ความวิปโยคโศกเศร้าของปวงชนชาวไทย เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงแห่งความจงรักภักดี เทิดพระเกียรติ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และรํ่าไห้อาลัย โดยครูเพลงและศิลปินชั้นแนวหน้าของประเทศไทยหลายต่อหลายท่าน ผ่านการรังสรรค์ ด้วยวิญญาณของผู้ประพันธ์ และขับขานด้วยหัวใจของเหล่านักร้อง บังเกิดเป็นผลงานอันลํ้าค่า มีความหมายมีเรื่องราวโจษขาน และเมื่อนำออกเผยแพร่ผ่าน “ยูทูบ” เว็บไซต์สำคัญของโลกยุคปัจจุบัน ก็มีการเปิดเข้ารับชมรับฟังอย่างล้นหลาม

หลายเพลงมีนักร้องอื่นๆนำไปร้องซํ้าทำต่อ จนทำให้ยอดเข้าชม หรือยอดวิวของเพลง ประวัติศาสตร์ ที่เหล่าศิลปินแต่งและร้องถวายจากใจ ก้าวเข้าสู่หลักหลายๆล้านวิว นับเป็นอีก ปรากฏการณ์หนึ่งของสังคมไทยที่สมควรแก่การบันทึกไว้


บทเพลงที่มีจำนวนคนเข้าไปดูมากที่สุดได้แก่ เพลง “พระราชาในนิทาน” เฉพาะช่องยูทูบที่เป็นทางการจริงๆมียอดคนดูถึง 22.4 ล้านครั้ง เกือบแตะ 23 ล้านวิวทีเดียว นี่ยังไม่นับที่มีคนอื่นนำไปต่อยอดทำอีกหลายเวอร์ชั่น เพลงนี้แต่งคำร้องและทำนองโดย มาเซน อาลี ซาห์ เรียบเรียงโดย ใจเอื้อ โกศลธนศังกร, มาเซน อาลี ซาห์ อำนวยการผลิตโดย เสถียรธรรมสถาน ได้รับการนำไปแปลเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ และภาษาจีน แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง

ที่มาของบทเพลงนี้ผู้แต่งเล่าว่า “เมื่อทราบข่าวเสด็จสวรรคต ผมก็แต่งเพลงขึ้นมาในคืนนั้นโดยมีภาพ “พ่อหลวง” เสด็จเยี่ยมพสกนิกรเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้ผมคิดถึงลูกสาวตัวน้อยซึ่งต้องเล่านิทานให้ฟังก่อนนอนทุกคืน และก็มีความคิดขึ้นว่า...ไม่มีพระราชาองค์ไหนในนิทาน หรือในโลกใบนี้เลยที่จะทรงเหนื่อยยากเหมือนพระองค์ ...ผมจึงได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมา” เมื่อประกอบกับการใช้เด็กๆ 200-300 ชีวิตร่วมร้องประสานเสียง จึงมีเสน่ห์ที่แตกต่างไปจากบทเพลงพ่อเพลงอื่นๆ และก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เพลงนี้มียอดวิวสูงมาก เพราะผู้ใหญ่ชอบฟัง และเด็กๆก็ชอบร้อง จึงสมเจตนารมณ์ของผู้แต่งเพลงที่ว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่พระราชาที่เรารักไปอยู่ในหัวใจของเด็กๆแล้ว ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้โตทันพระองค์ก็ตาม”

เพลงรำลึกถึง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ที่มียอดวิวสูงสุดอันดับสองในยูทูบได้แก่ “เล่าสู่หลานฟัง” เพลงที่ครูเพลงแห่งยุค สลา คุณวุฒิ ร่วมทำกับเพื่อนนักดนตรี เหล่าลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เรียบเรียงโดย ธีรพงศ์ ศักดิ์แก้ว


