กับกรณี นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อาจลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่า คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถ้าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ก็ต้องลาออกก่อน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งนายกฯ คือ ครม. ถ้าจะลง ส.ส.ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นคนที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบันก็ไม่มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.อยู่แล้ว และหากจะมาเป็นนายกฯ คนนอกก็อยู่ที่สภา ที่มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว.เห็นพ้องต้องกัน เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

“เมื่อนายกฯ ไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้ ท่านก็คงไม่ตั้งพรรคการเมือง เพราะลงสมัครไม่ได้อยู่แล้ว คุณสมบัติที่จะเป็น ส.ส.ได้ไม่ครบ ส่วนที่พูดถึงการตั้งพรรคเล็กหรือตั้งพรรคนอมินีขึ้นมาและรวมกันเพื่อหนุน พล.อ.ประยุทธ์ นั้น อย่าไปพูดว่าพรรคนอมินี เพราะคนที่จะลงสมัครับเลือกตั้งเขาก็ต้องมีพรรคกัน ซึ่งการสนับสนุนก็ขึ้นอยู่ที่สถานการณ์ขณะนั้น และคะแนนเสียงของแต่ละพรรคมีเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต ดังนั้นใครที่จะหนุนใครก็พูดไม่ได้ เพราะคะแนนเสียงมีอยู่ในมือเท่าไรยังไม่รู้เลย”

...

กับคำพูดนี้ของนายเสรี ก็ชี้ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และหัวหน้า คสช. ไม่มีทางที่จะไปตั้งพรรค และลงสมัครส.ส. เพื่อไปเลือกตั้งได้ เพราะติดล็อกต้องลาออกภายใน 90 วัน ตามรธน.

ประกอบกับคำพูดของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า ยังไม่มีการรายงานว่า พบสิ่งใดที่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากไม่มีประเด็นที่ขัดเจตนารมณ์ กกต.ก็อาจมีมติไม่ทำความเห็นส่งกลับ สนช.ส่วนการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ร่วมกัน 3 ฝ่ายในวันที่ 4 ก.ค.นี้ ประธานกกต.จะเป็นตัวแทน กกต.ไปชี้แจง โดยจะนำเหตุผลและคำอธิบายต่างๆ ไปขยายความ เพื่อให้เข้าใจว่า ทั้ง 6 ประเด็นที่ กกต.เสนอความเห็นกลับไปนั้น ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างไร

ปัญหาร่างกฎหมายลูก จะส่งผลให้โรดแม็ปการเลือกตั้งเลื่อนออกไปหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าโรดแม็ปการเลือกตั้งจะไม่ขยับ เพราะกฎหมาย 2 ฉบับแรก คือ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พิจารณาในช่วงต้นของกรอบระยะเวลา 8 เดือน ในการทำกฎหมายลูก ซึ่งขณะนี้เพิ่งจะเข้าสู่เดือนที่ 2 ของการทำกฎหมาย หากว่าต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหรือต้องร่างใหม่ ตนคิดว่าน่าจะทำทันภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้ แต่ถ้า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.พิจารณาในช่วงท้ายๆ ของระยะเวลาการทำกฎหมายลูก หากมีปัญหาต้องร่างใหม่ ก็อาจจะกระทบได้

ยิ่งเห็นได้ชัด...หากจะเลื่อนเลือกตั้งก็เป็นไปได้ไม่ง่าย นั่นยิ่งทำให้หนทางที่การเลือกตั้งครั้งต่อไป มีขึ้นเมื่อใด ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ก็มีโอกาสสูงที่จะติดลมบนได้เป็น "นายกฯ คนนอก" อย่างที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำเพื่อไทย ออกมา ทั้งตอกย้ำ ทั้งค่อนแคะ รวมทั้งนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้า ปชป. ออกมายุส่ง ให้นายกฯ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไปเลย 

ด้านหนึ่ง ก็กระทบกระเทียบบอกว่า ไม่อยากให้ "บิ๊กตู่" เอาเปรียบหากจะเล่นการเมืองก็ให้มาสู้กัน สตาร์ตที่จุดเริ่มต้นพร้อมกัน เท่ากัน 

อีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนที่ติดตามการเมืองมาตลอดก็พอทราบว่า เหล่าการเมืองอาชีพเองก็ไม่อยากให้ใครมามีอำนาจกำกับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่า คสช.กดดันและควบคุมกลุ่มนักการเมืองอย่างไรบ้าง เรียกได้ว่า แทบจะทำอะไรไม่ได้เอาเลย แน่นอนคงเข็ดขยาด และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไปก็ตาม 

มาถึงนาทีนี้ "ฟ้าและดิน" เท่านั้น ที่จะรู้ว่า อนาคตข้างหน้าการเมืองของไทยจะมีนายกฯ คนนอก ที่ชื่อบิ๊กตู่ หรือไม่ ถึงแม้ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มมีความพยายามคิดโมเดล และพยายามขับเคลื่อนไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น แต่อย่างที่คนโบราณว่าไว้ "คนลิขิต หรือจะสู้ฟ้าลิขิต"