ความหมายอันทรงคุณค่าของ “น้ำมุรธาภิเษก” และ “น้ำอภิเษก” จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 117 แหล่งทั่วประเทศ เป็นครั้งแรกที่ใช้น้ำจาก 76 จังหวัด และ กทม. เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวง ร. 10 พิธีอันเป็นมหามงคลยิ่งของแผ่นดินไทย ซึ่งว่างเว้นมา 69 ปี...

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พ.ค. 2562 เป็นพระราชพิธีเบื้องกลาง ในการประกอบพระราชพิธีจะใช้ “น้ำมุรธาภิเษก” และ “น้ำอภิเษก” ซึ่งเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย และ กทม. ที่ได้ทำพิธีเสกน้ำรวม ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2562 ฤกษ์เวลา 17.16-21.30 น. โดยสมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ฤกษ์เวลา 10.09-12.00 น. พระราชพิธีเริ่มด้วยการถวาย “สรงพระมุรธาภิเษก” (สง-พระ-มุ-ระ-ทา-พิ-เสก) ที่ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นการรดน้ำศักดิ์สิทธิ์เหนือพระเศียร น้ำที่รดเรียกว่า “น้ำมุรธาภิเษก” ซึ่งการสรงน้ำพระมุรธาภิเษก หมายถึง การยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ ถือว่าการยกให้เป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้นจะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับ “น้ำสรงมุรธาภิเษก” มีจำนวน 9 แหล่งน้ำ ประกอบด้วย น้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา" (เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา) เริ่มใช้ครั้งแรกในพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่

1.แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

2.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

3.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

4.แม่น้ำราชบุรี ตักที่บริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงส์ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

5.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่บริเวณท่าน้ำวัดไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งน้ำจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อีก 4 สระในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา

จากนั้นเมื่อพระมหากษัตริย์สรงพระมุรธาภิเษก (สง-พระ-มุ-ระ-ทา-พิ-เสก) แล้ว จะเสด็จไปประทับทรงรับ “น้ำอภิเษก” ที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ (อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด) ซึ่ง “อภิเษก” หมายถึง การรดน้ำที่พระหัตถ์ เสมือนผู้น้อยรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ หรือเป็นการยอมรับผู้ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ โดย “น้ำอภิเษก” ตักมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวน 108 แหล่งน้ำ ประกอบด้วย แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1 แหล่งน้ำ

"น้ำสรงมุรธาภิเษก” และ “น้ำอภิเษก” เป็นน้ำที่ตักจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และผ่านการทำ "พิธีพลีกรรมตักน้ำ" ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตามความเชื่อว่า สิ่งต่างๆ บนโลก ล้วนมีเทวดาปกป้อง ดูแลรักษา การจะทำสิ่งใดๆ ต้องขออนุญาตเทวดาที่ดูแลรักษาสิ่งนั้นๆ การทำพิธีพลีกรรมตักน้ำ จึงเป็นการทำพิธีขออนุญาตเทวดาที่ปกป้องรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัดเพื่อตักน้ำในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นมาทำ น้ำอภิเษก และน้ำสรงมุรธาภิเษกนั่นเอง

โดยทั้ง 76 จังหวัด จะจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำพร้อมกันในวันที่ 6 เม.ย. 2562 เวลาฤกษ์ 11.52-12.58 น. โดยผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเป็นประธาน จะตักน้ำบรรจุลงใน ขันน้ำสาคร" กรณีจังหวัดที่มีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มากกว่า 1 แหล่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด จะพิจารณามอบหมายให้ รองผู้ว่าฯ หรือ หัวหน้าส่วนราชการเป็นประธานลำดับต่อไป

จากนั้นจะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์มาเก็บรักษา ณ สถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกของแต่ละจังหวัด ดังนี้

