เลื่อนไป120วัน สนช.โหวตผ่าน โละกสม.ยกชุด กปปส.แฉฉาว ย้ายตร.ที่ภาค3
กสม.คิวถัดไปถูกล้างไพ่ หลัง สนช. มติเอกฉันท์ 190 ต่อ 0 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กสม. ตามธง กรธ.เซ็ตซีโร่ยกชุด “มีชัย” อ้างโละตามหลักการปารีส “บิ๊กตู่” เหน็บเก้าอี้นายกฯอยากนั่งกันนัก “มันต้องไม่สบาย” ตอกพวกไร้สาระจี้ให้ตอบเรื่องตั้งพรรค “บิ๊กป้อม” โบ้ย สปท.ไขก๊อกไม่เกี่ยวพรรคทหาร เชื่อนายกฯรู้ตัวดีจะรีเทิร์นหรือไม่ “วิษณุ” ไม่รับรู้ สปท.แต่งตัวรอเป็นนอมินี “นิพิฏฐ์” เย้ยแค่บทลิเกของแม่น้ำ 2 สาย ดักทางลากอำนาจเผื่อกระดากอายกันบ้าง กระทุ้ง สปท.สายแดงเปลี่ยนเป็นสีขี้ม้าแล้ว กปปส.ตั้งมาตรฐานสูงเหมือนยุค “ป๋าเปรม” ปูดอีก บช.ภ.3 “ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ” “ประยุทธ์” จ่องัด ม.44 ผ่อนผัน พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว เปิดช่องชะลอกฎเหล็กอีก 120 วัน
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทยอยพิจารณาร่างกฎหมายลูกตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญส่งมาให้ ล่าสุดถึงคิวร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์ 190 ต่อ 0 เสียงรับหลักการวาระแรก มีประเด็นสำคัญคือ การเซ็ตซีโร่ กสม.ทั้งคณะ
...
สนช.ได้ฤกษ์ถกร่าง พ.ร.บ.กสม.
เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 30 มิ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอโดย สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนในหลักการ แต่ตั้งข้อสังเกตประเด็นการเซ็ตซีโร่กระบวนการสรรหา ตลอดจนคุณสมบัติของ กสม.ชุดใหม่ และบางมาตราดูเหมือนนกรธ.หวาดระแวงว่าจะเกิดการแทรกแซงภายใน โดยเฉพาะเรื่องการรับค่าใช้จ่ายต่างประเทศเพื่อไปศึกษาดูงาน อาจไปลดทอนด้านความร่วมมือระหว่างประเทศได้
กรธ.อ้างเซ็ตซีโร่ตามหลักปารีส
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ชี้แจงว่า เหตุผลสำคัญของการเซ็ตซีโร่ กสม. คือ กระบวนการสรรหาเก่าไม่เปิดกว้าง จึงให้สรรหาใหม่ทั้งหมดโดยยึดหลักการปารีสเดิม ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กสม.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กสม.คือองค์กรอิสระ กรธ.จึงมองว่าอดีตกรรมการฯไม่สามารถเข้ารับการสรรหาอีกได้ ส่วนข้อเรียกร้องให้มีมาตรการคุ้มกันเจ้าหน้าที่ กสม. ตามหลักองค์กรระหว่างประเทศ กรธ.มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่โดยสุจริตย่อมได้รับการคุ้มกันอยู่แล้ว แต่หาก สนช.จะเติมให้ชัดเจนขึ้น กรธ.ไม่ขัดข้องและสนับสนุน ส่วนการเดินทางไปศึกษาดูงาน เราให้ทำได้เพื่อให้เกิดความร่วมมือ แต่ห้ามกรรมการฯรับประโยชน์อื่นใด ต่อมาที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบในวาระแรก ด้วยคะแนน 190 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4
“มีชัย”นั่งหัวโต๊ะคุมเกม ก.ม.กกต.