นับแต่เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งรวมกว่า 30 ปี ครูสลา ได้ชื่อว่าเป็น ครูเพลง นักแต่งเพลง แต่มีเพียงไม่กี่เพลงเท่านั้นที่ ครูสลา ขับร้องเอง และนี่เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ ครูสลา เข้าห้องอัดบันทึกเสียงตัวเองเพื่อฝากไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เนื้อเพลงแสดงออกถึงความรักอย่างลึกซึ้งต่อ “พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” มียอดคนดู 8.6 ล้าน และด้วยความที่สื่อด้วยคำร้อยที่สละสลวยและเรียบง่าย ทำให้ศิลปินเพลงลูกทุ่งลูกศิษย์ลูกหาของ ครูสลา มากมายขอนำไปต่อยอดร้องในอีกหลายเวอร์ชั่น โดยเฉพาะเพลงที่ ต่าย อรทัย เป็นผู้ร้องนั้นมียอดคนดูสูงที่สุดถึง 15.6 ล้านวิว ทีเดียว

เอ่ยถึง “ราชาเพลงเพื่อชีวิต” ต้องยกให้ แอ๊ด คาราบาว หรือ ยืนยง โอภากุล ซึ่งไม่เพียงแต่เพลงเพื่อชีวิตเท่านั้นที่สร้างชื่อให้ แอ๊ด ยังมีเพลงเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่โด่งดังมากก่อนหน้านี้นั่นคือเพลง “ผู้ปิดทองหลังพระ” ซึ่งแต่งพิเศษขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสปีมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา และเพลงนี้ที่ทำให้คนไทยจดจำพระนามเต็มของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ได้อย่างขึ้นใจ

สำหรับเพลงที่ แอ๊ด แต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระองค์หลังเสด็จสวรรคตคือเพลง “พ่อภูมิพล” ทุกสิ่งทุกอย่างพรั่งพรูออกมาจากหัวใจโดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชม.เท่านั้น แอ๊ด เล่าว่า “หลังจากคลายความโศกเศร้าลง ผมก็มานั่งคิดว่าจะทำอะไรเพื่อให้เป็นอนุสรณ์แด่พระองค์ หลังจากนี้ก็คงไม่มีอีกแล้ว ก่อนหน้านี้ผมแต่งเพลงให้พระองค์ท่านมาทั้งหมด 6 เพลงด้วยกัน เพลงนี้เป็นเพลงที่ 7 และเป็นเพลงสุดท้าย” ซึ่งเพลงสุดท้ายที่ แอ๊ด คาราบาว แต่งถวายแด่ “พ่อภูมิพล” นี้มีผู้เข้าชมในยูทูบถึง 14.7 ล้านวิว นับเป็นเพลงเพื่อในหลวง ร.9 ที่มีการเข้าชมสูงเป็นอันดับสาม

อันดับสี่ ได้แก่ “ฟ้าร้องไห้” ซึ่งต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการเพลงเมืองไทยเช่นกัน เมื่อขุนพลเพลงลูกทุ่งมารวมตัวกันกว่า 50 ชีวิตเพื่อร่วมกันขับขานเป็นตำนานอมตะให้คนเพลงรุ่นลูกรุ่นหลานได้กล่าวขานถึง เพลงนี้ศิลปินแห่งชาติและครูเพลง ชลธี ธารทอง ประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง ร่วมกับบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) รวบรวมตำนานเพลงลูกทุ่งที่ยังมีชีวิตและศิลปินชั้นนำมาร่วมร้องจัดทำออกมาเป็นมิวสิกวีดิโอเผยแพร่ในช่องยูทูบ เพื่อแสดงความอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีผู้เข้าชมถึง 9.4 ล้านวิว

บรรยากาศการถ่ายมิวสิกวีดิโอวันนั้นเสียงสะอื้นไห้ดังไม่ขาดสายภายในสตูดิโอเวิร์คพอยท์ ทุกใบหน้าเต็มไปด้วยคราบน้ำตา ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติวัย 77 ปีซึ่งร้องไห้จนเป็นลมกล่าวทั้งน้ำตาว่า “พระองค์ทรงเหนื่อยมา 70 กว่าปี ไม่มีใครทำได้เหมือนพระองค์แล้ว ขอให้ทุกคนสืบสานต่อไปนะ ทำความดีกันเถอะ ความดีไม่ไปไหนเสีย แล้ววันหนึ่งความดีจะตอบสนองเราเอง”

