1รอง-2ช่วย-6ว่าการเข้าข่าย ทั้งวิษณุ-กอบกาญจน์-ดอน รวมถึงคลัง-แรงงาน-อสก. ส่งศาลรธน.ชี้ในคดีถือหุ้น
“สมชัย” เต้นไม่เลิก ย้ำองค์กรอิสระอื่นล้วนแต่มีปัญหา “ปลาสองน้ำ” ย้อนเป็นปลาสองน้ำหรือออก ก.ม.สองมาตรฐาน ขอรอดูทิศทางลม สนช.ก่อนเตรียมเอาคืนตั้งแท่นสอบ 9 รมต. “กอบกาญจน์-ดอน-อภิศักดิ์-ปนัดดา-พิเชฐ-ศิริชัย-อุตตม-สนธิรัตน์-วิษณุ” ถือครองหุ้นเข้าข่ายขัด รธน.หมวด 9 มาตรา 264 วรรคสอง “อลงกรณ์” ค้านเหมาเข่งล้างไพ่องค์กรอิสระอื่น “เต้น” เหน็บจะเซ็ตซีโร่หรือเซ็ตซีรีส์ลากยาวอำนาจ “บิ๊กตู่” ยังยึดคำพูดงดสัมภาษณ์สื่อ แต่ไม่วายจิกกัด “ช่างถามจน รมว.กลาโหมป่วย” “จตุพร” ทวงยิกร่างสัญญาประชาคม นปช.โวยแหลกข้อเสนอตกหล่น “บิ๊กเจี๊ยบ” ลั่นสัปดาห์หน้าได้เห็นตัวร่างฯแน่
หลังจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประกาศชัดเจนเจตนารมณ์ในการเสนอเซ็ตซีโร่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานลักษณะปลาสองน้ำ ล่าสุด กกต.เล่นเกมเอาคืน เตรียม ตั้งกรรมการสอบรัฐมนตรี 9 ราย ที่ถือครองหุ้น อาจเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ
“สมชัย” ย้ำทุกองค์กรล้วนมีปัญหา
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงการให้เหตุผลการเซ็ตซีโร่ กกต. เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะปลาสองน้ำว่า ทุกที่ล้วนมีปลาสองน้ำ ตรรกะปลาสองน้ำออกมาจากปากคนอย่างน้อย 3 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถามว่า ภาวะปลาสองน้ำคือ ภาวะที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระ เช่น กกต. เพียงองค์กรเดียวหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะครบวาระ 5 คน จาก 9 คน ดังนั้น 5 คนใหม่ที่จะมา ก็มาภายใต้คุณสมบัติใหม่ นี่คือปลาสองน้ำ ส่วนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากยึดตามคุณสมบัติใหม่จะมีกรรมการ ป.ป.ช.พ้นตำแหน่งไป 8 ใน 9 คน สรรหามาใหม่ 8 คน นี่คือปลาสองน้ำ ทุกองค์กรอิสระวาระดำรงตำแหน่งเป็นวาระเฉพาะตัว การเข้าและออกจึงไม่จำเป็นต้องพร้อมกัน นี่คือปลาสองน้ำ
...
ย้อนสองน้ำหรือสองมาตรฐาน
นายสมชัยระบุอีกว่า การทำงานให้ประสบความสำเร็จจึงมิใช่เรื่องของมาด้วยคุณสมบัติ หรือวาระการดำรงตำแหน่ง แต่อยู่ที่ความสามารถในการทำงานเป็นทีมกล้าตัดสินใจ และดำรงความเป็นอิสระ มิได้อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายการเมือง การออกกฎหมาย ต้องคำนึงถึงหลักการ มิใช่คำนึงถึงตัวบุคคล ดังนั้นควรพูดให้ตรงว่าเป็นปลาสองน้ำ หรือออกกฎหมายสองมาตรฐาน
ขอรอดูทิศทางการลงมติ สนช.
