สมาคมนักข่าวจัด "ราชดำเนินเสวนา 85 ปี ปชต.ไทย" กรธ.ยันเขียน รธน.เพื่อขจัดวงจรอุบาทว์ "สิริพรรณ" หนุน ปชป.จับมือ พท. ต้านนายกฯ คนนอก "ปริญญา" รู้ทันส่ออยู่ยาว มี ม.44 เสี่ยงรัฐใช้อำนาจผิด ดักทางแค่ส่งกฎหมายช้าอยู่ต่ออีกปี หวั่นซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ แนะเดินตามโรดแม็ป ให้ ส.ว.ฟรีโหวตเลือกนายกฯ นักการเมืองต้องทำตัว ปชช.ศรัทธา

ผู้สื่อข่ารายงานจาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ทางสมาคมฯ ได้จัดงานราชดำเนินเสวนา "85 ปีประชาธิปไตยไทยจะไปไหนดี" มี นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

โดย นายชาติชาย กล่าวว่า ประชาธิปไตยไทยยังมีวงจรอุบาทว์ ความขัดแย้งทางการเมืองนำไปสู่การรัฐประหารและเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่พยายามวางกลไกให้ออกจากวงจรนี้ โดยเงื่อนไขต้นตอปัญหา คือ โครงสร้างรัฐรวมศูนย์ ที่รัฐอยู่เหนือประชาชน การปฏิรูปราชการจึงไม่ได้ผล พรรคการเมืองเองยังไม่มีความเป็นสถาบันที่ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ มีโครงสร้างลักษณะสืบสถานะและระบบอุปถัมภ์ ทำให้ 85 ปี ประชาธิปไตยไม่ประสบความสำเร็จ ระบบการเมืองไทย จึงกลายเป็นเรื่องราชการเป็นใหญ่ ดังนั้น พรรคการเมืองต้องปรับตัวให้อยู่เหนือราชการเพื่อเดินงานการเมือง สร้างดุลยภาพให้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ที่ผ่านมา เช่น ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พรรคการเมืองอ่อนแรง มีการดึงทหารเข้ามาบริหารประเทศถึง 8 ปี ก่อนที่จะกลับเข้าสู่การเมืองของพรรคการเมือง แต่ก็เกิดความขัดแย้งจนถึงทางตัน ในขณะที่ทหารแข็งแรงมากขึ้น และประชาชนเรียกร้องให้ออกมาแก้ปัญหา จึงมีการรัฐประหารของ คสช. ซึ่งต้องดูต่อไปว่า หลังการเปลี่ยนผ่านอำนาจแล้ว จะเกิดปัญหาซ้ำเดิมอีกหรือไม่

...

ขณะที่ รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า 85 ปีที่ผ่านมา ยังถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่ไม่สำเร็จ คือ เข้าได้แค่ครึ่งขาก็ต้องออกจากประชาธิปไตยมาตลอด จึงเรียกว่าเป็นระบอบลูกผสม การจะเปลี่ยนผ่านที่สำเร็จ คือ ต้องเปลี่ยนการถือครองอำนาจ และการปฏิบัติการทางการเมือง ให้ไปอยู่ในมือประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด โดยไม่มีการย้อนกลับหรือถอยหลัง ประสบการณ์จากต่างประเทศ พบว่า ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยมี 5 มิติ คือ 1. การผนึกกำลังของฝ่ายค้าน ต้องมีการรวมพลังของสังคม แม้จะเคยเป็นปฏิปักษ์กันแต่หันมาร่วมมือกัน ซึ่งในสังคมไทยก็ต้องดูว่าสามารถทำได้หรือไม่ เช่น หลังการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ กับ เพื่อไทย จะสามารถร่วมกันต้านการโหวตเลือกนายกฯ คนนอกของ ส.ว.แต่งตั้งได้หรือไม่ แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ไทยก็จะได้นายกฯ คนนอกที่มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง ซึ่งน่าจะขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2. บทบาทผู้นำทางการเมืองในสังคมไทย มีลักษณะชนชั้นกลางไทยเป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม จึงทำให้กลายเป็นการเหนี่ยวรั้งประชาธิปไตย 3. รัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง เพราะมีมาตรา 44 ที่ปกครองประเทศด้วย จึงมีคำถามว่าอะไรคือกฎหมายสูงสุด และเสนอแนวทางแก้ปัญหาระบบไพรมารีโหวตว่า ไม่ควรทำพร้อมกันทุกเขต เพราะจะเกิดปัญหาว่า กกต.จะไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง จนนำไปสู่การร้องเรียนตามมาว่า กระบวนการไม่ถูกต้อง 4. กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และ 5. สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญใหม่พยายามย้ายฐานโครงสร้างทางอำนาจ จากประชาชนไปสู่ระบบราชการและกลุ่มทุน โดยหวังว่าจะเป็นคนดีมาปกครอง โดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และไม่แน่ใจว่าถ้าปี 61 ไม่มีการเลือกตั้ง จะเกิดความไม่พอใจมากน้อยแค่ไหน จึงเป็นความสุ่มเสี่ยงของการเมืองปีหน้า

