เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพระราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธี จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

นับตั้งแต่โบราณราชประเพณี มีการระบุถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ดังนี้ พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระภูษาผ้ารัตตกัมพล พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน โดยมีหลักฐานระบุถึงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแต่ละสมัยแตกต่างกัน

ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในหนังสือปัญจราชาภิเษก มีข้อความเกี่ยวกับลักษณะเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์สำหรับราชาภิเษกของสมเด็จพระมหากษัตริย์นั้น คือ “พระมหามงกุฎ พระภูษาผ้ารัตตกัมพล พระขรรค์ พระเศวตฉัตร เกือกทองประดับแก้วฉลองพระบาท”


ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ตามพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ระบุถึงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ว่ามี พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ ธารพระกร (แทนผ้ารัตตกัมพล) พระพัดวาลวิชนี (แทนเศวตฉัตร) และฉลองพระบาท ในสมัยรัชกาลที่ 2 ไม่มีพระมหามงกุฎและฉลองพระบาท แต่มีเศวตฉัตรและพระแสงดาบ

ครั้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 กลับไปเหมือนสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเครื่องราชเบญจกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาท โดยพราหมณ์ผู้ทำพิธี จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว 

สำหรับความหมายของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แต่ละองค์นั้นมีความหมายดังนี้

พระมหาเศวตฉัตร หรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร 

ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ เป็นฉัตร 9 ชั้น หุ้มผ้าขาว มีระบาย 3 ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด มียอด ชั้นล่างสุด ห้อยอุบะจำปาทอง สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว ใช้แขวนหรือปักเหนือพระราชอาสน์ ราชบัลลังก์ในท้องพระโรงพระมหาปราสาทราชมณเฑียร หมายถึง พระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ โดยพระมหาราชครูพราหมณ์ถวาย เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกจากบุคคลสำคัญจากทิศทั้ง 8 ทรงเป็น "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" 

พระมหาพิชัยมงกุฎ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในสมัยโบราณ ถือว่ามงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด

แต่ต่อมา เมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่การสวมมงกุฎ แต่นั้นมา จึงถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 7,300 กรัม สร้างขึ้นเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในรัชกาลที่ 1 ในครั้งนั้นยอดพระมหาพิชัยมงกุฎยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็กๆ

จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปเลือกสรรหาซื้อเพชรขนาดใหญ่มาจากประเทศอินเดีย นำมาประดับยอดมงกุฎแทนพุ่มข้าวบิณฑ์ พระราชทานเพชรเม็ดนี้ว่า “พระมหาวิเชียรมณี” เพชรเม็ดนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.6 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.4 เซนติเมตร

เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ หมายถึง ทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

พระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 7,300 กรัม (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)
พระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 7,300 กรัม (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)

พระแสงขรรค์ชัยศรี

เป็นพระขรรค์โบราณ เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร สมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จมอยู่ในทะเลสาบเมืองนครเสียมราฐ มาเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีใครทราบ ชาวประมงไปทอดแหติดขึ้นมา องค์พระขรรค์ยังดีไม่มีสนิมผุกร่อน ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และนครเสียมราฐ จึงได้มอบให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. 2327 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม เสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2328

พระแสงขรรค์ชัยศรีองค์นี้ เฉพาะองค์ยาว 64.5 เซนติเมตร ที่สันตอนใกล้จะถึงด้ามคร่ำด้วยทองคำเป็นลวดลายงดงาม ด้ามพระขรรค์ ยาว 25.4 เซนติเมตร สวมฝักแล้วยาว 101 เซนติเมตร หนัก 1,900 กรัม

เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มีความหมายถึงความเที่ยงตรง และรับพระราชภาระปกป้องแผ่นดิน ให้พ้นจากภยันตราย

พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2328 เช่นเดียว พระมหาพิชัยมงกุฎ (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)
พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อพ.ศ. 2328 เช่นเดียว พระมหาพิชัยมงกุฎ (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)

ธารพระกรชัยพฤกษ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและส้นเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ที่สุดส้นเป็นส้อมสามง่าม เรียกว่า ธารพระกร ชัยพฤกษ์

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างธารพระกรขึ้นใหม่ทำด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า (สะ-เหน่า) ยอดมีรูปเทวดา เรียกว่า ธารพระกรเทวรูป มีลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่า เป็นธารพระกร ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบมาจนถึงรัชกาลที่ 9

เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ที่มีความหมายถึงความมั่นคง ทรงดํารงราชธรรมเพื่อค้ำจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง

ธารพระกรชัยพฤกษ์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ทำด้วยทองคำ  (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)
ธารพระกรชัยพฤกษ์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ทำด้วยทองคำ  (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)

วาลวิชนี
วาลวิชนี คือพัดและแส้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ลักษณะเป็นพัดใบตาล ที่ใบตาลปิดทองทั้ง 2 ด้าน ขอบขลิบทองคำ ด้ามทำด้วยทองลงยา เรียกว่า พัชนีฝักมะขาม

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” ไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี เพราะวาล แปลว่า ขนโคชนิดหนึ่ง ตรงกับที่ไทยเรียก จามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแส้ขนจามรีเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือก เรียกว่า “พระแส้หางช้างเผือก” แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้พัดใบตาลและพระแส้จามรีควบคู่กัน โดยเรียกว่า วาลวิชนี 

เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มีความหมายถึงทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร์

วาลวิชนี คือพัดและแส้ เป็นพัดใบตาลปิดทองและพระแส้จามรีควบคู่กัน (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)
วาลวิชนี คือพัดและแส้ เป็นพัดใบตาลปิดทองและพระแส้จามรีควบคู่กัน (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)

ฉลองพระบาทเชิงงอน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ เป็นฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก 650 กรัม สร้างเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาราชครูวามหามุนีเป็นผู้สวมถวาย

เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ที่หมายถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกหนแห่งในแผ่นดิน ทรงทํานุบํารุง ปวงประชาทั่วรัฐสีมาอาณาจักร

ฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก 650 กรัม  (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)
ฉลองพระบาทเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก 650 กรัม (ภาพกราฟิกเสมือนจริง)


ที่มา : ข้อมูลและภาพ ส่วนหนึ่งจากเอกสาร คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการบรรยาย โดย ศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการ ด้านสารัตถะ และสร้างสรรค์ผลิตสื่อ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562" วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2562