“ต้นจันทน์” ถือเป็นต้นไม้ที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์แห่งความอาลัยของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยอย่างยิ่ง นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานการใช้ “ท่อนจันทน์” และ “ไม้จันทน์” เผาพระสรีระเจ้านายชั้นสูงอย่างสมพระเกียรติ ไม้ชนิดนี้ยังถูกนำมาประดิษฐ์เป็นงานหัตถศิลป์สำหรับพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ จัดสร้างเป็น “พระโกศจันทน์” ทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ เพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติอย่างสูงสุดตามโบราณราชประเพณี อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาธรรมเนียมการใช้ไม้จันทน์ได้แพร่หลายมาสู่สามัญชนในรูปลักษณ์ของ ดอกไม้จันทน์ประดิษฐ์ โดยแปรเปลี่ยนวัสดุตามความเหมาะสมของสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

ย้อนกลับไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการใช้ “ท่อนจันทน์” เผาศพเจ้านายชั้นสูง โดยในตำราราชเสวก ครั้งกรุงเก่า บันทึกว่า...“ถ้าจะถวายพระเพลิงพระบรมศพ ครั้นเปิดพระโกศออกแล้ว ให้มหาดเล็กถวายเครื่องพระชำระ มะพร้าวแก้ว สีพระทนต์ น้ำขมิ้น มะกรูด ส้มป่อย สนมรับต่อข้างในมาส่งให้มหาดเล็กถวาย และเครื่องชำระพระหัตถ์นั้น แล้วมหาดเล็กถวายนาคเพลิงเหล็กเพลิง แลเทียนฉลองพระหัตถ์ เทียนจุดเพลิงนั้นหมื่นเทวาทิศเบิกมาส่ง ครั้นถวายเหล็กเพลิงแล้ว สนมได้ถวายไม้เชื้อเพลิงชุบน้ำพิมเสนให้ทรงจุดเพลิงท่อนจันทน์แลธูปด้วย เทียนเพลิงนั้นส่งให้หมื่นเทวาทิศใส่โคมเลี้ยงเพลิงไป ให้สมเด็จพระสังฆราชจุดดอกไม้เพลิงเพลาค่ำ”

ขณะที่หนังสือธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย อ้างอิงบันทึกประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยามของ “ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง” ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถึงความสำคัญของ “ไม้จันทน์” ว่า ชาวสยามได้ใช้ประโยชน์หลายอย่างจากไม้จันทน์ รวมทั้งในพิธีศพด้วย

“ต้นจันทน์มีสองชนิด ชนิดขาวมีอยู่บนเกาะติมอร์ และชนิดแดง ซึ่งเป็นของหายากกว่าชนิดขาวมาก มีอยู่ในประเทศสยาม ชาวสยามใช้ต้นจันทน์ทำประโยชน์หลายประการ เช่น เผาเป็นแผ่นเล็กๆให้เกิดมีกลิ่นหอม ใช้ฝนกับน้ำบนหิน ทำให้แป้งมีกลิ่นหอม เพื่อทาถูร่างกายเมื่ออาบน้ำแล้ว และยังใช้เผาข้างศพผู้ตายด้วย”

บันทึกดังกล่าวสอดคล้องกับบันทึกของ “ซิมอน เดอ ลาลูแบร์” ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยเดียวกัน โดยมีการระบุในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยามว่า ชาวสยามเผาเครื่องหอมไว้ใกล้ๆโลงศพ การเผาไม้จันทน์เช่นนี้คงเป็นลักษณะเดียวกับการจุดธูปตามพิธีศพในปัจจุบัน

เมื่อถึงพิธีการถวายเพลิงจะนำไม้จันทน์ใส่รถร่วมกระบวนแห่พระบรมศพ หรือพระศพ เพื่อไปประดิษฐานยังพระเมรุที่ได้เตรียมการไว้ ดังในหมายรับสั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเกณฑ์กระบวนแห่พระบรมศพของสมเด็จพระศรีสุลาลัยไปประดิษฐานที่พระเมรุทอง “อนึ่งให้ชาวพระคลังในซ้ายจัดกฤษณา จันทน์เทศ จันทน์คนา กรักขี และสน ใส่พานแว่นฟ้า เชิญขึ้นตั้งบนรถเครื่องหอม”

“ไม้จันทน์” ที่ใช้ถวายเพลิงแต่โบราณ เรียกขานว่า “จันทน์หิมาลัย” หรือฝรั่งเรียก “ไวท์แซนเดิลวูด” จะปลูกมากทางตอนใต้ของอินเดีย แต่ปัจจุบันไม้จันทน์ชนิดนี้หายากมาก จึงใช้ไม้จันทน์ที่เป็นไม้พื้นเมืองของไทยแทน คือ “จันทน์ชะมด” หรือ “จันทน์พม่า” ส่วน “ดอกไม้จันทน์” ที่ใช้ในงานศพเดิมก็ใช้ “จันทน์หิมาลัย” ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ ภายหลังได้นำวัสดุอื่นๆมาประดิษฐ์เป็น “ดอกไม้จันทน์” เช่น ด้ามดอกทำด้วยไม้ไผ่ และตัวดอกใช้ไม้ฉำฉา ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังนิยมประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์จากซางข้าวโพด และกระดาษ