ต่อมานายสมชัยให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ถึงกรณีที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. มีมติให้เซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งชุด ว่า ประธาน กกต.แจ้งต่อที่ประชุม กกต.เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.แล้ว ต้องรอดูว่า วันที่ 9 มิ.ย. สนช.จะลงมติเป็นไปในทิศทางใด เมื่อกฎหมายผ่าน สนช.ต้องร่างกฎหมายมาให้ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน หาก กกต.หรือศาล รัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สามารถส่งเรื่องไปยัง สนช.เพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจำนวน 11 คนได้ แต่ตอนนี้ กกต.ยังไม่มีธงว่าจะต้องทำความเห็นแย้งหรือไม่ ต้องรอดูเนื้อหาก่อน
จ่อเอาคืนสอบ 9 รมต.ถือครองหุ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. พูดคุยถึงกรณีเซ็ตซีโร่ กกต. เบื้องต้นสำนักงานจะศึกษาเนื้อหาร่างฯว่ามีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะนำร่างไปขอความเห็นจากที่ประชุมคณะที่ปรึกษากฎหมาย ที่มีนายสุรินทร์ นาควิเชียร อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธาน โดยนัดประชุมในวันที่ 8 มิ.ย. นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบตามที่สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการ กกต. เสนอให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำร้องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ขอให้ตรวจสอบรัฐมนตรี 9 ราย คือ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช. พาณิชย์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ถือครองหุ้น และมีการกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ อาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 264 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ โดยสำนักงานจะไปยกร่างคำสั่งก่อนเสนอให้ประธาน กกต. ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ หากมีมูลตามที่กล่าวหา จะเชิญผู้ถูกร้องทั้ง 9 รายมาชี้แจง ก่อนจะมีมติ และมีความเห็นเสนอต่อ กกต.ชุดใหญ่พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ค้านเหมาเข่งเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ
ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า การเซ็ตซีโร่ กกต.ต้องอยู่ในกรอบความเป็นธรรม มีคุณภาพ การพิจารณาในที่ประชุม สนช. วันที่ 9 มิ.ย. ต้องยึดหลักเหล่านี้ ส่วนจะมีการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระอื่นเหมือน กกต.หรือไม่ แต่ละองค์กรไม่ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน เพราะภารกิจต่างกัน ไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งประเทศใส่ได้ ต้องมีการยืดหยุ่นในการตรากฎหมายองค์กรอิสระ ส่วนข้อเสนอของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท. ที่ให้พรรคประชาธิปัตย์ กปปส.และ คสช. จับมือกันต่อต้านระบอบทักษิณในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น การจะจับกลุ่มกันต้องดูว่าอุดมการณ์ตรงกันหรือไม่ ไม่ใช่จับกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง ส่วนที่ตนเคยพูดว่า กลุ่ม นปช.ควรกลับพรรคเพื่อไทยเหมือน กปปส.นั้น เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง นักการเมืองควรเริ่มปฏิรูปตนเอง
“เต้น” เหน็บเซ็ตซีโร่ หรือเซ็ตซีรี่ส์
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า ปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ต่อกรณีเซ็ตซีโร่ กกต. ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า หลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยขับเคลื่อนด้วยหลักการ หรือเป็นเรื่องหลักลอย ถ้าเรายืนยันหลักการที่ถูกต้อง จะไม่มีคำถามจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ในวันนี้ถึงการออกกฎหมายให้มีโทษย้อนหลัง ส่วนคำอธิบายของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ระบุว่าเพื่อแก้ปัญหาปลาสองน้ำนั้น ถ้ายึดตามหลักการกรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในยุค คมช. กรณีการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช.