พระราชกระแส “เพราะเป็นห่วงจึงได้มา” ยังตราตรึงในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทยอย่างมิรู้ลืมเลือน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ทรงห่วงใยพสกนิกรในทุกเรื่อง และไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด หากที่ใดประชาชนมีความเดือดเนื้อร้อนใจ พระองค์จะพระราชทานความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องโดยทันที

นับตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ทรงมุ่งเน้นที่จะสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถ บพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยพระราชประสงค์อย่างแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชา

น้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดจากพระราชกรณียกิจหลากหลายด้าน ทั้งด้านการทหาร การศาสนา การสาธารณสุข วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ อันเป็นศาสตร์ของแผ่นดิน ทรงส่งเสริมการเกษตรให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรในทุกเรื่อง และไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติน้อยใหญ่ ณ แห่งหนตำบลใดของประเทศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็น “มิ่งขวัญและกำลังใจของประชาชน” พระองค์คือ “ที่พึ่งพิงชีวิต” ของพสกนิกรชาวไทยทุกระดับอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในยามที่เกิดทุกข์เข็ญมีวิกฤติให้เดือดเนื้อร้อนใจ

เฉกเช่นเมื่อครั้งเกิดวิกฤติ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โรงครัวพระราชทาน” ขึ้นทันที เพื่อประกอบอาหารสำหรับแจกจ่ายเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ร่วมปฏิบัติการค้นหาทีมนักฟุตบอลเยาวชนทั้ง 13 ชีวิต พร้อมพระราชทานเหล่าจิตอาสาลงพื้นที่ถ้ำหลวง ช่วยทำอาหารและดูแลเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง 17 วันเต็ม โดยตลอดเวลาที่เกิดวิกฤติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดทุกช่องทาง ทรง ให้กำลังใจครอบครัวผู้สูญหายและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมพระราชทานสิ่งของต่างๆที่จำเป็นแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับการกู้ภัยและช่วยชีวิต สร้างความปลื้มปีติซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ

ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยอย่างหนักในหลายพื้นที่ของ 12 จังหวัดภาคใต้ ไล่ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ไปจนถึงสตูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนอย่างทันท่วงที นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัย ยังมีพระราชดำริให้จัดทำบัตรอวยพรและไดอารีภาพวาดฝีพระหัตถ์ออกจำหน่าย ระดมเงินได้มากกว่า 40 ล้านบาท นำไปพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยดังกล่าว เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน และเป็นเงินทุนการศึกษาพระราชทานแก่เยาวชนที่สูญเสียบิดามารดาจากอุทกภัยครั้งนี้ พร้อมกันนี้ ยังพระราชทานความช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณะโรงเรียนหลายร้อยแห่งที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ โดยจัดซื้อโต๊ะเก้าอี้ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การศึกษาที่จำเป็นมอบแก่โรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ

พระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน เริ่มบ่มเพาะขึ้นตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเมื่อครั้งตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ปี 2544 เพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคใต้ พระองค์ทรงรับทราบถึงปัญหาของราษฎรบ้านกูแบซีรา ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่ประสบภัยธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงเสด็จเยี่ยมเยือน และทรงตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยพระองค์เอง พร้อมพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อพัฒนาพื้นที่การเกษตร, เพิ่มผลผลิต, พัฒนาอาชีพ และเพิ่มรายได้ของเกษตรกรไทย โดยระหว่างเสด็จขึ้นไปบนบ้านราษฎรชาวมุสลิม “นายดอเลาะ บือแน” ทำให้ทรงทราบปัญหาว่าชาวบ้านขาดแคลนน้ำดื่ม และเมื่อถึงฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เพราะไม่มีคูน้ำช่วยระบาย