สำหรับ “ไม้จันทน์” ที่ใช้ในงานพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใช้ไม้จันทน์ยืนต้นตาย 3 ต้น จากป่าในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถวายเพลิงพระศพ อีกส่วนหนึ่งนำมาจัดสร้างเป็นพระโกศจันทน์

การถวายเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ ด้วยดอกไม้จันทน์ มีขั้นตอนบันทึกไว้ในตำรามหาดเล็ก สมัยอยุธยา ด้วยว่า...“มหาดเล็กถวายหน้าเพลิง เหล็กเพลิง และเทียนฉลองพระหัตถ์ เทียนจุดเพลิงนั้น หมื่นเทวาทิศเบิกมาส่ง ครั้นถวายเหล็กเพลิงแล้ว สนมถวายไม้เชื้อเพลิงชุบน้ำพิมเสนให้ทรงจุดเพลิงท่อนจันทน์และธูปด้วยเทียนเพลิงนั้น ส่งให้หมื่นเทวาทิศใส่โคมเลี้ยงเพลิงไป ให้สังฆราชจุดดอกไม้เพลิงเพลาค่ำ”

นอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อเผาพระสรีระ ไม้จันทน์ยังถูกนำมาประดิษฐ์เป็นงานหัตถศิลป์คือ “พระโกศจันทน์” เพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติแด่พระบรมศพและพระศพ โดยมีลักษณะเป็นโกศแปดเหลี่ยม มียอดประกอบด้วยโครงลวดตาข่ายประดับลายฉลุเป็นลายไม้ซ้อนทั้งองค์ พระโกศจันทน์จะถูกใช้เมื่ออัญเชิญพระโกศพระบรมศพ หรือพระศพ ขึ้นประดิษฐานยังพระจิตกาธานภายในพระเมรุ หลังจากเปลื้องพระลองชั้นนอกออกแล้ว เจ้าพนักงานจะนำพระโกศจันทน์เข้าประกอบพระโกศลองใน ซึ่งประดิษฐานบนตะแกรงเหล็กช่วงรัดเอวของพระจิตกาธานเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ

“ดอกไม้จันทน์” เป็นอีกตำนานสำคัญที่ใช้แสดงความเคารพแก่ผู้วายชนม์ ซึ่งอาจมีต้นเค้ามาจากการใช้ท่อนจันทน์เผาศพ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานในคราวที่เสด็จในงานพระศพกรมหมื่นอนุวัฒนจาตุรนต์ ความว่า



“ในนั้นมีกำหนดให้จัดของตั้งถวายในการพระราชทานเพลิงศพ คือให้จัดธูปเทียนเข้าตอกดอกไม้กับท่อนจันทน์ นึกแปลเอาว่า ธูปเทียนเข้าตอกดอกไม้นั้นสำหรับทรงขมาศพ ท่อนจันทน์เป็นฟืนสำหรับเผาศพ ภายหลังมาประดิษฐ์แก้ไขเป็นดอกไม้จันทน์ไปเสีย”

ข้อสันนิษฐานข้างต้นสอดคล้องกับ “เสฐียรโกเศศ” ที่ระบุว่า การเผาศพต้องมีธูปเทียนดอกไม้สำหรับขมาศพ ส่วนฟืนเผาก็ยังมีอยู่เห็นได้จากพิธีของหลวง สำหรับการตั้งศพของหลวง ต้องมีเครื่องขมาศพกับท่อนจันทน์ในการพระราชทานเพลิงศพ ภายหลังคิดประดิษฐ์ทำไม้จันทน์เป็นดอกไม้เพื่อให้เปลืองเนื้อไม้จันทน์น้อย ทำให้การใช้ดอกไม้สดกับท่อนจันทน์ยกเลิกไป จนสุดท้ายเหลือเพียงธูปเทียนใช้ต่างฟืน

ที่มาของ “ดอกไม้จันทน์” ยังอธิบายไว้ในหนังสือประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ...การตาย ของ “เสฐียรโกเศศ” ว่า...“ท่านผู้ใหญ่เมตตาอธิบายให้ฟังว่า การเผาศพเป็นแน่ว่าต้องมีธูปเทียนดอกไม้กับฟืน ธูปเทียนดอกไม้สำหรับขมาศพ ฟืนสำหรับเผา ย่อมยังเห็นปรากฏอยู่ได้ที่เครื่องขมาศพของหลวง มีกระทงเข้าตอกดอกไม้ด้วยจนทุกวันนี้ ในหนังสือเรียนฉบับหมอปลัดเล มีจดหมายบอกหน้าที่มหาดเล็กว่า ต้องตั้งเครื่องขมาศพกับท่อนจันทน์ถวายในการพระราชทานเพลิงศพ เข้าใจว่าภายหลังคิดประดิษฐ์เอาไม้จันทน์ทำเป็นดอกไม้ เพื่อกระเบียดกระเสียรให้เปลืองเนื้อไม้จันทน์น้อย เลยเตะเอาดอกไม้สดกับท่อนจันทน์กระเด็นไป ไม่มีอะไรจะเผาก็เอาธูปเทียนนั้นเองใส่ต่างฟืน...”