อยากให้ทุกฝ่ายฉุกคิดว่า ถ้ายอมรับการบิดเบือนหลักการเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จะมีแต่การบิดไปบิดมา จนในที่สุดหลักการที่สากลยึดถือจะกลายเป็นเรื่องเหลวไหลในสังคมไทย เท่าที่ดูเรื่องนี้คงไม่จบแค่เซ็ตซีโร่ แต่เป็นการเซ็ตซีรี่ส์ จะมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ในอนาคต ซีรี่ส์แรก คือ การหาข้อยุติไม่ได้ใน สนช.จนนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หรืออื่นๆผลที่สุดคือการยืดเวลาเลือกตั้งออกไป ส่วนอีกซีรี่ส์คือ ตั้งเป้าจะมี กกต.ใหม่ทั้ง 7 คน เพื่อทำภารกิจสำคัญให้เป็นไปตามโรดแม็ปทางอำนาจของบางฝ่าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐธรรมนูญร่างเอง กฎหมายลูกทำเอง กกต.ตั้งเอง ส.ว.ตั้งเอง เผลอๆจะมีพรรคตั้งเองด้วย แทบไม่ต้องเดาว่านายกฯคนต่อไปจะเป็นใคร ถ้าคนส่วนใหญ่อยากได้แบบนี้ก็ต้องทำใจเรียนรู้กันไป
“บิ๊กตู่” โปรโมตทุเรียนเมืองจันท์
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นำคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประชาสัมพันธ์งานมหานครผลไม้ 2017 FRUITPITAL FAIR และงานเปิดสวนผลไม้เพื่อการท่องเที่ยว จ.จันทบุรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ทดลองชิมทุเรียนพันธุ์กลิ่นสมุทร เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีรสชาติหอมหวานกลิ่นน้ำนม พร้อมกับกล่าวว่า กินทุเรียนทุกวันโดยเฉพาะพันธุ์ก้านยาว ชอบผลไม้ไทยทุกสายพันธุ์ จากนั้นได้พูดคุยกับชาวสวนจันทบุรีว่า ปีนี้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นอีก 2 ปีน้ำจะดีกว่านี้ ทำให้เกษตรกรมีความสุข ด้านชาวสวนกล่าวตอบว่า คนจันทบุรีมีความสุข และวันที่ 7 มิ.ย. จะได้เจอกับนายกฯ ด้วย ซึ่งนายกฯกล่าวว่า มีความสุขดีแล้วขอให้ไปบอกคนที่ไม่มีความสุขด้วย จากนั้นนายกฯได้ยกพูทุเรียนมาถ่ายรูปประกอบ พร้อมกล่าวติดตลกว่า “ให้นายกฯ ทำอะไรนึกถึงหน้านายกฯบ้าง ไม่ใช่ตลกเกินไป ไม่ดี” จากนั้นหยิบทุเรียนหันมาทางสื่อแล้วบอกว่า “ช่างถามจริงนะ ถามจน รมว.กลาโหมป่วยเลย” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังคงงดให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเป็นวันที่ 8 แล้ว
ย้ำเป้าคำถาม 4 ข้อรู้ทันการเมือง
ต่อมาเวลา 14.30 น. พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเขียนตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงแนวทางการรวบรวมคำถาม 4 ข้อ ว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว ที่ให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมคำตอบจากประชาชน เพราะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยตรง มีวัตถุประสงค์ให้สังคมและประชาชนเรียนรู้เท่าทันทางการเมือง สร้างหลักคิดเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แก้ไขปัญหาในอดีต วางรากฐานรัฐบาลในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งก็จะไม่มองเรื่องการสืบทอดอำนาจ ส่วนประเด็นการเซ็ตซีโร่ กกต.นั้น ไม่ทราบว่ามองในแง่ คสช.สืบทอดอำนาจได้อย่างไร กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ประชาชนมาใช้สิทธิ จะไปแก้ไขคะแนนเสียงได้อย่างไร กกต.หรือใครก็ไม่สามารถทำให้ใครสืบทอดอำนาจได้
รบ.แจกเอกสารผลงาน 5 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังการประชุม ครม. เจ้าหน้าที่สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำเอกสาร “ความคืบหน้าการประชาสัมพันธ์งานรัฐบาล” ที่จัดทำโดยคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) กรมประชาสัมพันธ์ จำนวน 6 แผ่น มาแจกจ่ายผู้สื่อข่าว มีเนื้อหาชี้แจงการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12 ก.ย.2559 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2560 อาทิ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและ คสช. การปฏิรูปประเทศ และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
“บิ๊กป๊อก” ดีเดย์รับคำตอบ 12 มิ.ย.