จากนั้นนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งต่อที่ประชุมถึงการแต่งตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรคห้า มีกรอบเวลาพิจารณา 15 วัน จำนวน 11 คน แบ่งเป็นจาก สนช. 5 คน คือ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายตวง อันทะไชย นายศุภวุฒิ อุตมะ นายสมชาย แสวงการ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย จาก กรธ. 5 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายศุภชัย ยาวะประภาษ นายภัทระ คำพิทักษ์ และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ และจาก กกต. 1 คน คือ นาย ศุภชัย สมเจริญ
“บิ๊กตู่” ซัดอดีตรัฐบาลทิ้งทีซีดีซี
วันเดียวกัน เวลา 09.00 น. ที่อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายก รัฐมนตรี นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือทีซีดีซี (TCDC) กรุงเทพ ที่ย้ายไปแห่งใหม่อยู่ในอาคารไปรษณีย์กลาง เขตบางรัก โดยมีนายคณิศ แสงสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการทีซีดีซี คณะผู้บริหาร และพนักงานคอยให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทีซีดีซีมีมาตั้งแต่ปี 2548 แต่นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาอาจไม่ชัดเจน ไม่ให้ความสำคัญเพื่อนำพาประเทศก้าวสู่ 4.0 รัฐบาลนี้กำลังกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เราต้องขับเคลื่อนประเทศแนวใหม่ สร้างสติปัญญาลดปัญหาตามศาสตร์พระราชา
เหน็บเก้าอี้นายกฯ อยากนั่งกันนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเดินเยี่ยมชมพื้นที่ทีซีดีซี พล.อ.ประยุทธ์ได้ทดลองนั่งเก้าอี้ที่ออกแบบมาเพื่อมอบให้นายกฯ ชื่อ “เก้าอี้นั่งไม่สบาย” โดยผู้ออกแบบชี้แจงว่า พล.อ.ประยุทธ์มาบริหารประเทศด้วยการรัฐประหาร ทำให้ต้องนั่งทำงานไม่สบายนัก แต่ได้รับการยอมรับจากประชาชน แม้จะไม่สบายแต่ต้องทำต่อ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบว่า เก้าอี้นี้นั่งไม่สบายจริงๆ เหมือนกับประชาธิปไตยไทยที่มีอุปสรรค จากนั้นเอ่ยปากแซวผู้บริหารทีซีดีซีว่า “รับปรึกษาเรื่องปัญหาหัวใจหรือไม่ ต้องการปรึกษาปัญหาที่ยังทำงานไม่แล้วเสร็จเสียที”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เก้าอี้นั่งไม่สบายที่เขาออกแบบมานั้นถูกต้อง อยากเป็นกันนักมันต้องไม่สบาย เพราะถ้านั่งสบายก็ขี้เกียจ ต้องให้ไม่สบาย คิดเยอะๆ คิดทุกวัน กลางคืนก็คิด ตื่นมาก็คิด เพราะปัญหายังไม่จบ ความขัดแย้งก็สูง วันนี้ออกกฎหมายมาปุ๊บมีปัญหาบังคับใช้ไม่ได้ ไม่ปฏิบัติ ละเลยคือสิ่งที่ตนเผชิญทุกวันนี้ จึงต้องไปแก้พ.ร.บ.ประมงกฎหมายเดินเรือ แรงงานต่างด้าว ยังมีปัญหาอีกหาว่าใช้พร่ำเพรื่อ แต่ถ้าไม่ใช้จะแก้ปัญหาอย่างไร ใครเป็นนายกฯ ก็ทำให้พอใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ยันไม่รู้จักเพจอวยรัฐบาล คสช.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีมีนักการเมืองเรียกร้องให้พูดให้ชัดเจน ว่าจะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ว่า ไม่ตอบ ขี้เกียจตอบ ไร้สาระ ไม่ใช่เวลา ตอบไปก็มีปัญหามากมาย ต้องเอาปัญหาบ้านเมืองมาก่อน หรือทุกคนไม่ห่วงบ้านเมืองกันเลย นักการเมืองส่วนใหญ่อยากเข้ามาเป็นรัฐบาลกันหมด เมื่อถามว่ามีวิธีการทำให้นักการเมืองเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ไม่มี นักการเมืองต้องคิดและปรับปรุงตนเอง หากไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติก็ช่วยไม่ได้ จะทำอย่างไรได้เพราะผ่านการเห็นชอบแล้ว ไม่ได้ไปบังคับใครทั้งสิ้น ส่วนการตั้งเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เปรี้ยง” มาสนับสนุนงานของรัฐบาลนั้น ไม่รู้จัก ยังไม่เห็น แต่อาจมีคนหวังดีหรือไม่ไม่ทราบ
