร้อมเพรียง
จิตอาสาเพื่อสังคมไทย
“โครงการจิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เป็นอีก 1 โครงการที่มี พระราชประสงค์ให้คนไทยร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ ทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโครงการจิตอาสาฯ ขุดลอกคูคลองกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำความสะอาด และปรับภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณประโยชน์ รอบพระราชวังดุสิต ระหว่างวันที่ 21-27 มิ.ย.2560
จิตอาสาทุกคนได้รับสิ่งของพระราชทาน 3 อย่าง คือ หมวกแก๊ปสีฟ้า ผ้าพันคอสีเหลือง และสมุดบันทึกความดี ตลอด 7 วัน ความร่วมมือระหว่าง หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ หน่วยราชการในเขตพื้นที่ ประชาชนจิตอาสาที่มาจากทุกสารทิศ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ พลิกฟื้นสิ่งแวดล้อมให้กลับมาสะอาดอีกครั้ง
ทรงให้จัดโครงการสัปดาห์จิตอาสา ระหว่าง 28 ก.ค.-3 ส.ค.2560 ควบคู่ไปกับโครงการจิตอาสาช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-5 ธ.ค.2560 มีขอบเขตพื้นที่ปฏิบัติงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม รวมถึงโครงการจิตอาสาช่วงที่ 2 ระหว่าง 5 ธ.ค. 2560-28 ก.ค.2561 และช่วงที่ 3 ระหว่าง 28 ก.ค.-5 ธ.ค.2561 ให้ดำเนินกิจกรรมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ครัวพระราชทานดับความทุกข์
“โรงครัวพระราชทาน” เป็นอีกหนึ่งในน้ำพระราชหฤทัยที่พระราชทานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติในทุกพื้นที่ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อให้มีอาหารการกินในยามเดือดร้อนอย่างทันท่วงที กรมพลาธิการทหารบกจะเป็นหน่วยที่นำรถครัวสนามลงไปในพื้นที่ประสบภัย ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จะบริหารจัดการในภาพรวม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดหาวัตถุดิบปรุงแจกจ่ายผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
“ครัวพระราชทาน” ที่พระราชทานบรรเทาทุกข์ สร้างความปลื้มปีติ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุด อาทิ เหตุการณ์เด็กชายซูลุยผิว หนูน้อยชาวเมียนมา วัย 2 ขวบ 1 เดือน หายไปอย่างไร้ร่องรอย บริเวณไร่อ้อยทางเข้าหมู่บ้านที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค.2561 ทีมค้นหาได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการจัดตั้งครัวพระราชทาน ทำอาหารเลี้ยงจนกว่าภารกิจจะสิ้นสุด
รวมทั้งเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร ในเดือน พ.ย.2561 น้ำท่วม 5 อำเภอ จ.ตรัง เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2561 พายุ “ปาบึก” ถล่ม 14 จังหวัดภาคใต้ เริ่มพัดเข้า จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2562 พายุฤดูร้อนพัดถล่ม จ.อุดรธานี เมื่อ 26 ก.พ.2562 มีประชาชนใน 16 ตำบล 3 อำเภอ เดือดร้อนกว่า 1 พันหลังคาเรือน และแผ่นดินไหวในเขตพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2562
หนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่สร้างความประทับใจในพระเมตตา คือการ ค้นหาทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ติดอยู่ในวนอุทยานถ้ำหลวง–ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ช่วงวันที่ 23 มิ.ย.–10 ก.ค.2561
พระองค์ทรงติดตามการช่วยเหลือทั้งโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต และพระราชทานกำลังใจ สิ่งของต่างๆ ให้กับทีมช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รับสั่งผ่านราชเลขาธิการส่วนพระองค์ ให้ดูแลทุกอย่างดีที่สุด ทั้งครอบครัว ญาติ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ของผู้พลัดหลง และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีแผนการดำเนินการที่รัดกุม
โดยทรงให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน กองทัพภาคที่ 3 ได้นำรถปรุงอาหารเคลื่อนที่ 4 คัน ตั้งเป็นโรงครัวในพื้นที่ตั้งแต่วันแรกที่ปฏิบัติภารกิจการค้นหา ปรุงอาหารได้ถึงวันละ 4,000 ชุด แจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน รวมทั้งสื่อมวลชนที่เกาะติดสถานการณ์การค้นหา ทำให้ทุกคนมีกำลังกาย กำลังใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง นำมาซึ่งความสมานสามัคคีและความเข้มแข็ง
พระราชกรณียกิจมากมายที่พระราชทานแก่พสกนิกร ตลอดจนการปฏิบัติงานถวายด้วยหัวใจและความพร้อมเพรียงของคนไทย ได้ปรากฏภาพความรักความสามัคคีเผยแพร่ไปทั่วโลก
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