แม้วงการเพลงร็อกก็เปี่ยมไปด้วยความ จงรักภักดีและอาลัยไม่แพ้คนไทยอื่นๆ เมื่อนักร้องเพลงสไตล์ร็อกหรือร็อกเกอร์แห่งค่าย จีนี่ เรคคอร์ด อย่าง วงบิ๊กแอส, ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย และ เมธี อรุณ วงลาบานูน อีกทั้ง 3 พี่น้องนักดนตรี วงวีทรีโอ้ ได้รวมพลังกันสร้างสรรค์งานเพลง “ลูกขอสัญญา” แต่งเนื้อร้อง-ทำนองโดย 2 พี่น้องวงบิ๊กแอสคือ ขจรเดช พรมรักษา และ อภิชาติ พรมรักษา เนื้อหาของเพลงเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ที่ทรงต้องการเห็นคนไทยรักกัน

เจ๋ง–เดชา โคนาโล นักร้องนำวงบิ๊กแอส เป็นตัวแทนกล่าวถึงที่มาของเพลงนี้ว่า “พวกเราตั้งใจทำเพื่อถวายพระองค์ท่าน เป็นเพลงตัวแทนจากพวกเราคนไทยกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่อยากจะบอกว่าพวกเราอยากทำดีเพื่อพระองค์ท่านในเรื่องของการสามัคคีกัน อย่างที่พระองค์อยากเห็นคนไทยรักกัน พวกเราจึงขอสัญญากับพ่อหลวงว่าจะทำเพื่อพระองค์” ใครจะไปนึกว่าร็อกเกอร์รุ่นใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งดูเหมือนคนเลือดร้อน แต่ในวันที่เข้าห้องบันทึกเสียง ทุกคนร้องเพลงไปปาดน้ำตาไป เป็นภาพที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน และก็คงไม่ได้เห็นกันอีกแล้วแน่นอน มาถึงวันนี้มีคนเข้าไปชมเพลงนี้แล้วถึง 8 ล้านวิว สูงเป็นอันดับห้าของเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อถวายอาลัย

อีกหนึ่งศิลปินนักร้องผู้นำจิตวิญญาณ ชาวร็อกอย่าง เสก โลโซ ก็รังสรรค์เพลง “ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9” เพื่อแสดงความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 โดยใช้เวลาแต่งเนื้อและทำนองแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ทั้งนี้ เสก เล่าถึงแรงบันดาลใจว่า “ผมแต่งจากความรู้สึกของผมเอง ซึ่งก็คงไม่ได้บอกว่าเป็นตัวแทนของคนทั่วไปนะครับ แต่เนื้อหาอาจจะไปโดนใจใครหลายๆคน ซึ่งเกิดในรัชกาลนี้ สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ เรารักพระองค์ เทิดทูนพระองค์ ภาษาที่ผมเขียนก็เป็นภาษาง่ายๆ ไม่มีคำราชาศัพท์ใดๆ เพราะผมไม่ค่อยถนัดคำราชาศัพท์ ดีใจครับที่ได้เกิดในรัชกาลที่ 9 ซึ่งในหลวงของเราทรงมีพระปรีชาสามารถในทุกๆด้าน รวมถึงการทรงดนตรีที่หลายประเทศในระดับโลกยอมรับกัน” บางทีการสื่ออารมณ์ที่ดีที่สุดก็ต้องการแค่ความเรียบง่ายที่สุดอย่างที่ เสก ว่านี่แหละ ที่ทำให้เพลงนี้มียอดคนเข้าชมเป็นอันดับหก โดยมียอดคนดูถึง 7.4 ล้านวิว ทีเดียว