ก.ค.นี้ได้แน่ร่างสัญญาประชาคม
ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งร่างสัญญาประชาคม ให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) ว่า ต้องนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบในเวทีสาธารณะใน 4 กองทัพภาคก่อน จากนั้นค่อยนำส่งนายกฯ เชื่อว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ และเห็นด้วยกับการสร้างความปรองดอง คาดว่าร่างฉบับสมบูรณ์จะประกาศได้ในช่วงเดือน ก.ค.นี้
สปท.ไขก๊อกไม่เกี่ยวพรรคทหาร
พล.อ.ประวิตรกล่าวอีกว่า ส่วนเสียงคัดค้านประเด็นไพรมารีโหวต ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ยืนยันว่ายังยึดตามโรดแม็ปการเลือกตั้งยังเหมือนเดิมไม่เลื่อนออกไป เรื่องไพรมารีโหวตก็ว่ากันไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการ ถกเถียงของ กรธ.และส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อถามว่ากลุ่มการเมืองเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ตั้งพรรคการเมืองมาลงเลือกตั้งเอง พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่มีความเห็นขอให้ติดตามกันต่อไป ส่วนกรณีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลาออกเพื่อมาลงเล่นการเมืองนั้น เขามีพรรคการเมืองอยู่แล้ว จะไปอยู่กับใคร สังกัดพรรคไหน เรื่องของเขา แต่ พรรคทหารไม่มีอยู่แล้ว ยืนยันมาหลายครั้งว่าไม่เล่นการเมืองแน่นอน สื่อก็ถามหลายครั้ง เมื่อถามว่ามองกันว่า พล.อ.ประวิตรยังนั่งเป็นผู้จัดการรัฐบาลต่อไป พล.อ.ประวิตรตอบว่า พูดกันไปเอง ใครจะไปนั่งเป็นผู้จัดการ ถามแบบนี้ได้อย่างไร หากมีรัฐบาลใหม่มาจากการเลือกตั้ง
ชี้ “บิ๊กตู่” รู้ตัวดีจะรีเทิร์นหรือไม่
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง ว่า นายกฯบอกอยู่แล้วว่าไม่เล่นการเมือง ที่บอกว่านายกฯพูดไม่ชัดเจนนั้น อยากให้ไปฟังชัดๆอีกครั้ง ในอนาคตหากสถานการณ์เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจ ต้องลงก็ได้ เราก็ไม่รู้ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของนายกฯ เมื่อถามย้ำว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ลงเลือกตั้ง ในฐานะพี่ใหญ่จะเชียร์หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่ขอออกความเห็น ถือเป็นเรื่องของนายกฯท่านจะ เป็นอย่างไรท่านรู้ตัวดี
“วิษณุ” ฟุ้ง ม.77 ให้คนไทยรู้ข้อมูล
ช่วงเช้าที่โรงแรมเดอะสุโกศล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายพิเศษ “ทิศทางของการดำเนินการตามมาตรา 77” ในการฝึกอบรมหลักสูตรเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่นักกฎหมายกฤษฎีกา รุ่นที่ 1 ว่า มาตรา 77 มีใจความสำคัญโดยสรุป คือ รัฐพึงออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น ต้องตอบความจำเป็นให้ได้ และต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ต้องให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจ รวมถึงต้องวิเคราะห์ผลกระทบด้วย เช่น เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ก่อนตรากฎหมายต้องจัดรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาเราชินกับประชาพิจารณ์ และประชามติ แต่มาตรา 77 ไม่ได้ สั่งให้ทำทั้ง 2 อย่าง บอกแต่ให้รับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็แล้วแต่ความสำคัญของกฎหมายฉบับนั้น รูปแบบการรับฟังจึงมีตั้งแต่การเชิญคนมาประชุม กรอกแบบสอบถาม หรือสอบถามผ่านเว็บไซต์ เช่น กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ มีคนอ่าน 3,000 ราย แสดงความเห็น 19 ราย เราไม่สามารถบังคับจำนวนคนดูได้ จึงต้องมีเว็บไซต์กลาง เป้าหมายมาตรา 77 คือ ให้คนไทยรู้ข้อมูล ไม่ให้ทุกอย่างลับลวงพลาง
