สปท.เห็นชอบรายงานปฏิรูปสื่อออนไลน์คุมโซเชียลมีเดีย เสนอจัดระเบียบเข้มงวดสแกนลายนิ้วมือ-ใบหน้าลงทะเบียบมือถือระบบเติมเงิน พร้อมตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์ ยืนยันตัวตนผู้ใช้โทรศัพท์

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.60 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มี น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท. ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณารายงาน "ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย"

โดย พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน รายงานต่อที่ประชุมว่า สิ่งที่น่าวิตกในปัจจุบัน คือ สื่อกระแสหลักใช้สื่อออนไลน์มาแข่งขันในการนำเสนอข่าว ทำให้ฆาตกรฆ่าหั่นศพกลายเป็นเน็ตไอดอล ซึ่ง กมธ.เสนอแนวทางปฏิรูป 2 ระยะได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน ต้องทำให้เสร็จปี 2562 อาทิ การจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย กสทช.ควรจัดระเบียบลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงิน ให้ใช้ลายนิ้วมือ-ใบหน้าควบคู่กับการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน และควรจัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงตัวตนของผู้ใช้โทรศัพท์ให้เป็นข้อมูลไว้ แต่ไม่ได้เป็นข้อมูลสาธารณะที่ใครมาตรวจสอบก็ได้ ส่วนแนวทางปฏิรูประยะยาวนั้น อาทิ การปลูกจิตสำนึกที่ดีในการใช้สื่อออนไลน์ การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับ ปอท. หามาตรการการลงโทษปรับเจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ ที่ปล่อยให้เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิดหรือเนื้อหาที่มีลักษณะชักชวนให้นำไปสู่การกระทำรุนแรง เพื่อให้เจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ร่วมรับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ทำให้เกิดการแพร่หลายของเนื้อหาดังกล่าว

...

จากนั้น สมาชิก สปท.ทยอยสิทธิอภิปรายแสดงความเห็นตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีบางมาตรการกระทบสิทธิมนุษยชน โดย นายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท. กล่าวว่า การที่ไทยจะไปเจรจากับบริษัทกูเกิลหรือแอปเปิล ต้องยอมรับเป็นไปได้ลำบาก เพราะอำนาจต่อรองของไทยไม่ได้อยู่ในสายตาของบริษัทเหล่านี้ ดังนั้นต้องสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชน ถ้าให้รัฐดำเนินการฝ่ายเดียว จะเหมือนกับขี่ช้างจับตั๊กแตน และอยากให้ทบทวนรายงานฉบับนี้ทั้งหมด เพราะอ่านแล้วจับไม่ได้ว่าหัวใจของเรื่องจะแก้ไขปัญหาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียได้อย่างไร

ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท. อภิปรายว่า การที่ กมธ.เสนอให้ประชาชนต้องสแกนลายนิ้วมือ-ใบหน้า ในการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน เหมือนการทำหนังสือเดินทางนั้น ไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดใช้แนวทางนี้บ้าง หากนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ทั้งประเทศ จะเป็นการดำเนินการเกินสมควรหรือไม่ และขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะการแค่มีบัตรประชาชนสามารถบอกอะไรได้ทุกอย่างอยู่แล้ว ทั้งนี้หลังจากสมาชิก สปท.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมมีมติ 144 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าวส่งไปยัง ครม.ต่อไป.