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการรับฟังความเห็นประชาชน กับคำถาม 4 ข้อของนายกฯจะเริ่มดำเนินการวันที่ 12 มิ.ย. ผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นต้องไปแสดงตัว ณ ที่ทำการเขต 50 เขตของ กทม. หรือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทั่วประเทศ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ป้องกันการสวมสิทธิ์จากบุคคลอื่น แล้วศูนย์ดำรงธรรมจะเก็บรวบรวมส่งต่อให้จังหวัด สรุปผลให้กระทรวงมหาดไทย 10 วันต่อครั้ง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาล และที่กระทรวงมหาดไทยได้
“ตู่” ทวงยิกร่างสัญญาประชาคม
วันเดียวกัน ที่กระทรวงกลาโหม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวถึงการทำสัญญาประชาคมในการสร้างความสามัคคีปรองดองว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะผู้รับผิดชอบ ประกาศไว้ชัดเจนว่าจะประกาศสัญญาประชาคมภายในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากรวบรวมความเห็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันติดตามว่าสัญญาประชาคมจะเป็นทางออกให้ประเทศไทยได้หรือไม่ เพราะระยะเวลา 1 ปีครึ่งกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ตนมองเห็นวิกฤติรออยู่ข้างหน้า ประหลาดใจว่าคนในรัฐบาล ในแม่น้ำทั้ง 5 สาย หลายคนแสดงทัศนคติที่เป็นปัญหาต่อการเลือกตั้ง ทั้งยั่วยุให้เกิดปัญหา ทั้งที่หนทางการเลือกตั้งยังอีกยาวไกล สิ่งที่อยากสื่อไปยัง ผบ.ทบ. คือมาตรการและแนวทางของท่านที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนับหนึ่งประเทศไทย เชื่อว่าคนไทยก็เฝ้ารออยู่
โวยแหลกข้อเสนอ นปช.ตกหล่น
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. กล่าวว่า เท่าที่ดูความคิดเห็นที่ นปช.เสนอไป ยังมีตกหล่นไป 4 ประเด็น คือ 1.รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อกังวลว่าเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต จึงควรมีความชัดเจนว่าหลังการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ จะต้องมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยรัฐสภาที่มาจากประชาชน และมีการทำประชามติอีกครั้ง 2.บุคคล และองค์กรที่อยู่ในกำกับของรัฐ ไม่ควรมีอำนาจแต่งตั้ง ยกเลิกใบประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพราะจะทำให้รัฐมีอิทธิพลต่อสื่อ 3.ควรเอาคำสั่งของคณะรัฐประหารทุกยุคสมัยมาทบทวน และยกเลิกการบังคับใช้ และ 4.เป็นประเด็นสำคัญ ที่ไม่มีกลุ่มใดเสนอเลย คือการปฏิรูปกองทัพ หรือหน่วยงานความมั่นคง กองทัพต้องปฏิรูปตนเองด้วย เพราะถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่ามีส่วนสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา จะไปแปลกแยก ยืนอยู่นอกวง เป็นผู้บริหารจัดการไม่ได้
ซัดกลับรัฐบาลไร้ธรรมาภิบาล
นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. กล่าวว่า 4 คำถามของนายกฯ โดยที่เป็นห่วงว่าหลังการเลือกตั้งจะได้นายกฯที่ไม่มีธรรมาภิบาล อยากฝากให้กลับไปตรวจสอบตัวเองด้วย เพราะเท่าที่เราตรวจสอบธรรมาภิบาลของรัฐบาลที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ผ่าน เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงคิดว่าท่านคงเข้าใจผิดในความหมายของธรรมาภิบาล เพราะธรรมาภิบาลคือหลักนิติธรรมที่มาพร้อมกับคำว่าประชาธิปไตย คือประชาชนมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ และตอบความต้องการของประชาชน ฉะนั้นรัฐบาลชุดนี้จึงไม่ผ่านธรรมาภิบาล ส่วนรัฐบาลหน้าก็ต้องดูกันไป เพราะไม่ใช่ดูหน้าแล้วตอบได้เลยว่าไม่มีธรรมาภิบาล
แย้มสัญญาประชาคมใกล้เสร็จ
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างสัญญาประชาคมว่า ขั้นตอนจัดทำร่างสัญญาประชาคมจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 มิ.ย. หลังจากนั้นจะนำตัวร่างส่งไปให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม จากนั้นจะเปิดเวทีสาธารณะ 4 พื้นที่กองทัพภาคให้ประชาชนรับรู้ร่างสัญญาประชาคมเป็นอย่างไร และส่งไปที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ชุดใหญ่ อนุมัติต่อไป ทั้งหมดคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย.นี้ ขอย้ำว่าภายในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อยุติรูปแบบสัญญาประชาคมเป็นอย่างไร เมื่อถามว่า สัญญาประชาคมต้องมีการลงนามหรือไม่ ผบ.ทบ.ตอบว่า ต้องรอผลการประชุม แต่ตอนนี้ไม่มีการลงนาม เพราะส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีจุดอ่อนเยอะ ซึ่งเราจะดำเนินการในรูปแบบสัญญาประชาคม