ธรรมเนียมการใช้ดอกไม้จันทน์อาจคลี่คลายมาจากการใช้เครื่องหอม หรือไม้หอม เพื่อขอขมาศพก่อนเผา ในวรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กล่าวถึงพระชนนีของอิเหนาว่า ขอขมาพระศพพระมารดาของพระองค์ เนื่องจากทรงตั้งครรภ์ จึงมาร่วมงานพระศพไม่ได้ และฝากเครื่องไทยทานพร้อมเครื่องหอมและไม้กฤษณามาแทน

ทั้งเครื่องหอมและไม้กฤษณา ที่พระชนนีของอิเหนาฝากมา ใช้เป็นสิ่งแทนพระองค์ในการขอขมาพระศพ ซึ่งมีหน้าที่เทียบเคียงกับดอกไม้จันทน์ ที่ใช้แสดงความคารวะและขอขมาผู้ล่วงลับไปแล้ว แม้ในพระราชนิพนธ์ดังกล่าวจะไม่ได้กล่าวถึงไม้จันทน์ แต่ธรรมเนียมการใช้เครื่องหอมและไม้หอมเผาพระศพ ก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติเสมอมาในหมู่เจ้านายชั้นสูง

ภายหลังเกิดการผสมผสานรูปแบบของพิธี ทั้งการใช้ดอกไม้จันทน์และท่อนจันทน์ในงานพระศพเจ้านายชั้นสูง ดังเช่นในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับธูปเทียนดอกไม้จันทน์ ที่เจ้าพนักงานทูลเกล้าฯถวาย แล้วทรงจุดไฟที่เทียนชนวน ทรงวางใต้ท่อนจันทน์บนพระจิตกาธาน ที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ ตลอดจนจัดตั้งซุ้มรับดอกไม้จันทน์ของราษฎรในท้องสนามหลวง

ไม้จันทน์ พระโกศจันทน์ และดอกไม้จันทน์ ทั้งสามสิ่งนี้ได้มีการนำมาใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมาโดยตลอด เพื่อถวายพระเกียรติอย่างสูงสุด

สำหรับ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกิจกรรม “โครงการจิตอาสาประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์พระราชทาน” ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้ร่วมทูลเกล้าฯถวายดอกไม้จันทน์ เพื่อแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีการคัดสรรดอกไม้ที่มีความหมายลึกซึ้ง 7 ชนิด มาสาธิตเป็นต้นแบบ “7 ดอกไม้จันทน์พระราชทาน” ประกอบด้วย

“ดอกดารารัตน์” เป็นดอกไม้โปรดของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระราชทานให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอยู่เสมอ ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงศึกษาและประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยดอกดารารัตน์นิยมมอบให้บุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อบอกว่าไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทน อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของเกียรติยศ ความกล้าหาญ และสัญลักษณ์ของความหวัง

“ดอกกุหลาบ” เป็นสัญลักษณ์ของความรักบริสุทธิ์ และความจงรักภักดีของปวงประชา เพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในฐานะกษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

“ดอกพุดตาน” เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์ชาวจีนเชื่อว่าเป็นไม้มงคล เพราะดอกพุดตานเปลี่ยนสีได้ถึงสามสีภายในวันเดียว เปรียบเสมือนวัฏจักรของชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย

“ดอกลิลลี่” แสดงออกถึงความรักบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์ และเทิดทูน ดุจอานุภาพแห่งความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทย

“ดอกกล้วยไม้” เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง ความรัก และความสง่างาม สื่อความหมายถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการให้ขจรขจายไปทั้งแผ่นดินไทย กึกก้องไปยังนานาประเทศทั่วโลก

“ดอกชบาทิพย์” เป็นดอกไม้ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อสื่อแทนการดับสูญ และความเป็นทิพย์ เพื่อถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงสถิตในดวงใจประชาราษฎร์ชั่วนิรันดร์

“ดอกชบาหนู” เปรียบเสมือนความอาลัยของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า เป็นสัญลักษณ์แทนดวงใจไทยทุกดวง

ดอกไม้จันทน์แทนดอกไม้ใจ...ร่วมอาลัยพ่อ ส่งขึ้นฟ้าสู่สวรรคาลัย กี่ชาติที่เกิดไป จักขอตามขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป.


(ภาพประกอบโดย : แทน โฆษิตพิพัฒน์)

***************

ศิลปิน : สุรเดช แก้วท่าไม้

ภาพ : คนึงหวล

ขนาด 75 x55 ซม. พาสเทล

แรงบันดาลใจ : “ได้แรงบันดาลใจจากข้อมูลช่วงที่ทุกพระองค์อยู่กันพร้อมหน้า และมีความสุขมาก ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา สวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ เมื่อพระองค์ต้องกลับไปอีกครั้ง โดยไม่มีในหลวง ร.8 คงเป็นช่วงเวลาเหงาลึกๆอย่างยากเกินจะบรรยายสิ่งใดเป็นอักษร แต่สื่อสารด้วยภาพเขียนนี้แทน”