สำหรับเพลงที่มียอดวิวสูงอันดับเจ็ดได้แก่ “รักพ่อ...ไม่มีวันพอเพียง” มีคนเข้าไปดูทั้งสิ้น 7.1 ล้านวิว เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่ไพเราะมากความยาวเกือบ 5 นาที แต่งเนื้อและทำนองโดย สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา อำนวยการผลิตโดย บริษัท อาร์เอส ซึ่งจัดทำอย่างยิ่งใหญ่โดยรวบรวมศิลปินนักร้อง นักแสดง ดีเจคลื่นวิทยุ ผู้ประกาศรายการ ผู้ประกาศข่าว ในสังกัดกว่า 150 ชีวิตมาร่วมร้องประสานเสียง จุดเด่นของเพลงอยู่ที่การใช้ภาษาร้อยเรียงคล้องจองสละสลวย และฟังเข้าใจง่าย ท่วงทำนองไพเราะจับใจ

ก่อนหน้านี้ค่ายอาร์เอสได้ทำเพลงพ่อมาแล้วมากมาย อาทิ “ลูกของพ่อ” “คิดถึงพ่อ” “พอเพียง เพียงพอ” “88 พรรษาพ่อของแผ่นดิน” แต่สำหรับเพลงนี้มีความหมายพิเศษเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงตรากตรำทำงานกว่าสี่พันโครงการเพื่อคนไทยมาตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์

สำหรับเพลง “เรื่องเล่าของพ่อ” แต่งเนื้อร้องและทำนองโดย นัธทวัฒน์ มีดินดำ ขับร้องโดยนักร้องลูกทุ่งหมอลำจากที่ราบสูงลูกย่าโม ไหมไทย หัวใจศิลป์ แม้จะยืนอยู่ในวงการเพลงด้วยลำแข้งของตัวเอง แต่ ไหมไทย ก็ทำงานเพลงออกมาได้ไม่แพ้ค่ายยักษ์และวงดังทั้งหลาย นักร้องตัวเล็กๆ คนนี้แต่หัวใจใหญ่โตนัก หากินในเส้นทางเพลงตั้งแต่อายุยังน้อย ระเหเร่ร่อนเป็นศิลปินสังกัดทั้งค่ายเล็กค่ายใหญ่มามากมาย ถนัดทั้งหมอลำ ลำซิ่ง ลูกทุ่ง ความสามารถรอบด้าน เป็นขวัญใจคนอีสานตัวจริง ผลงานเพลง “เรื่องเล่าของพ่อ” มียอดวิวสูงถึง 4.8 ล้าน อยู่ในอันดับแปดของบทเพลงที่ประพันธ์หลังเหตุการณ์เสด็จสวรรคต เนื้อหาเล่าถึงชีวิตตัวเองที่ฝึกร้อง ฝึกรำ ทำมาหากินบนแผ่นดินพ่อ เป็นบุญนักที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินรัชกาลที่ 9 จะขอเก็บทุกคำสอนของพ่อไว้เป็นตำนานเล่าสู่ลูกหลานต่อไป...เขียนเพลงนี้เหมือนนั่งอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งแผ่นดิน

จากการไปร่วมพิธีเคลื่อนพระบรมศพ บรรยากาศอันเศร้าสลดของทุกคนในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 นับเป็นแรงบันดาลใจให้นักแต่งเพลงและนักร้องเพลงร็อกอีกคนหนึ่ง บดินทร์ เจริญราษฎร์ หรือ เป้ วงมายด์ กลับมานั่งแต่งเพลง “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” เสร็จสิ้นภายในเวลาแค่คืนเดียว ซึ่งเพลงนี้ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับเก้า เป้ เล่าว่า “ความรู้สึกมันเอ่อล้นขึ้นมาเรื่อยๆจนกระทั่งผมเริ่มร้องไห้ครั้งแรก แล้วรู้สึกว่าเก็บมันไว้ไม่ไหวแล้วก็เลยต้องค่อยๆเขียนเป็นเพลงขึ้นมา ในระหว่างที่ผมเขียนก็เปิดพระราชกรณียกิจไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วเพลงนี้ก็เลยออกมาคล้ายๆกับลูกพูดกับพ่อ ผมตั้งใจเขียนเพลงนี้เพื่อที่จะเล่าเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้แก่ลูกหลานของพวกเราได้ฟังกัน จะได้รู้ว่าทำไมเราถึงเรียกพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ว่าพ่อ ทำไมทุกคนถึงรักพระองค์มากขนาดนี้”

