ในเดือนตุลาคมนี้ เป็นโอกาสสุดท้ายที่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศจะได้ร่วมส่งเสด็จ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 25-29 ต.ค.2560 และเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมา เหล่าปูชนียาจารย์ของโรงพยาบาลศิริราชทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จากความทรงจำ เมื่อครั้งมีโอกาสถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ขณะประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้น้อมนำพระจริยวัตรอันงดงามมาเป็นแสงประทีปนำทางแห่งชีวิต

หนึ่งในอาจารย์แพทย์ ผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดในฐานะหัวหน้าคณะแพทย์ถวายการรักษา “ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์” อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อโรงพยาบาลศิริราชว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อศิริราชมากเหลือล้น ในระหว่างที่ทรงมีพระอาการประชวรและประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ทุกครั้งที่ทรงมีพระอาการดีขึ้น จะทรงงานทันที ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี อินเตอร์เน็ต ต้องเข้าถวายพระองค์ท่าน พวกเราได้เห็นก็แอบชื่นชม

ทรงแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด

“การทำงานในฐานะคณบดีในตอนนั้น (2550-2554) นอกจากงานหลักแล้วยังมีงานที่รู้สึกหนักใจ คือ การหาทุน 4,500 ล้านบาท ในการสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช ซึ่งจะมีทั้งอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัย อาคารศูนย์ความเป็นเลิศในการบริการทางการแพทย์ และสวนเฉลิมพระเกียรติฯ โดยโครงการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานโครงการ อีกเรื่องหนักใจคือปัญหาการจราจรในบริเวณโรงพยาบาลและโดยรอบ ซึ่งแก้ไม่ได้สักที ในระหว่างที่พระองค์ประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่ศิริราช พวกเราก็อยากให้ทรงพระเกษมสำราญบ้าง จึงกราบบังคมทูลฯ ให้เสด็จฯไปยังที่ต่างๆ ของโรงพยาบาล ทั้งท่าน้ำ และอาคารดาดฟ้า ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรสภาพการจราจรที่ติดขัดโดยรอบ พร้อมทั้งทรงวิตกว่าหากสถาบันนี้เกิดขึ้น ประชาชนจะทุกข์ยากกับสภาพการจราจรมากขึ้น จึงทรงเตรียมการล่วงหน้า โดยรับสั่งว่า “จะช่วยแก้การจราจร” จึงเป็นที่มาของโครงการต่างๆ ทั้งการสร้างสะพาน, สร้างส่วนขยายของถนน และสร้างสะพานลอยฟ้า ก่อนที่จะลงมือทำ พระองค์รับสั่งว่า “จะทำอะไรแล้วแต่ อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน” ด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวไกล จึงทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลศิริราชนับหมื่นๆคนมีความสะดวกสบายในการสัญจรมากขึ้น”

ศ.นพ.ประสิทธิ์ - ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธีรวัฒน์
ศ.นพ.ประสิทธิ์ - ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ธีรวัฒน์

น้ำพระทัยหลั่งรดใจชาวศิริราช

“ขณะทำหน้าที่หัวหน้าคณะแพทย์ถวายการรักษาในหลวง รัชกาลที่ 9 ถือว่าเป็นการทำงานยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ไม่มีงานอะไรสำคัญเท่างานนี้ ทำแล้วมีความสุขมาก ทั้งแพทย์, พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนของศิริราช ทำงานกันอย่างสุดชีวิต ทีมพยาบาลบอกเสมอว่า ถึงจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่เคยท้อ เพราะพระเมตตาของพระองค์เป็นสิ่งที่สร้างกำลังใจให้พวกเราเสมอ ทุกครั้งที่เสด็จฯลงลิฟต์มาข้างล่าง เวลาประตูลิฟต์เปิด พระองค์จะทรงแตะบ่า รปภ.เบาๆ พร้อมรับสั่งว่า “ขอบใจนะ” บางครั้งก็มีรับสั่งถามว่า “วันนี้ได้นอนหรือยัง” และด้วยความที่โรงพยาบาลติดกับแม่น้ำ เคยมีรับสั่งถามอย่างห่วงใยว่า “ชาวศิริราชว่ายน้ำเป็นกันทุกคนหรือเปล่า” เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 ทรงมีรับสั่งให้ผมรายงานเรื่องน้ำท่วมทุกวัน เพื่อเตรียมการรับมือกับน้ำท่วมได้ทันท่วงที แม้สถานการณ์ที่โรงพยาบาลน่าวิตก แต่พวกเราทุกคนกลับมีความสุขมาก เพราะเรามีพ่อหลวงอยู่กับเรา ไม่ว่าพวกเราจะเหนื่อยหนักแค่ไหน แต่พวกเราก็เหนื่อยไม่เท่าพระองค์ท่าน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเตือนสติพวกเราตลอดว่าต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดีอย่าไปดูถูกใคร”

ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน

“เรามีตัวอย่างอันดีงามแล้ว ก็ขอให้พวกเราตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ศึกษารูปแบบการทำงานของพระองค์ท่าน แล้วนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ดังนั้นอย่าลังเลที่จะสร้างคุณงามความดีเพื่อพ่อหลวงของเรา”
อีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์คนสำคัญที่ได้ถวายการรักษาในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างใกล้ชิด และเป็นหนึ่งในผู้มีโอกาสถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย ทำหน้าที่ประคองพระบรมโกศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย “ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บอกเล่าถึงความผูกพันระหว่างชาวศิริราชกับพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย

“หลังจากวันที่ 13 ตุลาคม ปีที่แล้ว เป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆ ที่ชาวศิริราชยังอยู่ในห้วงทุกข์ ทุกครั้งที่พวกเราเดินทางผ่านชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ทุกคนจะต้องหลั่งน้ำตาด้วยความคิดถึงพระองค์ท่าน จนพวกเราต้องเริ่มกลับมาทบทวนว่า สิ่งใดที่เราควรจะทำมากกว่าการเสียใจ เพื่อทดแทนพระคุณของพระองค์ท่าน เสียใจนั้นเสียใจได้ แต่การมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ พวกเราชาวศิริราชได้สะสมพลังที่จะสืบสานพระราชปณิ-ธานของพระองค์ท่านไว้อย่างเต็มเปี่ยม และเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา เราได้จัดทำคลิป ความฝันอันสูงสุดที่ชาวศิริราชตั้งใจ จะทำให้กับแผ่นดินนี้ เพื่อพระองค์ท่าน โดยสิ่งแรกในการสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน คือ การสร้างอาคารนวมินทร์ 84 พรรษา ซึ่งจะเป็นตัวแทนของน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์ทรงมีต่อผู้ป่วยด้อยโอกาส อาคารนี้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวของในหลวง รัชกาลที่ 9”

ทรงสถิตอยู่ในใจคนไทยตลอดไป

“จิตใจเราคงจะถดถอยไปอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมนี้ แต่สุดท้ายจะกลับขึ้นมาว่า พระองค์จะอยู่กับเราตลอดไป ถ้าเราสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน จริงๆผมอยากให้คนไทยทุกคนนำสิ่งนี้ไปทบทวน อีกไม่นานเรื่องต่างๆของพระองค์ท่านอาจจะค่อยๆจางหายไปจากคนไทย แต่คำสอนของพระองค์ท่านจะไม่มีวันจางหายไปจากคนไทย ที่จริงผมไม่อยากจะพูด แต่เอาเป็นว่าเนื่องจากผมได้มีโอกาสร่วมทำหน้าที่สำคัญในพระราชพิธีดังกล่าว ผมเชื่อว่า มือ 2 คู่ คือ ผมกับอาจารย์ประดิษฐ์ ที่จะประคองพระบรมศพ ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ จะเป็นมือของคนไทยทั้ง 68 ล้านคน ที่ร่วมกันประคองพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็อยากให้ทุกคนร่วมส่งเสด็จพระองค์ท่านอย่างพร้อมเพรียงกัน”.

ทีมข่าวหน้าสตรี