เมื่อ “นายดอเลาะ” กราบบังคมทูลว่า “ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จฯ มาที่บ้าน”...พระองค์ทรงตอบว่า “ทุกพระองค์ทรงห่วงใยราษฎร ก็เพราะเป็นห่วงจึงได้มา” พระราชกระแสดังกล่าวสร้างความปลื้มปีติแก่ประชาชนชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก ทำให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรอย่างเท่าเทียมกัน

ในโอกาสนี้ ยังได้พระราชทานคำแนะนำและแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ให้แก้ไขปัญหาเรื่องด่วนก่อน พร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อได้ศึกษาในภาพรวมทั้งระบบแล้ว ให้ดูว่าส่วนใดจะแก้ไขอย่างไร และให้แก้ไขไปทีละส่วนเป็นขั้นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ

ด้วยพระปรีชาสามารถอันล้ำลึก ทำให้สามารถพลิกปัญหาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แก้ไขด้วยการจัดทำประปาหมู่บ้านแบบบาดาลขนาดกลาง และจัดส่งให้ถึงราษฎรในพื้นที่ ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมขังในหมู่บ้านและที่ทำกิน แก้ไขด้วยการขุดคลองและทำอาคารระบายน้ำ ท่อลอดในบริเวณที่น้ำท่วมขัง ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรที่ขาดแคลน ได้รับการแก้ไขโดยการจัดวางระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ราษฎรได้รับน้ำอย่างทั่วถึง และสามารถทำการเกษตรได้ในช่วงฤดูแล้ง ภายหลังทรงรับโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบซีราไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เนื่องจากได้ทอดพระเนตรถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่บริเวณบ้านสันติ 1 และ 2 จังหวัดยะลา ด้วยทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพภาคที่ 4, ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ริเริ่มโครงการเพื่อชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็นบ้านสันติ 2 ตามพระราชดำริ เมื่อปี 2550 เพื่อจัดตั้งชุมชนเข้มแข็งที่มีความรักความสามัคคี สร้างความปลอดภัยมั่นคงในชีวิต และส่งเสริมอาชีพทำกินที่ดี โดยปัจจุบันหมู่บ้านสันติ 2 เป็นต้นแบบของ “หมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งและร่มเย็น” ของภูมิภาค

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงคำนึงถึงสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงตระหนักว่า สุขภาพพลานามัยที่ดีของประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญของการมีชีวิตอย่างมีความสุข นอกเหนือจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ที่ก่อตั้งในปี 2520 ในเขตทุรกันดาร 21 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาค พระองค์ยังทรงริเริ่มมูลนิธิมหาวชิราลงกรณ ในปี 2525 เพื่อ สนับสนุนการรักษาพยาบาล การจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยของกองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านออร์โธปิดิกส์ และกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการทางแขนขา ขณะเดียวกัน ด้วยทรงห่วงใยผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 6 ศูนย์ ได้แก่ ชลบุรี ลำปาง อุดรธานี อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และลพบุรี อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินก่อสร้างบ้านพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี เพื่อเป็นสถานที่บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบต่อเนื่อง โดยพระราชทานนามว่า “ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี”

แม้แต่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร และประชาชนในชนบทภาคอีสาน ก็ทรงเป็นห่วงเป็นใยในสุขภาพพลานามัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการ ก่อสร้างโรงพยาบาลเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 50 พรรษา เมื่อปี 2545 พร้อมพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” พร้อมกันนี้ยังทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานสำหรับพระภิกษุ สามเณร ในพระราชูปถัมภ์ฯ เพื่อออกให้บริการตรวจสุขภาพและรักษาโรคแก่พระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยภายหลังหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในพระองค์ได้ออกตรวจรักษาประชาชนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญด้วย

น่าภูมิใจยิ่งกับคนไทยทั้งประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของราษฎรอย่างแท้จริง นับจากนี้ไป พระราชกระแส “เพราะเป็นห่วงจึงได้มา” จะยิ่งดังกึกก้องไปทั่วทั้งแผ่นดินไทย!!

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน และทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยสืบไป.

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