ในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (BPW International Asia-Pacific Regional Conference 2018) ภายใต้แนวคิด “Empowering Women to Realize Sustainable Development Goals” หรือการเสริมพลังสตรีเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดโดย สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ณ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.-1 พ.ย.ที่ผ่านมา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า พัชรกิติยาภา ได้ทรงร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การนำ Bangkok Rules ไปสู่การปฏิบัติ : ให้โอกาสครั้งที่ 2 แก่สตรี”
“พระองค์ภา” ตรัสว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากเนื้อหาเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่สหประชาชาติกำหนดไว้ ซึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นเป้าหมายลำดับที่ 5 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมพลังสตรีและเด็กหญิงนั้นต้องสร้างสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกัน ปราศจากความรุนแรงและการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายลำดับที่ 16 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคม ความสงบสุข ความยุติธรรม และการไม่แบ่งแยกนั้น เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน หากปราศจากสันติภาพ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมาย เราจะไม่สามารถพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนได้
“พระองค์ภา” ทรงสนพระทัยด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศ และการเสริมพลังผู้ด้อยโอกาสตั้งแต่ยังทรงเป็นนักศึกษา และเมื่อเข้าทรงงานในระบบยุติธรรม ก็ได้พบกับปัญหาของผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนสูงสุด เป็นที่สองของโลก และร้อยละ 90 เป็นผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงได้รับความยากลำบากในขณะถูกคุมขัง ทั้งในด้านสวัสดิการต่างๆที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนขาดการเตรียมความพร้อมเพื่อกลับสู่ครอบครัวและสังคมหลังการปล่อยตัว ในปี 2549 พระองค์ได้ทรงริเริ่มดำเนินโครงการกำลังใจ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้ต้องขัง และผู้ที่มีปัญหาทางกฎหมาย ให้สามารถกลับมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆทั่วโลกด้วย จึงได้มีการริเริ่มโครงการ ELFI ในปี 2551 มุ่งเน้นการพัฒนาชีวิตของผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งรณรงค์ในระดับสากล เพื่อให้เกิดมาตรฐานระดับสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง จนได้มีการยกร่างกฎแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง หรือที่เรียกว่า “The Bangkok Rules” (ข้อกำหนดกรุงเทพฯ) ในปี 2553 ที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติมีมติให้ “The Bangkok Rules” เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องบังคับใช้ทั่วโลก เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง
ในโอกาสนี้ “พระองค์ภา” ยังทรงเน้นย้ำว่า ในโลกนี้มีผู้ต้องขังหญิงเป็นจำนวนมากที่สมควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้รับการพัฒนาศักยภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอิสรภาพที่ยั่งยืนหลังการปล่อยตัว การนำข้อกำหนดกรุงเทพฯไปสู่การปฏิบัติจะทำให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่งในชีวิต.