ด้าน นายปริญญา กล่าวว่า คนไทยจำนวนมากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย จึงต้องตอบคำถามก่อนว่า คนไทยต้องการประชาธิปไตยหรือไม่ หากไม่รัฐบาลนี้ก็อยู่ไปเรื่อยๆ และเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งหรือหลังรัฐประหาร ไม่มีหลักประกันใดว่าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และคำถามสี่ข้อของนายกฯ ทำให้เกิดคำถามว่า ต้องการอยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่ ในขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้มาตรา 44 ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวสิ้นสภาพแล้ว แต่อำนาจพิเศษยังคงอยู่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ราวกับว่าเตรียมการจะอยู่ยาว ในขณะที่การใช้มาตรา 44 มีโอกาสใช้ผิด และถ้าผิดขึ้นมาทำได้อย่างเดียว คือ ทำใจ เพราะฟ้องศาลไม่ได้ เพราะชอบด้วยรัฐธรรมนูญและถือเป็นที่สุด เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ขัดแย้งกับระบบปกติที่จะมีระบบตุลาการมาถ่วงดุล ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้ ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ คือ รัฐบาลต้องโปร่งใสและถูกตรวจสอบได้

นอกจากนี้ นายปริญญา ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า หากรัฐบาลต้องการอยู่ยาวก็สามารถทำให้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ไม่ผ่านเพียงแค่ฉบับใดฉบับหนึ่ง ก็จะเลื่อนเลือกตั้งไปได้แล้วอย่างน้อยหนึ่งปี เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องทำอย่างไร หรือถ้าเห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญก็จะยืดเวลาออกไปได้อีก ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก แต่ต้องถามว่ากระรอกขุดโพรงไว้แล้วหรือเปล่า และเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้ ส.ว. ซึ่ง คสช.เลือก 250 คน เลือกนายกรัฐมนตรีในระยะเวลา 5 ปี ถือว่าเป็นการเมืองระบบไฮบริด คือ เป็นรัฐสภาที่มี ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วน กับ ส.ว.ที่ คสช.ตั้ง หาก คสช.ได้ ส.ส. 126 คน ก็จะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าไม่สามารถเสนอกฎหมายได้ ดังนั้น จะต้องมี ส.ส.อย่างน้อย 250 คน จึงจะอยู่ได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดรัฐบาลได้สามแบบ คือ 1. แม้ว่า ส.ส.จะมี 500 คน แต่จะไม่มีใครตั้งรัฐบาลได้ คสช.จะเข้ามากำหนดว่าข้างไหนจะเป็นรัฐบาล 2. คสช.ต้องการเป็นรัฐบาลต่อ แต่จะไม่ได้ ส.ส. 250 คน เพราะไม่ได้เสียงจากสองพรรคใหญ่ 3. ส.ส.สองพรรคใหญ่รวมกันตั้งรัฐบาล ซึ่งตนขอเสนอทางที่สี่ คือ ให้ คสช.ปล่อยให้ ส.ว.ลงมติเลือกนายกฯ โดยอิสระ จะเป็นทางเดียวที่จะไม่ทำให้ระบบ ส.ส.กับ ส.ว.ที่ คสช.เลือกตีกัน

"อยากให้ นายกฯ นึกถึงตอนที่เข้ามาควบคุมอำนาจ ตั้งใจมาจัดการระบบที่มีปัญหาอยู่ชั่วคราว คืนความสุขให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด เมื่อตั้งใจอยู่ชั่วคราว การจะอยู่ยาวไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อใครทั้งสิ้น เพราะหาก คสช.ต้องการเป็นรัฐบาลต่อไม่ให้ประชาธิปไตยเดินหน้า จะเปลี่ยนบทบาทจากคนกลางมาควบคุมอำนาจ เหมือนกับที่เคยเกิดในช่วงพฤษภาทมิฬ 35 เพราะทหารไม่ใช่คนกลางแล้ว แต่กลายเป็นคู่ขัดแย้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นผู้ร่างก็ต้องยกเลิกไป ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหนักกว่าปี 2534 จะเป็นอย่างไร ผมไม่อยากให้เกิดเหตุนองเลือด ทางแก้จึงต้องทำตามโรดแม็ป ให้ ส.ว.ฟรีโหวตเลือกนายกฯ และนักการเมืองต้องทำตัวให้ประชาชนศรัทธาด้วย" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว