“ศรีสุวรรณ” กัดไม่ปล่อย ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบกองทัพเรือลุกลี้ลุกลนลงนามซื้อเรือดำน้ำกับจีน อาจขัด รธน.-พ.ร.บ.วิธีงบประมาณให้ส่งศาลปกครองชี้ขาดสัญญาเป็นโมฆะ พท.ซัด สตง.รีบออกตัวประทับตราล่วงหน้า “องอาจ” กระทุ้งรัฐบาลอย่าเสพติดอำนาจครอบงำสื่อ เตือน “วิษณุ” เจตนาดีอย่าปิดช่องรับฟังสื่อ ระวังจุดชนวนขัดแย้งรอบใหม่ “จาตุรนต์” เชื่อทำ ก.ม.กดหัวสื่อมีเจตนาแฝง จับไต๋แม่น้ำ 5 สายหวังรองรับเกมสืบอำนาจ พท.แห่ต้านคนรัฐนั่งสภาวิชาชีพสื่อ สปท.ดันวาระร้อนปฏิรูปการเมือง มุ่งสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่น้ำดี “ลูกท็อป” โต้ข่าวต่อสายนายใหญ่เซ็งลี้ ชทพ. ประชดคนปล่อยข่าวยังให้เกียรติ

การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนยังคงถูกสังคมจับตามองใกล้ชิด แม้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. จะประทับตราว่ากองทัพเรือดำเนินการด้วยความโปร่งใส แต่ล่าสุดนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกรณีลุกลี้ลุกลนเร่งรีบลงนามเซ็นสัญญา

ยื่นผู้ตรวจฯ สอบ ทร.เร่งรีบลงนาม

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า วันที่ 8 พ.ค. เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบกรณีกองทัพเรือลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ S 26 T จากบริษัท CSOC ในนามตัวแทนรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการลุกลี้ลุกลนเร่งรีบลงนามเซ็นสัญญา ไม่คำนึงถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนถึงความไม่เหมาะสม ในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในสถานะการเงินและสถานภาพทางเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) การดำเนินการดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณมาตรา 23 ซึ่งเป็นการก่อหนี้ผูกพัน 7 ปี ตามระเบียบต้องขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 คือต้องซื้อภายในวันที่ 30 พ.ย.2559 แต่ ครม.เพิ่งอนุมัติให้จัดซื้อได้เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2560

...

หวังศาลปกครองชี้สัญญาโมฆะ

นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า การลงนามซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเสียก่อน ดังนั้นการที่เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) ไปลงนามจัดซื้อเรือดำน้ำกับจีน จึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องต่อศาลปกครองพิจารณาขั้นตอนการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องการเซ็นสัญญาดังกล่าวต้องถือเป็นโมฆะ

พท.ข้องใจประสิทธิภาพของถูก

ด้านนายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อกองทัพเรือลงนามสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำกับบริษัท CSOC ที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนไปแล้ว คงทำอะไรไม่ได้ หลังจากนี้ต้องมาดูว่ามีประสิทธิภาพการใช้งานดีจริงหรือไม่ แม้จะซื้อได้ในราคาถูกจากจีน แต่เป็นห่วงเรื่องอายุการใช้งาน ระหว่างของดีมีคุณภาพกับของถูกย่อมแตกต่างกัน รวมถึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่าประเทศไทยสมควรมีเรือดำน้ำจริงหรือไม่ ในสมัยที่ตนเป็นประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีข่าวเรื่องกองทัพเรือจะซื้อเรือดำน้ำ กมธ.ทหารจึงเรียกตัวแทนบริษัทจัดสร้างเรือดำน้ำจากประเทศเยอรมนีมาให้ข้อมูล พบว่าระดับความลึกของอ่าวไทยตื้นเกินไป ไม่เหมาะกับการใช้งานเรือดำน้ำ ที่สำคัญบริษัทของเยอรมนียังให้ข้อมูลว่าต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกล่วงหน้า 2 ปี ให้เข้าใจระบบและขั้นตอนวิธีการใช้งานอย่างแท้จริง การบำรุงดูแลรักษาถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญมาก ไม่ใช่ได้มาแล้วจะใช้งานได้ทันที