ไม่รับรู้ สปท.จ่อตั้งพรรคนอมินี
นายวิษณุให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกระแสเคลื่อนไหวของ สปท. ที่ทยอยลาออก ไปเตรียมตั้ง พรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกสมัยว่า จะถึงเวลาเปิดให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วหรือยัง ต้องถามฝ่ายความมั่นคง สปท.จะหมดวาระอยู่แล้วช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ลาออกไปก็ไม่เป็นปัญหา แต่จะไปสนับสนุนใครหรือตั้งพรรคการเมืองอย่างไร ต้องให้เจ้าตัวพูดเอง ไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับการตั้งพรรคทั้งสิ้น เมื่อถามว่าจะเป็นเหตุให้ฝ่ายการเมืองโจมตีรัฐบาลว่าทำงานเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่ทราบ คงไม่กระทบการทำงานของรัฐบาล ก็ทำงานไป เหมือนภูเขามีคนเดินไปเดินมาคงไม่หวั่นไหวอะไร แต่มันจะสะเทือนหากรัฐบาลไปทำอะไรเองต่างหาก คนอื่นทำก็เป็นเรื่องของเขา
“นิพิฏฐ์” เย้ยโรงลิเกแม่น้ำ 2 สาย
ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพูดเรื่องเจตนาเลื่อนเลือกตั้งของรัฐบาลและ คสช. จนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นห่วงว่าอาจทำให้สังคมตื่นตระหนกนั้น ตนมีเหตุผลรองรับ คือ 1.ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา สนช.ออกกฎหมายเป็นร้อยฉบับโดยไม่มีความเห็นขัดแย้ง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรเลย แม้แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เป็นกฎหมายการเงินสำคัญ สนช.ก็พิจารณาเสร็จสิ้นใน 1 วัน แต่น่าแปลกใจที่ สนช.กล้าโต้แย้งหรือเห็นต่างกับ กรธ. ในกฎหมายพรรคการเมืองจนต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย จึงยืนยันว่าเป็นการแบ่งหน้าที่เล่นตามบทบาทที่ถูกกำกับมาแล้ว เหมือนการเล่นลิเกของ 2 แม่น้ำ 2.การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดนายบวรศักดิ์เองยังช็อก และพูดออกมาเองว่าถูกหลอกใช้
ดักทางไว้ก่อนเผื่อกระดากอาย
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ฉะนั้นกรณีนี้คนที่ออกมาตอบโต้ตน อย่าใช้อารมณ์จนไร้เหตุผล แต่ขอให้ดูข้อเท็จจริงและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะมีการเลือกตั้ง หรือต้องเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ ถ้าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกตนก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่อยากบอกให้รู้ว่าอย่างน้อยก็มีคนในสังคมที่รู้เท่าทันเกมพวกคุณเหมือนกัน ที่พูดให้สังคมรับรู้ก็เพื่อดักทาง เผื่อบางทีอาจทำให้คนที่คิดทำจะรู้สึกกระดากตัวเอง ว่ามีคนรู้ทันเขาเหมือนกัน อาจเปลี่ยนวิธีคิดได้ “ส่วนใครที่ว่าผมมโนขอให้ดูเหตุผล 2 ข้อดังที่ว่า ผมยังยืนยันว่ามีความเป็นไปได้”
ซัด สปท.แดงเปลี่ยนเป็นสีขี้ม้า