- พระอุโบสถ จำนวน 44 แห่ง

- อุโบสถ จำวน 3 แห่ง - พระวรวิหาร (พิษณุโลก) จำนวน 1 แห่ง

- วิหาร จำนวน 3 แห่ง - พระมณฑป จำนวน 1 แห่ง

- พระมหาธาตุ (ขอนแก่น) จำนวน 1 แห่ง

โดยวันที่ 8 เม.ย. 2562 จัดพิธีทำน้ำอภิเษก และน้ำสรงมุรธาภิเษก เริ่มเวลา 17.00 น. ประธานสงฆ์ประกาศชุมนุมเทดา และฤกษ์เวลา 17.10-22.00 น. ประธานสงฆ์จุดเทียนชัย และเจริญพุทธมนต์ ต่อมาในวันอังคารที่ 9 เม.ย. 2562 เวลา 12.00 น.จะบรรจุ “น้ำอภิเษก” และ “น้ำสรงมุรธาภิเษก” ลงใน “คนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์” และทำพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก

1 เม.ย. 62ผวจ.ร้อยเอ็ด นำข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ สมาชิกเหล่ากาชาดจาก 20 อำเภอ จัดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำดีด้วยหัวใจ” เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี ทำความสะอาดสถานที่สำคัญและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในวัดบึงพระลานชัย  อ.เมืองร้อยเอ็ด เตรียมความพร้อมการจัดพิธีทำน้ำอภิเษกของ จ.ร้อยเอ็ด ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
1 เม.ย. 62ผวจ.ร้อยเอ็ด นำข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นายอำเภอ สมาชิกเหล่ากาชาดจาก 20 อำเภอ จัดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำดีด้วยหัวใจ” เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี ทำความสะอาดสถานที่สำคัญและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในวัดบึงพระลานชัย อ.เมืองร้อยเอ็ด เตรียมความพร้อมการจัดพิธีทำน้ำอภิเษกของ จ.ร้อยเอ็ด ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

และวันที่ 10 เม.ย. 2562 เวลา 06.00-18.00 น. จะอัญเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วยรถประจำตำแหน่งผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด รวมทั้งสิ้น 85 ใบ มาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย สำหรับ “น้ำศักดิ์สิทธิ์” จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง กทม. จะจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำ วันที่ 12 เม.ย. 2562 เวลาฤกษ์ 14.09 น. โดยบรรจุลงในคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ พร้อมเชิญคนโทน้ำมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย

ต่อมาในวันที่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 08.30 น. จะจัดริ้วขบวนอัญเชิญคนโทน้ำอภิเษก จำนวน 86 ใบ จากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม และช่วงเวลา 17.19-21.30 น. จะจัดพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส จัดทำน้ำสรงอภิเษก ประกอบด้วย น้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนต์ ซึ่งพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม จะทำพิธีเสกน้ำเทพมนต์ก่อน โดยพิธีเสกสวดคาถาเทพมนต์ ประกาศชุมนุมเทวดา เพื่อประสิทธิ์ประสาทชัยมงคล บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมเนียมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก่อนเชิญมาประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ โดยพระสงฆ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์

คนโทน้ำเพื่อใช้บรรจุน้ำในพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
คนโทน้ำเพื่อใช้บรรจุน้ำในพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ต่อมาวันที่ 19 เม.ย. 2562 เวลา 07.30 น. จัดริ้วขบวนแห่เชิญคนโทน้ำอภิเษก 86 ใบ จากวัดสุทัศนเทพวราราม ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อส่งมอบคนโท “น้ำมุรธาภิเษก” และ “น้ำอภิเษก” ให้สำนักพระราชวัง เก็บไว้ในมณฑปในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และจนถึงการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พ.ค. 2562 ฤกษ์เวลา 10.09-12.00 น.

ทั้งนี้ “น้ำอภิเษก” และ “น้ำสรงมุรธาภิเษก” จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 117 แหล่งทั่วประเทศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวง ร.10 เป็นครั้งแรกที่มีการใช้น้ำจาก 77 จังหวัด เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในพิธีอันเป็นมหามงคลยิ่งของแผ่นดินไทยในครั้งนี้ ซึ่งว่างเว้นมา 69 ปี

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากเอกสาร คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการบรรยาย โดย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในการอบรมสื่อมวลชนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันพุธที่ 27 มี.ค. 2562 ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์