"ศิลป์ทุกแขนงถือได้ว่าเป็นอาหารใจของชาวโลก... ศิลปะ หรืองานของศิลปิน เป็นการสร้างสรรค์เพื่อมนุษยชาติ เป็นเครื่องจรรโลงเลี้ยงโลกให้ดำรงคงอยู่ได้...ศิลปะเป็นสิ่งที่สัมผัสรับรู้ได้ด้วยอินทรีย์ทั้งหก หรืออายตนะทั้งหก ได้แก่ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ซึ่งมีลักษณะการรับรู้ต่างกันไป เมื่อรับรู้แล้วก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น ความรัก, ความเกลียด, ความรู้สึกว่าไพเราะ, ความสวยงาม, ความน่ากลัว, ความขยะแขยง, ความตลกขบขัน, ความสงบเงียบ เป็นเรื่องของศิลปะทั้งหมด ศิลปะไม่จำเป็นจะต้องงดงามอย่างเดียว ศิลปะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกน่าเกลียดน่ากลัวอย่างยิ่งก็เป็นศิลปะ...” ข้อความนี้สะท้อนได้ดีถึงความละเอียดอ่อนและความสนพระราชหฤทัยด้านศิลปะอย่างลึกซึ้งของ “สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ผู้ทรงใช้ศิลปะจรรโลงใจปวงชนชาวไทยมาตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ไม่ว่าใครได้ชมผลงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งงานวาดเส้น, จิตรกรรม, ภาพล้อ, ภาพพิมพ์, งานออกแบบ, ภาพประกอบบทกวี ย่อมซาบซึ้งถึงพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพในความเป็นศิลปิน อาจกล่าวได้ว่าศิลปะทุกแขนงอยู่ในชีวิตประจำวันของพระองค์ ทรงดนตรีและทรงพระอักษรด้วยใจรัก ขณะเดียวกัน ก็ทรงวาดภาพเพื่อผ่อนคลายพระราชภารกิจ ทรงวาดภาพลายเส้นเพื่อบันทึกภาพโบราณสถานและวิวทิวทัศน์ที่ได้ทอดพระเนตร ทรงวาดภาพล้อด้วยพระอารมณ์ขัน และทรงวาดภาพในวาระสำคัญๆเพื่อทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จ พระราชชนนี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดการวาดภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระบรม ชนกนาถ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร”, สมเด็จพระอัยกา “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” และสมเด็จพระอัยยิกา “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ที่ทรงรักศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ
“เห็นพี่ๆวาดก็อยากวาดบ้าง” นี่คือจุดเริ่มต้นที่เอื้ออำนวยให้เกิดความงอกงามด้านศิลปะ โดยภาพวาดฝีพระหัตถ์รุ่นแรกๆสมัยที่ทรงพระเยาว์มีเหลืออยู่ไม่กี่ภาพ ภาพเก่าที่สุดเห็นจะเป็น “ภาพต้นหางนกยูง” และ “ภาพแจกันสีม่วง” ซึ่งทรงวาดไว้ขณะพระชนมายุ 8 พรรษา โดยต้นหางนกยูงที่ทรงวาดนั้น ทรงดูแบบจากต้นหางนกยูงในโรงเรียนจิตรลดา ส่วนแจกันสีม่วงทรงได้แรงบันดาลใจจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ขณะที่ทูลหม่อมพ่อทรงวาดภาพสีน้ำมัน ได้ขอพระราชทานสีเหลือๆมาวาดเป็นผลงานภาพแจกันสีม่วงปักดอกไม้สีเหลือง ทรงเล่าว่า “ระหว่างที่ทรงวาดภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสอนเรื่องสี เรื่องแสงเงาบ้าง” ขณะทรงพระเยาว์โปรดภาพแบบแอบสแตรกต์ เพราะทรงใกล้ชิดกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งโปรดวาดภาพแนวนามธรรมมากกว่าภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ
ย้อนกลับไปในวันวาน ทรงเริ่มต้นการวาดรูปตั้งแต่เข้าศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษาเศษ...“เราเขียนรูปด้วยสีเทียน ผู้สอนคือครูสุนามัน (ท่านผู้หญิงสุนามัน ประนิช) ครูประจำชั้นตลอดกาล จะวาดรูปอะไรบ้างนั้นลืมไปหมดแล้ว ที่ติดตาอยู่นั้นก็คือ เกิดแฟชั่นในการเอาสีสีเดียวระบายสมุดวาดเขียนทั้งหน้า ใครเป็นผู้ริเริ่มแฟชั่นนี้ หรือมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปก็จำไม่ได้”