นายนิพิฏฐ์ยังกล่าวถึงกรณีสมาชิก สปท. ทยอยลาออกไปเตรียมตัวลงเลือกตั้ง ว่า มีข้อสังเกตว่าการลาออกของ สปท.สายใต้บางคน มีข่าวว่าประกาศจะตั้งพรรคการเมืองสนับสนุนทหาร หรือพรรคทหาร เป็นรัฐบาลต่อไป คนพวกนี้อดีตเคยอยู่พรรคเพื่อไทยและเป็นคนเสื้อแดงเก่า บางคนเคยสนับสนุนการออกมาขับไล่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษด้วยซ้ำ แต่วันนี้บรรลุธรรมถึงกับกล้าประกาศตัวจะสนับสนุนทหารให้เป็นรัฐบาลต่อ สร้างความลำบากใจให้คนที่เคยสู้กับคนเสื้อแดง เพราะวันนี้คนพวกนี้ถอดเสื้อแดงมาใส่เสื้อสีเขียวขี้ม้าแทน อยากให้สังคมจับตาดูและศึกษาว่าคนเหล่านี้มีอุดมการณ์ทางการเมือง หรือเกาะใครก็ได้ที่มีอำนาจในแต่ละยุคสมัยหรือไม่ ที่สำคัญคือประชาชนเจ้าของอำนาจต้องรู้เท่าทัน
ตั้งมาตรฐานต้องสูงเหมือนยุค “ป๋า”
นายอิสสระ สมชัย เเกนนำ กปปส. และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง ว่า ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว ท่านต้องลงเลือกตั้งมาเป็นนายกฯอย่างสง่างาม แต่ไม่รู้ว่านายกฯคิดเเบบไหน และประชาชนจะนิยมเหมือนตอนเป็นหัวหน้า คสช.หรือไม่ ลึกๆแล้วคงไม่อยากอยู่ต่อ แต่สถานการณ์วันนี้มีปัจจัยให้กลับมา มีวิธีทั้งตั้งพรรคเอง หรือเป็นนายกฯที่มาจากคนนอกก็ได้ แต่ถ้ามาแบบคนนอกต้องทำให้ได้อย่าง พล.อ.เปรม แต่ทุกวันนี้คนรอบข้างนายกฯก็เกินไป จะบอกว่านายกฯไม่รู้คงเป็นไปไม่ได้ ต้องจัดการเด็ดขาด อย่าคิดว่าเป็นเพื่อนพรรคพวกกัน หรือมีบุญคุณจึงต้องเอาไว้
ปูดอีก บช.ภ.3 ซื้อขายเก้าอี้ว่อน
นายอิสสระกล่าวอีกว่า แม้วันนี้ประชาชนจะชอบ พล.อ.ประยุทธ์มากเพียงไร แต่ถ้าเรื่องปากท้องยังแก้ไม่ได้ ประชาชนคงทนไม่ได้ ทั้งข้าว ปาล์ม ยาง มันสำปะหลังราคาตกต่ำ ท่านไม่ใช้อำนาจเด็ดขาดแก้ปัญหา แต่กลับไปสร้างรถไฟความเร็วสูง ทำไมถึงไม่ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาปากท้องประชาชนบ้าง มัวแต่ฟังตัวเลขมั่วๆหลงตัวเองจากข้าราชการ อย่ารอให้ประชาชนมองว่าถูกรัฐทอดทิ้ง อย่าเปิดทางให้นายทุนใหญ่ใช้ความใกล้ชิดรัฐบาลมารังแกประชาชน อีกเรื่องที่ควรใช้มาตรา 44 คือปฏิรูปตำรวจ ที่มีการซื้อขายตำแหน่ง มีเสียงกระซิบมาว่าในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ถ้าไม่มีเส้นไม่มีสาย เป็นความหวังดีต่อรัฐบาลจึงออกมาให้ข้อมูล
หวั่นอำนาจทะมึนอยู่เหนือรัฐบาล
ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวหาว่านักการเมืองไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ว่ากัน เพราะมองคนละมุม พล.อ.ประยุทธ์มาทางอ้อมก็คิดแบบอ้อม พวกนักการเมืองมาทางตรงจากประชาชน ก็คิดตรงไปตรงมา ทำตามความต้องการประชาชนเป็นหลัก ที่ติติงเพราะร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ไปผูกมัดกับรัฐบาลที่มาหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ไปแล้ว หากรัฐบาลในอนาคตไม่ทำตาม อาจถึงกับล้มไปหรือติดคุกติดตะรางได้ มันคือการมัดมือชก ที่บอกว่าแก้ไขได้ทุก 5 ปีนั้นความเป็นจริงแล้วทำได้ยาก เหมือนมีอำนาจดำทะมึนคอยควบคุมอยู่ข้างหลัง เป็นการยึดอำนาจของประชาชนทางอ้อม
นายกฯเล็งงัด ม. 44 ผ่อน ก.ม.ต่างด้าว
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึงการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ถูกทักท้วงจากหลายฝ่าย ว่า สั่งการให้กระทรวงแรงงานไปหามาตรการที่เหมาะสม รับรอง ว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ถ้าทำอย่างถูกต้องก็ไม่ต้องกลัวอะไร สิ่งที่กลัวคือที่ผ่านมาทำผิดกันมากจึงต้องให้มีการขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะแรงงานตามบ้าน ภาคธุรกิจขนาดย่อม และร้านค้าปลีก ถ้ายกเลิกทั้งหมดย่อมทำให้เดือดร้อน