ด้วยพระปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบ่งเบาปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย “ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี” ทรงใช้พระปรีชาสามารถในด้านวิชาวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเต็มที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทย

และเพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น เมื่อปี 2530 เพื่อเป็นแหล่งระดมสติปัญญาของนักวิชาการที่มีศักยภาพ และวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จากนั้นในปี 2547 มีพระดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนม พรรษา 6 รอบ โดยมุ่งหมายให้เป็นศูนย์วิจัยด้านโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศทางการวิจัย วิชาการ และการบำบัดรักษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยมีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลรองรับ ต่อมาในปี 2552 ได้ทรงก่อตั้ง “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” เพื่อผู้ป่วยโรคร้าย ได้มีโอกาสเข้าถึงการบริบาลด้านสาธารณสุข ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทันสมัย

ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทรงมีต่อปัญหาสุขอนามัยของประชาชน เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศที่จะต้องเร่งผลิตบุคลากรด้านงานวิจัยที่มีศักยภาพ และมีความสามารถในการคิดค้นพัฒนายา เพื่อทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านยา “ชีววัตถุอันจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงทางยาและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ

กว่าทศวรรษของการทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัย ส่งผลให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุ ซึ่งเป็น “โมโนโคลนอล แอนติบอดี” ชนิดแรก มีบทบาทในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ชื่อว่า “Trastuzumab” กระทั่งสามารถ ผลิตเป็นยาได้สำเร็จ และสามารถนำไปพัฒนาตามกระบวนการในระดับอุตสาหกรรม โดยได้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2561 ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุที่แท้จริงชิ้นแรก และยังเป็นครั้งแรกที่คิดค้นสำเร็จโดยนักวิจัยไทยในประเทศไทย โดยไม่ต้องอาศัยการซื้อหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้ในอนาคตประชาชนชาวไทยจะได้เข้าถึงยาคุณภาพดี

โอกาสนี้ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ มีพระดำริว่า ประเทศไทยยังไม่มีความมั่นคงทางยาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะยาชีววัตถุ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรค ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศ เช่น โรคมะเร็งและโรคติดเชื้อ ยาประเภทนี้มีราคาสูงมาก จนทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ การวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุเป็นโครงการที่ทรงคิดและริเริ่มดำเนินการเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสได้รับยาที่มีคุณภาพและสามารถรักษาโรคได้ผลดีกว่าเดิมหรือหายขาด ในราคาที่จัดหาได้

ถือเป็นความสำเร็จอันน่าภูมิใจของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพราะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ตัดต่อดีเอ็นเอ จนพร้อมที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนา การผลิตยารักษาโรคมะเร็งเต้านม “Trastuzumab” สร้างชื่อเสียงให้ประเทศอย่างมากในฐานะเจ้าแห่งนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุชิ้นแรกของประเทศไทยโดยคนไทยเพื่อคนไทย ซึ่งไม่ได้อาศัยการถ่ายทอด หรือซื้อเทคโนโลยีจากบริษัทยา

การพัฒนายาชีววัตถุตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำต้องอาศัยงบประมาณและนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถ หลากหลายสาขา มาทำงานร่วมกันอย่างมีจริยธรรม และคำนึงถึงคุณภาพของยาเป็นหลัก มิใช่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์จากการลงทุน จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งเชิงนโยบายและงบประมาณอย่างเพียงพอต่อเนื่อง เพราะนับเป็นการลงทุนเพื่อสร้างพื้นฐานสำคัญให้ประเทศ ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อย่างคุ้มค่าในอนาคต ความร่วมมือระหว่างสองสถาบันจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆด้านยาชีววัตถุให้กับประเทศเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงยาที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนเป็นหลักในการพัฒนาทางด้านสุขภาพและการแพทย์ที่จะนำไปสู่โมเดลเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 ในอนาคตอันใกล้

ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ขอพระองค์ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน พระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยสืบไป.


ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