ดุสิตโพล คน 54.28 หนุนนักการเมือง เรียกร้องประเด็นเกี่ยวกับ ก.ม.ลูก เพราะช่วยสะท้อนปัญหา กระตุ้นรัฐบาลทำงานรอบคอบขึ้น 76.49 เชื่อ ทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมือง ...

ภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่งผลให้เหล่านักการเมืองซึ่งนับได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองไทยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ 'กฎหมายลูก' ทั้งเรื่องพรรคการเมือง เรื่องการเลือกตั้ง และอื่นๆ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อนักการเมืองไทย 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,289 คน ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน 2560 สรุปผลได้ ดังนี้

เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไร? กับกรณีที่นักการเมืองออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ 'กฎหมายลูก' ทั้งเรื่องพรรคการเมือง เรื่องการเลือกตั้งและอื่นๆ อันดับ 1 ร้อยละ 76.49 ระบุว่า เป็นการเรียกร้องเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมือง อันดับ 2 ร้อยละ 73.16 ระบุว่า นักการเมืองมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นได้ อันดับ 3 อยละ 67.26 ระบุว่า รัฐบาลควรรับฟัง เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น อันดับ 4 ร้อยละ 65.94 ระบุว่า ทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงมากขึ้น และ อันดับ 5 ร้อยละ 56.48 ระบุว่า ควรเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์ ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์

ต่อข้อถาม จากที่นักการเมืองออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ประชาชนสนใจเรื่องใดมากที่สุด
อันดับ 1 ร้อยละ 64.79 ระบุว่า นักการเมืองการคัดค้านและท้วงติงระบบการเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวต อันดับ 2 ร้อยละ 60.08 ระบุว่า นักการเมืองเรียกร้องจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม และ อันดับ 3 ร้อยละ 58.70 ระบุว่า นักการเมืองต้องการให้ปลดล็อกพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้

...

เมื่อถามว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการออกมาเรียกร้องของนักการเมืองในช่วงนี้หรือไม่? ร้อยละ 54.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะช่วยสะท้อนปัญหา ทำให้ประชาชนสนใจติดตามข่าว เป็นการตรวจสอบการทำงาน กระตุ้นให้รัฐบาลทำงานอย่างรอบคอบมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาปรับปรุงในการทำงานได้ ฯลฯ และ ร้อยละ 45.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะอาจเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา เป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของตนมากกว่า เป็นเกมการเมือง ต้องการสร้างกระแสทางการเมือง ฯลฯ

ต่อข้อถาม รัฐบาลควรทำอย่างไร? ต่อการเรียกร้องของนักการเมือง อันดับ 1 ร้อยละ 70.21 ระบุว่า นำข้อเรียกร้องไปพิจารณาทบทวนกฎหมาย อันดับ 2 ร้อยละ 63.07 ระบุว่า ออกมาชี้แจง ข้อมูลข้อเท็จจริงให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ อันดับ 3 ร้อยละ 61.13 ระบุว่า ไม่ควรออกมาโต้แย้ง ทำให้เกิดเป็นประเด็น อันดับ 4 ร้อยละ 48.88 ระบุว่า มีช่องทางรับฟังความคิดเห็น จัดเวที ประชุมร่วมกัน และ อันดับ 5 ร้อยละ 43.40 ระบุว่า ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ออกกฎหมายที่เป็นธรรม.