ถ้าจำเป็นจะต้องออกเป็นมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจขาดแคลนแรงงานก็ต้องใช้ แต่วันหน้าเมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม ต้องรู้จักกฎระเบียบและทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่อะไรก็ไม่เอาสักอย่าง ให้รัฐผ่อนปรนไปเรื่อยแล้วเมื่อไหร่จะกลับสู่ความถูกต้อง ตนเข้าใจความเดือดร้อน ที่ผ่านมามีความสุข มากๆ แต่ไม่มีใครบอกว่าถูกหรือผิดกฎหมาย ทีบางเรื่องบอกให้ประหารชีวิตไปเลย กับเรื่องแบบนี้จะไม่ให้ปรับ แต่ช่วงนี้ต้องผ่อนปรนไม่ให้เดือดร้อน ส่วนกรณีที่กระทรวงแรงงานเจรจาขอให้แรงงานเมียนมา ที่มีหนังสือเดินทางเข้ามาทำงานได้นั้นไม่เกี่ยว แรงงาน ที่ทำงานอยู่แล้วต้องนำมาจดทะเบียนให้ได้ก่อน ถ้าไม่ทำอีกต้องใช้กฎหมายใหม่ ไม่ใช่ตามใจจนเรื่อยเปื่อย
“วิษณุ” เรียกบิ๊กแรงงานถกเครียด
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้เชิญ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก.พ.ร. สมช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือปัญหา พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ก่อนเข้ารายงานผลการหารือกับนายกฯ ทันที จากนั้นนายวิษณุแถลงว่า จะมีการออกมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวใน 3 มาตรา คือ มาตรา 101, 102 และ 122 ที่กำหนดค่าปรับรวมถึงบทลงโทษที่รุนแรงกับลูกจ้างและนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย โดยจะมีผลย้อนไปถึงวันที่ 23 มิ.ย. คือวันที่ พ.ร.ก.ประกาศใช้ โดยให้ชะลอไปก่อน 120 วัน ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้ยื่น 4 ข้อเสนอ ได้แก่ 1.การตั้งศูนย์รับจดทะเบียนใหม่ 2.ขอให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาออกกฎหมาย 3.การจ่ายเงินชดเชยกรณีลูกจ้างเดินทางกลับประเทศหรือหยุดงาน และ 4.ประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างและลูกจ้างรับทราบ ซึ่งภาครัฐรับได้กับข้อเสนอทั้งหมด ยกเว้นข้อแรก เพราะจะขัดต่อบันทึกความเข้าใจที่ไทยทำไว้กับเมียนมา ลาว และกัมพูชา และขัดต่อข้อตกลงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) และอาจเกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง
ชะลอกฎเหล็กออกไปอีก 120 วัน
นายวิษณุกล่าวว่า จากปัญหาทั้งหมด ยืนยันว่าไทยยังเคารพในพันธกรณีที่ตกลงไว้กับประเทศต่างๆ พันธกรณีสำคัญและต้องดำเนินการต่อคือการต่อต้านการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้จะไม่มีการจับกุมหรือกวดขันแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่จะเกี่ยวข้องความผิดค้ามนุษย์ ส่วนการชะลอบางมาตราออกไป 120 วัน เพราะต้องการให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายกลับไปทำเรื่องให้ถูกต้อง ส่วนแรงงานอีกกลุ่มที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่ไปทำงานผิดจังหวัดที่รับอนุญาต ให้ไปที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อแจ้งขอเปลี่ยน โดยมาตรการนี้ไม่เกี่ยวกับเวลา 120 วันที่ประกาศชะลอ
แรงงานจ่อถกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะออกมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และให้กระทรวงแรงงานหามาตรการผ่อนปรนที่เหมาะสมว่า ขณะนี้ยังต้องรอความชัดเจนในคำสั่งตามมาตรา 44 ที่จะประกาศออกมาก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 ก.ค.จะเชิญผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้งผู้ ประกอบการ เอ็นจีโอ นักวิชาการแรงงาน มาร่วมกันเสวนาเกี่ยวกับการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยและคนไทยได้อะไร