แม้จะร้องเพลงมาร่วมครึ่งชีวิตแล้ว แต่เป้ ยอมรับว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ร้องยากมากที่สุด ที่ว่ายากนั้นหมายถึงจะร้องให้จบเพลงอย่างไรโดยไม่ร้องไห้ ซึ่งก็ไม่เพียงแต่คนร้องเพลงที่ร้องไห้ เพราะคนฟังเองก็ร้องไห้ไม่ต่างกัน เป้ ถอดหัวใจแต่งออกมาได้ซาบซึ้งกินใจ “ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” เป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจคนไทยโดยมียอดคนดูมากถึง 4.3 ล้านวิว

ยังมีอีกหลายครูเพลงและอีกหลายศิลปินที่รังสรรค์งานเพลงเพื่อถวายอาลัยและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาทิ เพลง “13 ตุลา หนึ่งทุ่มตรง” โดยผู้แต่งเนื้อและผู้ร้องคือ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เป็นเพลงที่บอกเล่าเหตุการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสู่สวรรคาลัยได้อย่างเห็นภาพชัดที่สุด

เพลง “พ่อครับ” แต่งเนื้อและขับร้อง โดย ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม หรือ ฟองเบียร์ นับเป็นเพลงแรกที่มีการแต่ง-ร้องและเผยแพร่สำเร็จพร้อมในวันเดียวกับวันเสด็จสวรรคต, เพลง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ซึ่งได้ยินคุ้นหูจากสื่อประชาสัมพันธ์ของกองทัพ เป็นผลงานการประพันธ์ของกรม ดุริยางค์ทหารบก เพื่อเทิดพระเกียรติ ถวายความอาลัย “ในหลวงรัชกาลที่ 9” องค์จอมทัพไทย เพื่อเป็นการแสดงซึ่งความจงรักภักดี ขับร้องโดย สุทธิพงษ์ วัฒนจัง หรือ ชมพู ฟรุตตี้, เพลง “วอนฟ้าขอเทวดาคืน” แต่งคำร้องและทำนองโดย ปรารถนา เพชรสุวรรณ ผู้ขับร้องก็คือ ไมค์ ภิรมย์พร, เพลง “เพลงรักจากฟ้า” ของศิลปินวง โปเตโต้ คำร้องและทำนองโดย เหมือนเพชร อำมะระ ซึ่งนำเพลงพระราชนิพนธ์ 18 บทเพลงมาร้อยเรียงไว้ในเพลงรักเพลงนี้

นับเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่จะจารึกไว้ในความทรงจำไปอีกนานเท่านาน และจะกลายเป็นตำนานแห่งความจงรักภักดีของเหล่าครูเพลง และนักเพลงทุกๆประเภททุกค่าย โดยไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ที่พร้อมใจกันทุ่มเทหัวใจ และมันสมองกลั่นออกมาเป็นบทเพลงถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเป็นที่เคารพรัก และศรัทธาของประชาชนทั่วทั้งแผ่นดินไทย.

******************

ศิลปิน : สุวิทย์ ใจป้อม

ภาพ : ทรงดนตรี

ขนาด 60 x80 ซม. สีอะคริลิกบนผ้าใบ

แรงบันดาลใจ : “ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นทั้งคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงมีพระอัจฉริยภาพ ในการทรงดนตรี และพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน อีกทั้งทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ทั้งทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปะแขนงต่างๆอย่างแท้จริง สมดั่งที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”