ต่อมาเมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษา ทรงศึกษาวิชาศิลปะกับครูชาวญี่ปุ่น “ครูเทรุโอะ โยมูระ” ทรงเล่าย้อนรำลึกความหลังในพระราชนิพนธ์ “การฝีมือๆคือพลัง” ว่า “ชั้นประถมก็มีวิชาศิลปศึกษา อาทิตย์ละ 2 ชั่วโมง ของครูโยมูระ และหัตถศึกษาของครูประพาสอีก 2 ชั่วโมง ครูโยให้เราวาดสีเทียน ส่วนมากจะวาดตามที่ครูเขียนบนกระดาน ดูรายละเอียดจากที่ครูวาดในกระดาษด้วย นานๆทีถึงจะให้วาดดูของจริง เช่น ภาพวิว ภาพของที่ตั้งไว้...เราชอบขอให้ครูเล่านิทาน และครูโยชอบนักที่จะเล่านิทานเป็น 3 ภาษา คือ ไทย, ญี่ปุ่น, อังกฤษ บางวันครูก็ให้ทำอย่างอื่น เช่น พับกระดาษแบบญี่ปุ่น เอาสีเทียนสีต่างๆระบายบนกระดาษ แล้วเอาสีดำระบายทับ แล้วใช้ไม้ขีดเป็นภาพต่างๆ” ครั้นทรงศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลายจึงทรงเปลี่ยนเป็นเขียนสีน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีครูพิเศษอีกหลายท่านที่ถวายการสอนศิลปะ เช่น อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ทรงจำได้ว่าอาจารย์จักรพันธุ์ให้ทรงวาดภาพหุ่นนิ่ง หาแบบต่างๆมาให้ทรงวาด เช่น ปลาที่เริ่มเน่า เพราะว่าจะมีสีสดกว่าปลาที่ตายใหม่ๆ ทรงเล่าว่า ในบรรดาภาพที่ทรงวาดนั้น อาจารย์จักรพันธุ์ชอบอยู่ภาพเดียวคือ ภาพหุ่นนิ่งรูปหัวกะโหลกวัว มีผ้าสีแดงๆเป็นฉากหลัง น่าเสียดายที่ภาพฝีพระหัตถ์นี้หายไปอย่างไร้ร่องรอย
อย่างไรก็ดี งานวาดรูปที่โปรดมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์มาหยุดชะงักลงตั้งแต่ทรงสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้ทรงวาดและทรงเรียนวาดรูปกับใครอย่างจริงจัง ทรงวาดรูปเล่นบ้างเป็นภาพล้อ, ภาพการ์ตูน, ภาพลายเส้นลงในสมุดจดงาน กระทั่งเมื่อทรงศึกษาปริญญาโท ด้านจารึก ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงทรงกลับมาใกล้ชิดกับงานเขียนรูปมากขึ้น เพราะต้องบันทึกวาดลายเส้นศิลปะประกอบในรายงานของพระองค์
ในระหว่างปี 2525-2527 ทรงเริ่มวาดภาพอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยทุกเช้าจะใช้เวลาทรงงานต่อภาพประมาณ 3 ชั่วโมง ทรงวาดทั้งสีน้ำมันและสีน้ำ สร้างสรรค์ผลงานฝีพระหัตถ์ไว้จำนวนมากกว่า 50 ภาพ และแม้ภายหลังจะทรงต้องปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อแบ่งเบาพระราชภารกิจอันหนักอึ้งของทูลหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ ก็ไม่เคยทิ้งฝีแปรงและพู่กันเลย โดยทรงมีผลงานจิตรกรรมรังสรรค์ไว้อีกมากมายนับร้อย
หากใครติดตามผลงานฝีพระหัตถ์ก็จะสังเกตได้ว่าทรงวาดภาพดอกบัวเป็นจำนวนมาก มากกว่าดอกไม้ทุกชนิด เนื่องจากดอกบัวเป็นดอกไม้ที่โปรดมาก โดยเฉพาะบัวหลวงสีชมพูอ่อนกับสีขาว นอกจากจะทรงวาดรูปดอกบัวเป็นของขวัญวันเกิดพระอัยยิกา (หม่อมหลวงบัว กิติยากร) ยังทรงวาด “ดอกบัวถวายพระพร” ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระราชชนนี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
อีกหนึ่งภาพฝีพระหัตถ์ที่น่าประทับใจยิ่งคือ ภาพลายเส้นฝีพระหัตถ์ “ทูลหม่อมพ่อ” ที่ทรงวาดไว้เมื่อปี 2510 สะท้อนถึงพรสวรรค์ด้านการวาดภาพแบบสเกตช์ไวด้วยลายเส้นปากกา ตลอดจนพระบุคลิกภาพที่สดใสและเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน หากเปิดสมุดบันทึกส่วนพระองค์จะพบว่ามีภาพสเกตช์ของพระพี่เลี้ยง, พระสหาย และสัตว์สารพัดชนิด บ่อยครั้งจะวาดแทรกอยู่ในเรื่องที่ทรงพระราชนิพนธ์ ทำให้เรื่องราวสนุกสนานชวนติดตามมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ทรงวาดเพื่ออวยพรในวาระสำคัญต่างๆ ทูลเกล้าฯถวายทูลหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ รวมทั้งพระราชทานแก่พระอาจารย์, พระสหาย ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยทุกครั้งที่เสด็จฯไปทรงเปิดนิทรรศการศิลปะให้แก่หน่วยงานต่างๆ จะทรงวาดภาพพระราชทานเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย เคยรับสั่งอย่างมีอารมณ์ขันว่า เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเขียนรูปที่บ้าน มาเขียนเอาที่เปิดงาน
และยังเป็นธรรมเนียมทุกปีที่ประชาชนชาวไทยจะเฝ้ารอภาพวาดฝีพระหัตถ์ของสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดทำเป็น ส.ค.ส.พระราชทานปีใหม่มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมอัญเชิญไปจัดทำเป็นของที่ระลึกเพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิการกุศลต่างๆ สร้างความปลาบปลื้มใจแก่พสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง...ดุจน้ำทิพย์ชโลมจิต ดับร้อนร้ายให้คลายครัน.
ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