จับไต๋บีบให้ทำผิดแล้วลงดาบ
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีต รมช.แรงงาน กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงการออกกฎหมายจากมุมมองข้าราชการอย่างเดียว ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมประเทศ ฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯให้รีบทบทวน พ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยนำความเห็น ข้อเสนอแนะมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เช่น การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นที่แท้จริงในปัจจุบัน จะช่วยตัดปัญหาลักลอบจ้างงานอย่างผิดกฎหมาย และการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ทำอยู่เหมือนบีบให้เอกชน และแรงงาน ทำผิดกฎหมาย แล้วยังออกกฎหมายแบบนี้มาเป็นดาบลงโทษแรงงาน และเอกชน
จี้ปราบค้ามนุษย์พิสูจน์ฝีมือ
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การที่สหรัฐอเมริกาจัดลำดับการค้ามนุษย์ของไทยอยู่ที่ระดับเทียร์ 2 เฝ้าระวัง เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ถือว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังทำไม่ได้ดีเท่าที่ควร ทั้งที่มีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือใช้บริหารจัดการเรื่องการค้ามนุษย์ได้มากกว่ารัฐบาลชุดอื่น จึงขอเสนอแนะรัฐบาลต้องแก้ไขปรับปรุงวิธีการ และหาแนวทางปราบปรามการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควบคุมดูแลไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ใช้ความรุนแรงกับแรงงานต่างชาติ ขอให้นายกฯทำให้สำเร็จ เพื่อพิสูจน์ฝีไม้ลายมือด้วย
“จุติ” เรียกร้องพักใช้ ก.ม.6 เดือน
นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ รมว.แรงงานทบทวนผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ให้ไประดมรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง จนถึงขนาดใหญ่ ทุกภาคส่วนของธุรกิจและอุตสาหกรรม พร้อมขอให้เร่งแก้ไขก่อนที่ เศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จะเป็นการเพิ่มต้นทุนการประกอบการ โดยขอให้ พักการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน 180 วัน เพื่อหยุดความตระหนก และแก้ไขการลุกลามของปัญหาขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ขอให้ปรับแก้ บทลงโทษที่เหมาะสมกว่านี้ในภาวะการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เพราะกฎหมายต้องเอื้อการประกอบธุรกิจ เอื้อการจ้างงาน ไม่ใช่ออกมาแล้วไปทำร้ายผู้ประกอบการ และทำลายเศรษฐกิจเช่นนี้
กลุ่มยางพาราเต้นขอยืดเวลา
ที่รัฐสภา กลุ่มผู้แปรรูปยางพารา และผู้ประกอบกิจการยางพารา จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง นำโดยนายมนัส บุญพัฒน์ ตัวแทนผู้ประสาน ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สิงห์ศึก สิงไพร ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช. ขอให้รัฐบาลขยายเวลาคุ้มครองชั่วคราว พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว ไปอีก 90 วัน เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างมาก จำเป็นต้องใช้แรงงานจากต่างประเทศในกระบวนการผลิต เพราะหาแรงงานในประเทศไม่ได้ ส่งผลให้โรงงานปิดตัวไปแล้วร้อยละ 50
ตัดสินคดีสลายม็อบ พธม. 2 ส.ค.
