โฆษก อสส.ชี้ใช้ ม.44 ชะลองดเว้นโทษ "พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว" ฉบับใหม่ ไม่เอื้อประโยชน์ทุจริตเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้เจตนาดี แก้ปัญหาค้ามนุษย์ ด้านนัก ก.ม.ระบุปมออกกฎหมาย "สนช.-รบ." แก้กันไปมา สะท้อนการไม่รับฟังความเห็นประชาชน ก่อนบังคับใช้...
จากกรณีที่มีการใช้อำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.สั่งให้ชะลอ หรือเลื่อนการบังคับใช้ชะลอบทลงโทษ 4 มาตราของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่รัฐบาลออกบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.60 ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายในส่วนของทางสำนักงานอัยการสูงสุด จะมีสำนักงานวิชาการคอยเฝ้าระวังดูอยู่ในเรื่องการปฏิบัติอยู่ เพราะเมื่อหากมีกฎหมายออกมาแล้ว ทำให้การปฏิบัติยังเข้าใจไม่ตรงกัน สำนักงานวิชาการโดยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ดูแลเรื่องนี้อยู่จะเสนออัยการสูงสุดเพื่อที่จะออกหนังสือเวียนชี้แจงและแนะแนวทางกำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายออกมาอย่างรีบด่วน ส่วนในการปฏิบัติตอนนี้เมื่อมีกฎหมายออกมาประกาศใช้ ทางอัยการจะเอากฎหมายมาตีความ แต่ก็ยังอาจตีความไม่ตรงกัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ ส่วนเรื่องที่มีคำพิพากษาที่ศาลระยองออกมาในเรื่องนี้นั้น ตนยังไม่ทราบในรายละเอียดข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่า การออกข้อยกเว้นเรื่องการรับผิดของกฎหมาย จะมีส่วนเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้หาผลประโยชน์หรือไม่ ร.ท.สมนึก กล่าวว่า เท่าที่ดูกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะส่งผลไปถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกตำหนิในเรื่องนี้จากประชาคมโลก ซึ่งตนมองว่าไม่ได้เป็นการสร้างโอกาสในการหาผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเรื่องการหาผลประโยชน์เป็นเรื่องของตัวบุคคลจะไปเหมาทั้งหมดได้ รัฐบาลออกกฎหมายตรงนี้มาส่วนหนึ่งเพราะเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานโดยถูกต้อง และไม่ได้ถูกตำหนิจากนานาชาติว่าเราใช้แรงงานลักลอบเข้าเมือง แต่บางทีการออกกฎมายมาครั้งแรกอาจจะขาดตกบกพร่องไม่รัดกุมอยู่บ้าง แต่เมื่อรัฐบาลเห็นความจำเป็นก็ออกกฎเกณฑ์มาอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งความตั้งใจของรัฐบาลคงอยากแก้ปัญหาให้ครบถ้วนเพื่อประโยชน์ของชาติที่สุด
...
ด้านแหล่งข่าวนักกฎหมายระดับสูง อธิบายความเห็นในเรื่องนี้ว่า สำหรับการออกกฎหมายดังกล่าวเป็นการงดใช้โทษ เนื่องจากคำสั่ง คสช.ให้ระงับการดำเนินคดี ซึ่งตรงนี้ถือว่ากฎหมายจะมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นคุณไม่ใช่โทษที่สามารถทำได้ ทำให้คดีที่อัยการฟ้องให้ลงโทษอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถลงโทษได้ หรือคดีที่มีการฟ้องไปก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างคดีที่อัยการฟ้องมาแล้วแต่ศาลก็ไม่ได้ลงโทษ เพราะคำสั่ง คสช.มีผลย้อนหลัง ช่วงนี้มาตราตามคำสั่ง คสช.จึงต้องงดการลงโทษไปก่อน เนื่องจากโทษตามกฎหมายเดิมจะไม่มีตาม พ.ร.ก.ตัวใหม่ที่เพิ่งออกมา และคำสั่ง คสช.ที่ให้งดเว้นโทษระบุไว้
เมื่อถามว่า จากการออกกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการเอื้อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีการใช้ช่องทางทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ได้มากขึ้นหรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นเรื่องทุจริตย่อมสามารถที่จะเกิดได้เสมอ หากเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้ช่องว่างของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่คิดว่าจะไม่ใช่เพราะเรื่องของการแก้กฎหมายนี้โดยตรง ซึ่งถ้าเรามองในแง่ของกฎหมายที่บอกมาว่าไม่ได้บังคับโทษ ทำให้สิ่งที่ทำให้เกิดการทุจริตจะยิ่งยาก เพราะเมื่อกฎหมายบอกไม่ต้องรับโทษผู้ต้องหายิ่งไม่ต้องกลัวความผิด แต่จะมองได้ในแง่มุมของความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย ที่ตอนแรกบอกให้รับโทษ แต่พอมาตอนหลังกลับบอกไม่ต้องรับ ทำให้สะท้อนถึงการไม่กลั่นกรองกฎหมายที่รอบคอบ ทำให้คนมองว่าเพราะ สนช.ไม่ได้มาจาก ส.ส.ที่ใกล้ชิดกับประชาชน กระบวนการออกกฎหมายที่ออกมาขาดการสอบถามความเห็น นึกจะออกกฎหมายก็ออก ส่วนอีกปัญหา คือ เรื่องการบังคับใช้ย้อนหลัง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะกระทบการสั่งสำนวนของอัยการในช่วงนี้ ในเมื่อจากกฎหมายตามประกาศ คสช.ยกเว้นโทษตาม พ.ร.ก.คนต่างด้าว ฉบับใหม่ เพราะ พ.ร.บ.คนต่างด้าวฉบับเดิมนั้น ถูกยกเลิกไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ากระทบกับนโยบายการสั่งคดีอัยการโดยตรง ซึ่งก็มีคดีตัวอย่างคือคดีที่อัยการฟ้องตามกฎหมายเก่า แต่ต่อมามีคำสั่ง คสช.งดเว้นโทษ ศาลก็เลยไม่ลงโทษตามที่อัยการฟ้องให้ยกฟ้องไป
"มีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม ม.37 (1) ประกอบ ม.75 ที่ พ.ร.ก.ไม่ยกเว้นบังคับโทษ แต่ปกติอัยการจะไม่ฟ้องให้ลงข้อหานี้ เพราะโทษตาม พ.ร.บ.ต่างด้าวแรงกว่า แต่น่าสนใจว่าถ้าอัยการจะมาฟ้องให้ลงโทษตาม ก.ม.คนเข้าเมืองข้างต้น จะเป็นยังไง ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะปล่อยไปก่อน หรือว่ายังจะฟ้องแต่เป็นข้อหาที่เบาหน่อย คือถึงจะลงโทษตาม พ.ร.ก.ต่างด้าวไม่ได้ แต่ลงตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ได้แต่ในความเห็นผมว่าสมควรน่าจะปล่อยไปก่อน ในเมื่อโทษตาม พ.ร.ก.แรงกว่า และเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกัน มิฉะนั้นจะมาขอให้ลงโทษเพิ่มโทษให้หนักขึ้นในภายหลังไม่ได้" แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มาตรา 37 (1) ระบุว่า คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ต้องไม่ประกอบอาชีพหรือรับจ้างทำงาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ถ้ากรณีใดมีกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายนั้น มาตรา 75 คนต่างด้าวผู้ใดไม่ปฎิบัติตามมาตรา 37 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มีรายงานว่า สำหรับคดีลักษณะความผิดที่เป็นเกี่ยวกับคดีคนต่างด้าว ที่ศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาไปนั้น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 5116/2560 ที่พนักงานอัยการจังหวัดระนอง ยื่นฟ้อง นายคอน ไม่มีนานสกุล ในความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 22 ,62 วรรคหนึ่ง, 81 เรียงกระทงลงโทษฐานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานไม่เข้าช่องทางตามที่กำหนด จำคุก 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือนปรับ 4 พันบาท รวมจำคุก 8 เดือน ปรับ 8 พันบาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 เดือนปรับ 4 พันบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 เห็นว่า ภายหลังการกระทำผิด มี พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 (1) บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 8 บัญญัติให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดมาตรา 101 กำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวไว้ แต่ต่อมาวันที่ 4 ก.ค. พ.ศ.2560 มีคำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คือ ข้อ 1.ให้มาตรา 101 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป และข้อ 6 คำสั่งให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.60 เป็นต้นไป ซึ่งมีผลให้กำหนดโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 101 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลให้กำหนดโทษในมาตรา 101 ยังไม่บังคับใช้
นอกจากนี้ยังถือว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ยังไม่ได้กำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่กำหนดโทษของกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดแตกต่าง ข้อกำหนดแตกต่างกับกำหนดโทษของกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด จึงให้ใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ไม่มีกำหนดโทษไว้สำหรับความผิดดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยให้ยกฟ้องความผิดฐานนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช.สั่งให้ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกอบด้วย มาตรา 101 วรรคหนึ่ง คนต่างด้าวซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจากการกระทําความผิดฐานค้ามนุษย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (ทั้งนี้ มาตรา 8 บัญญัติว่า ห้ามคนต่างด้าวทํางานที่กําหนดไว้ในประกาศของ รมว.แรงงาน ซึ่งประกาศกําหนดให้งานใด เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทําในท้องที่ใดเมื่อใด โดยห้ามเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไข หรือทํางานโดยไม่มีใบอนุญาตทํางาน) วรรคสอง ในกรณีที่คนต่างด้าวซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ยินยอมเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่พนักงานสอบสวนกําหนดแต่ต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวัน พนักงานสอบสวน จะเปรียบเทียบปรับก็ได้
และเมื่อได้ดําเนินการให้คนต่างด้าวนั้นเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกัน มาตรา 102 ผู้ใดรับคนต่างด้าวเข้าทํางานโดยฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน (ทั้งนี้ มาตรา 9 ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวทํางานที่กําหนดห้ามไว้ในประกาศของ รมว.แรงงาน หรือรับคนต่างด้าวทํางานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทํางาน) มาตรา 119 คนต่างด้าวผู้ใดทํางานโดยไม่ได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท (ทั้งนี้มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า งานใดที่มิได้ห้ามไว้ในประกาศของ รมว.แรงงาน คนต่างด้าวจะทําได้ต้องได้รับอนุญาตให้ทํางานจากนายทะเบียน
เว้นแต่คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อทํางานอันจําเป็นและเร่งด่วนตามที่อธิบดีประกาศกําหนดซึ่งมีระยะเวลาทํางานให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวัน แต่คนต่างด้าวจะทํางานนั้นได้เมื่อได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบ มาตรา 122 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาทถึง 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน (ทั้งนี้มาตรา 72 บัญญัติว่า ห้ามผู้ใดรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทํางานกับตนเข้าทํางาน).