"เรืองไกร" เตรียมยื่นหนังสือร้องผู้ตรวจฯ ปม ก.ม.ป.ป.ช.ตราไม่ชอบ 11 ก.ค.นี้ ดำเนินการส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัยชี้ขาด

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 60 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อย้อนไปดูการแก้กฎหมาย ป.ป.ช.ในมาตรา 66 ช่วงเดือน ก.พ. 2550 ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบการแก้สาระสำคัญว่า "ในกรณีที่มีผู้เสียหายกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี..." เป็นคำว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัย หรือมีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี..." พบว่าขณะนั้นมีสมาชิก สนช. 241 คน แต่เข้าร่วมประชุมเพียง 111 คน น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง กระบวนการตรากฎหมายจึงไม่ชอบ แต่ไม่มีการทักท้วงจนกฎหมายมีผลบังคับใช้ เดือน พ.ค. 2550 หากพิจารณาตามหลักความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกกล่าวหาจากมาตรา 66 โดยไม่มีผู้เสียหายมาร้อง ย่อมไม่ได้รับความเป็นธรรม มีคดีสำคัญ อาทิ คดีสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2551 คดีระบายข้าวแบบจีทูจี คดีจำนำข้าว ศาลหรือคู่ความสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวชอบหรือไม่ และจำเลยคดีเหล่านี้ควรยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลขอให้ศาลรอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว เชื่อว่าผลของคำวินิจฉัยจะเป็นไปในแนวทางเดิมที่เคยวินิจฉัยไว้แล้ว 7 เรื่อง คือ เมื่อองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ย่อมทำให้กระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสิ้นผลไป

นอกจากนี้ นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ จึงเป็นกรณีจำเป็นรีบด่วนที่ต้องทำหนังสือร้องนำร่องให้คู่ความในคดีต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยจะไปยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยเร็ว ในวันที่ 11 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

...