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายในคดี ป.ป.ช. เป็นโจทก์ฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 นัดนี้ พล.อ.ชวลิตไม่ได้เดินทางมาศาลเนื่องจากป่วย หลังการไต่สวนพยานครบ 5 ปาก นายสมชายแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจา จากนั้นศาลนัดให้คู่ความทั้งสองฝ่ายส่งคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 20 ก.ค. และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2 ส.ค.เวลา 09.30 น. พร้อมกำชับให้ พล.อ.ชวลิตมาฟังคำพิพากษาตามนัดหมาย
“บิ๊กป้อม” เชื่อน้องชายมีทางออก
ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญานัดแถลงคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า เป็นเรื่องของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่เรื่องของตน จะมาถามตนทำไม จะมาถามตนไม่ได้ เพราะไม่รู้เรื่อง แม้จะเป็นพี่ชาย แต่เป็นคนละคนกัน และตนไม่ได้เป็นคนไปสั่งโน่นสั่งนี่ เมื่อถามว่าได้เจอ พล.ต.อ.พัชรวาทบ้างหรือไม่ และได้พูดคุยปรับทุกข์กันหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่มี เพราะแก่แล้ว ส่วนเรื่องคดีความก็เป็นเรื่องของ พล.ต.อ.พัชรวาท ซึ่งทำงานมาก็คงจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไรและทำได้แค่ไหน
ปัดหอชมเมืองไม่เกี่ยว คสช.
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การสร้างหอชมเมืองว่า เรื่องนี้ภาคประชาชนเป็นคนสนับสนุนด้านการเงินไม่ได้มีการประมูล เพราะทำเพื่อประชาชนโดยตรง และมีประชาชนออกมาเสนอราคาเอง ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่าจะเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับ คสช. นั้น ไม่เกี่ยวกัน ไม่มีใครเกี่ยวข้อง เพราะทุกคนรู้จักกัน
ไล่บี้เปิดข้อมูลรถไฟไทย-จีน
ที่ศูนย์บริการประชาชน บริเวณสำนักงาน กพ. นายรังสิมันต์ โรม ตัวแทนกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) นำรายชื่อ 14 องค์กร ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลโครงการรถไฟไทย-จีนทั้งหมด โดยระบุว่า การประชุมระหว่างรัฐบาลไทยและจีนกว่า 18 ครั้งเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบถึงข้อตกลงที่รัฐบาลทั้งสองประเทศทำร่วมกัน น่ากังวลเพราะโครงการนี้อาจทำประเทศเสียผลประโยชน์ โดยจีนผลักดันการแผ่ขยายอำนาจ ขณะที่ไทยอนุมัติโครงการผ่านมาตรา 44 ไม่เป็นไปตามระเบียบปกติ อาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นจึงอยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน การดำเนินการทั้งหมดควรโปร่งใสและเปิดเผย
ป.ป.ท.แจงคดีทุจริตเก็บข้าวคืบ 70%
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ท.ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า ที่ส่งมาจาก พนักงานสอบสวนในพื้นที่ 36 จังหวัด โดยมีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริง 990 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1.47 แสนล้านบาท ปริมาณข้าวได้รับความเสียหาย 41.5 ล้านตัน ประกอบด้วย 1.องค์การคลังสินค้า (อคส.) 720 คดี มูลค่าความเสียหาย 1.19 แสนล้านบาท ปริมาณข้าวได้รับความเสียหาย 39 ล้านตัน และ 2.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 270 คดี มูลค่าความเสียหาย 2.7 หมื่นล้านบาท มีปริมาณข้าวได้รับความเสียหาย 2.4 ล้านตัน มีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรวม 139 คน ทั้งนี้มีความคืบหน้าของคดีประมาณร้อยละ 70 อยู่ระหว่างการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา จำนวน 211 คดี และตั้งแต่ ส.ค. คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจะเริ่มเสนอรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ดำเนินการเสร็จสิ้นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อพิจารณาชี้มูลความผิดต่อไป
โชว์ผลงานจ่อปลดล็อกธงแดง
เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่าอยากให้คนไทยไม่ว่าจะเป็น 1.0-4.0 ได้รับรู้และตรึกตรองให้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ หากเราไม่ปรับตัวจะส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น การแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ถ้าละเลยไม่จริงใจแก้ปัญหาเหมือนในอดีต ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น รวมทั้งสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่มีมูลค่ามหาศาล ภายหลังที่รัฐบาลและ คสช.เอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา จะเป็นข้อพิจารณาสำคัญที่จะขอปลดล็อกธงแดง ส่วนการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลได้ยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ จัดการกับปัญหาอย่างครบวงจร ส่งผลให้รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของประเทศไทย มีผลการจัดอันดับดีขึ้น