นายกฯ นำทีมแจงงบประมาณ 61
ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงว่า การประชุม สนช.วันที่ 8 มิ.ย. จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท จำนวน 61 มาตรา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. พร้อม ครม. จะมาชี้แจงหลักการและเหตุผลด้วยตัวเองต่อที่ประชุม สนช. เป็นการพิจารณาในวาระแรกขั้นรับหลักการ จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกสนช.อภิปรายแสดงความคิดเห็น คาดว่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นในเวลา 18.30 น. วันที่ 8 มิ.ย.นี้
วงเงินรวม 2.9 ล้านล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท มีการปรับลดลงจากงบประมาณรายจ่ายปี 2560 จำนวน 23,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุน 659,924 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 86,942 ล้านบาท โดยคาดการณ์ภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.3-3.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก ที่ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และราคาสินค้าในตลาดโลก รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่สูงขึ้น ส่วนเศรษฐกิจปี 2561 คาดจะขยายตัวร้อยละ 3.3-4.3
จัดสรรตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ มีการจัดสรรงบประมาณ ยุทธศาสตร์ใน 6 ด้านได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 273,954 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 2. ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ 476,596 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 575,709 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา สาธารณสุข และสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก 4. ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 332,584 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 5.ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำ และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 125,459 ล้านบาท 6. ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 784,210 ล้านบาทสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. กระทรวงศึกษาธิการ 510,961 ล้านบาท 2. กระทรวงมหาดไทย 355,995 ล้านบาท 3. กระทรวงการคลัง 238,356 ล้านบาท 4. กระทรวงกลาโหม 222,436 ล้านบาท 5.กระทรวงคมนาคม 172,876 ล้านบาท
วิป สนช.ตั้งสเปกผู้ตรวจฯสูงลิบ
นพ.เจตน์ยังกล่าวถึงผลการประชุมวิป สนช. ว่า การประชุม สนช.วันที่ 9 มิ.ย. มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สำคัญ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินวาระแรก และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ในวาระ 2 และ 3 โดยในร่าง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน วิป สนช.เป็นห่วงเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้สูงมาก เพราะผู้จะมาดำรงตำแหน่งได้จะต้องเป็นหัวหน้าสูงสุดของส่วนราชการนั้นๆ ทำให้การสรรหาเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ส่วนจะมีการเซ็ตซีโร่ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดเดิมหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดินจะกำหนด ส่วนร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้มีการเซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งหมดนั้น ยอมรับว่าตัวแทน กรธ.มีส่วนในการเสนอความเห็นดังกล่าวให้ กมธ.ตัดสินใจ ซึ่ง กมธ.ก็เห็นพ้องด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก จึงให้สรรหาใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม สนช.จะเห็นอย่างไร แต่ประเด็นเรื่องเซ็ตซีโร่เป็นเรื่องที่มีสมาชิกสนช.ติดใจขอแปรญัตติมากที่สุด 10 คน
“พิชัย” ยกเหตุ ศก.ดิ่ง “สมคิด” หลงตัว
ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหาผู้ที่ออกมาวิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการทำลายประเทศว่า อยากให้ไปสอบถามประชาชนว่าเดือดร้อนขนาดไหน รายได้ลดลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ขนาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ยังยอมรับว่าเศรษฐกิจฝืดเคือง หากนายสมคิดเปิดใจกว้างยอมรับฟังข้อมูลที่เป็นจริงจากหน่วยงานรัฐ ฟังข้อเสนอแนะโดยไม่มีอคติ เศรษฐกิจคงไม่แย่ขนาดนี้ และที่นายสมคิดพูดถึงการวิจารณ์ถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2556 ว่าเสาหลักเศรษฐกิจเสื่อมหมดนั้น อยากให้ไปเปรียบเทียบปัจจุบันกับปี 2556 จะพบว่าปัจจุบันการส่งออกลดต่ำกว่าปี 2556 และการลงทุนปี 2556 มียอดขอส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท การลงทุนของเอกชนก็สูงกว่าปัจจุบันมาก จึงอยากให้คิดหาทางแก้ไข ไม่ใช่พูดเพื่อให้ดูดีหรือเพียงเพื่อการตลาด หลงคิดว่าตัวเองเก่งและมาถูกทาง อยากถามว่า ใครกันแน่ที่ทำลายประเทศ
คาดนายกฯเยือนสหรัฐฯปลาย ก.ค.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกำหนดการเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกฯ ว่า ยังรอการยืนยันวันเวลาจากฝ่ายสหรัฐฯ เบื้องต้นคาดว่าเป็นช่วงปลายเดือน ก.ค. ส่วนข้อหารือนายกฯสั่งการให้หน่วยงานต่างๆไปจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานความมั่นคง อาทิ เรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการหยิบยกกรณีสหรัฐฯ เคยประกาศรายชื่อประเทศที่เกินดุลการค้า ซึ่งไทยติด 1 ใน 10 ด้วยหรือไม่ พล.ท.วีรชนกล่าวว่า ไม่ใช่ ประเด็นหลัก แนวทางกว้างๆที่จะหารือ อาทิ เรื่อง การค้าการลงทุน ความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ทั้งปัจจุบันและอนาคต เช่น ความมั่นคง การศึกษา เป็นต้น
ศาลทหารเลื่อนสอบคดี นปช.
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลทหารนัดสอบคำให้การคดี 19 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 7/2557 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป กรณีที่ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2559 โดยมีแกนนำ นปช.เดินทางมา 17 คน อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นต้น ขาดเพียง 2 คน คือ นายยศวริศ ชูกล่อม ที่อยู่ระหว่างถูกจำคุกในคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่เรือนจำคลองเปรม และนายนิสิต สินธุไพร ที่ถูกจำคุกในคดีรวมตัวประท้วงปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา ที่เบิกตัวมาไม่ทัน ตุลาการศาลทหารจึงมีคำสั่งเลื่อนนัดสอบคำให้การ เหตุเพราะผู้ต้องหามาไม่ครบ โดยให้ทนายความทำเรื่องเบิกตัวทั้งสองให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 มิ.ย. และนัดสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย.2560 เวลา 08.30 น.
สั่งรับ “จีระเกียรติ” กลับมหาดไทย
อีกด้านหนึ่ง วันเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.25/2560 เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีคำสั่งปลดนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ รอง ผวจ.กำแพงเพชร ออกจากราชการ และให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยควรพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้นายจีระเกียรติกลับสู่ตำแหน่งโดยไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยคดีดังกล่าวนายจีระเกียรติได้ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2557 หลังถูกปลัดกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งรอง ผวจ.กำแพงเพชร ตามมติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กรณีรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยน้ำท่วม อ.สุวรรณภูมิ ในปี 2549 แต่ด้วยข้อเท็จจริงของคดีและการไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่านายจีระเกียรติทุจริตต่อหน้าที่ คำสั่งปลดฯดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทุ่ม 2 พันล้านทำบ้านเช่าคนจน
อีกเรื่อง พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุม ครม. ว่า ครม.อนุมัติจัดทำโครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยปี 2559 ระยะที่ 1 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี 2559-2568 และแผนการลงทุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติปี 2558-2560 เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 14 โครงการ แบ่งเป็นพื้นที่ในโครงการเคหะชุมชนหรือเมืองใหม่ของการเคหะแห่งชาติ 11 โครงการ และโครงการบนที่ดินราชพัสดุในเขตเมือง 3 โครงการ คิดอัตราค่าเช่าประมาณ 1,400-2,400 บาทต่อเดือน ใช้งบลงทุนรวม 2,057 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเต็มจำนวน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561
ค้านแก้ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ
ช่วงเช้า ที่หน้าศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กลุ่มคนรักประกันสุขภาพ เดินทางมาชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยุติกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้สลายตัวไป ต่อมา น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา ตัวแทนกลุ่มฯ ได้จัดตัวแทน 10 คน เดินทางไปยังศูนย์บริการประชาชน บริเวณสำนักงาน ก.พ. เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ โดย น.ส.แสงศิริกล่าวว่า องค์ประกอบคณะทำงานแก้กฎหมายดังกล่าวมีสัดส่วนไม่เหมาะสม มีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สัดส่วนประชาชนมีเพียง 2 คน จาก 26 คน ในประเด็นกฎหมายก็มีส่วนเอนเอียง การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจัดแค่ 4 จังหวัด คนเข้าถึงน้อย เท่ากับกระบวนการแก้ไขกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง จึงขอเรียกร้องให้นายกฯยุติกระบวนการดังกล่าวแล้วเริ่มต้นใหม่ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
โปรดเกล้าฯข้าราชการในพระองค์
ช่วงค่ำวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหา วชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ให้ดำรงตำแหน่ง 1.พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายบริหารนโยบาย และปฏิบัติการดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระดับ 11 เทียบเท่าเลขาธิการพระราชวัง ตำแหน่งหมายเลข 1 และเป็นประธานข้าราชบริพารในพระองค์ 2.นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11 ตำแหน่งหมายเลข 2 3.นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร ตำแหน่งราชเลขาธิการ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์ ระดับ 11 เทียบเท่าเลขาธิการพระราชวัง ตำแหน่งหมายเลข 3 4.พ.ท.สมชาย กาญจนมณี ตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายบริหารนโยบายและปฏิบัติการ ระดับ 11 อันดับ 1 ตำแหน่งหมายเลข4
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 5.พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม ตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับ ระดับ 11 อันดับ 2 ตำแหน่งหมายเลข 5 6.พล.อ.ท.ภักดี แสงชูโต ตำแหน่งรองราชเลขาธิการ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี กรมราชเลขานุการในพระองค์ ระดับ 11 ตำแหน่งหมายเลข 6 7.ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรม ราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ระดับ 11 ตำแหน่งหมายเลข 7 8.พล.ต.ต.ชัยทัต บุญขํา ตำแหน่งรองราชเลขาธิการ ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี กรมราชเลขานุการในพระองค์ ระดับ 10 ตำแหน่งหมายเลข 8 9.ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ตำแหน่งรองราชเลขาธิการ ดำรงตำแหน่งประจําสํานักพระราชวังพิเศษ สํานักพระราชวัง ระดับ 10 ตำแหน่งหมายเลข 9 10.คุณจันทนี ธนรักษ์ ตำแหน่งกรมวังผู้ใหญ่ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระดับ 10 ตำแหน่งหมายเลข 10 ประกาศ ณ วันที่ 4 มิ.ย.2560
ให้นายทหารสัญญาบัตรรับราชการ
พร้อมกันนี้ยังมีประกาศเรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายทหารสัญญาบัตรรับราชการ และพระราชทานยศ มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายทหารสัญญาบัตร สังกัดกรมราชองครักษ์ และสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณ จํานวน 4 ราย และในจํานวนนี้พระราชทานยศ จํานวน 1 ราย ดังนี้ 1.พล.อ.อ.ชาญชาย เกิดผล ตำแหน่งรองสมุหราชองครักษ์ กรมราชองครักษ์ (อัตราพลอากาศเอก) เป็นรองสมุหราชองครักษ์ กรมราชองครักษ์ (อัตราเงินเดือน น.9) 2.พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ ตำแหน่งรองสมุหราชองครักษ์ กรมราชองครักษ์ (อัตราพลเรือเอก) เป็นรองสมุหราชองครักษ์ กรมราชองครักษ์ (อัตราเงินเดือน น.9) 3.พล.อ.อ.อํานาจ จีระมณีมัย ตำแหน่งหัวหน้าสํานักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสา ธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตราพลอากาศเอก) เป็นรองสมุหราชองครักษ์ กรมราชองครักษ์ (อัตราเงินเดือน น.9) 4.พล.ท.จักรภพ ภูริเดช ตำแหน่งผู้บังคับหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตราพลโท) เป็นหัวหน้าสํานักงานนายทหารปฏิบัติ การพิเศษ สํานักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราช กุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตราพลเอก) และพระราชทานยศพลเอก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.2560 เป็นต้นไป