ซัด สตง.รีบออกตัวประทับตรา

นายอำนวยกล่าวว่า ดังนั้น กมธ.ทหารในยุคนั้น จึงสรุปรายงานว่าประเทศไทยยังไม่สมควรมีเรือดำน้ำ ส่วนที่ สตง.ตรวจสอบโครงการดังกล่าวอยู่นั้นเห็นว่า การที่ สตง.เดินทางไปขอข้อมูลเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเองถึงกองทัพเรือ ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะ สตง.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานตรวจสอบ แต่กลับเดินทางไปหาถึงที่ เท่ากับประทับตราให้ล่วงหน้าแล้วว่าโครงการดังกล่าวมีความโปร่งใส ถูกมองว่าให้ความร่วมมือกับกองทัพเรือ ควรทำหนังสือให้กองทัพเรือเดินทางมาชี้แจงข้อมูลต่อ สตง. จะเหมาะสมกว่า

โฆษก ทร.ยันทำตามขั้นตอน

ช่วงเย็นวันเดียวกัน พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับ บัญชา ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา จะยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกองทัพเรือ ที่เร่งรีบลงนามซื้อเรือดำน้ำกับทางจีน ว่า เป็นเรื่องดีที่หน่วยงานมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องทำหน้าที่ของตนเอง ถือเป็นสีสันในสังคม กองทัพเรือเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ยินดีให้ตรวจสอบทุกอย่าง เราทำหน้าที่ของเราต่อไป ข้อแนะนำต่างๆ ถือเป็นข้อสังเกต ยืนยันว่ากองทัพเรือทำทุกอย่างตามระเบียบ ขั้นตอน และข้อกฎหมาย

อสส.เข้ามาดูข้อ ก.ม.ตั้งแต่ต้น

เมื่อถามว่า แต่มีการมองว่าควรให้ สตง.ตรวจสอบเสร็จก่อนไปลงนาม ไม่เช่นนั้นอาจผิดข้อกฎหมาย พล.ร.อ.จุมพลตอบว่า ระหว่างที่ สตง.ตรวจสอบโครงการ และกองทัพเรือไปลงนามนั้น ยืนยันไม่ขัดข้อกฎหมายใดๆ ทุกกระบวนการขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง ที่ผ่านมาอัยการสูงสุดเข้ามาดูแลเรื่องกฎหมายโครงการนี้ตั้งแต่ต้น และคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำก็ทำตามกฎหมาย และมีหน่วยงานดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง ดังนั้น ขอให้มั่นใจได้ว่าการลงนามเป็นไปตามกฎหมายอย่างแน่นอน

กระทุ้ง รบ.อย่าเสพติดอำนาจ

ส่วนความเคลื่อนไหวของสังคมต่อการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนของรัฐบาล วันเดียวกัน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลว่าการเชิญตัวแทนองค์กรสื่อที่เข้าชื่อถึงรัฐบาลทั้ง 30 องค์กร 30 คนเข้ามาคุย อาจทำให้คุยกันไม่รู้เรื่องนั้น การเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนองค์กรสื่อ เป็นการหาจุดร่วมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างแท้จริง นายวิษณุไม่ควรกังวลถ้าการพูดคุยอยู่บนพื้นฐานเจตนาดี ร่วมมือหาทางออกน่าจะพูดคุยกันรู้เรื่อง และปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนองค์กรสื่อมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และแนวคิดมากกว่า ถ้ารัฐบาลติดยึดกับ “อำนาจนิยม” ที่นิยมอำนาจเข้าควบคุม ครอบงำ แทรกแซง ก็คงคุยกันไม่รู้เรื่อง

ระวังจุดชนวนขัดแย้งรอบใหม่

นายองอาจกล่าวว่า หวังว่ารัฐบาลจะใช้แนวคิดเสรีโดยไร้อคติใดๆ เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาถึงมือรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร ใน 3 แนวทาง คือ 1.เดินหน้าผลักดันเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป 2.ยุติการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และ 3.เสนอร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับสื่อฉบับใหม่ เชื่อว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคม เพื่อไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.นี้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่งในสังคมไทย

“อ๋อย” เชื่อกดหัวสื่อมีเจตนาแฝง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิฯ ถือว่าเพิ่งผ่านยกแรก ยังต้องผ่านการพิจารณาของรัฐบาล และ สนช.อีก ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากถึงขั้นเสนอให้ถอนร่างฯ ออกไป ทำให้รัฐบาลต้องรับฟังจนมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ในที่สุดเชื่อว่าจะผ่านร่างฯไปจนได้ โดยยังคงหลักการสำคัญ ที่องค์การสื่อมวลชนและสังคมห่วงใยเอาไว้ จึงไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีปัญหาอีก เช่นเดียวกับกฎหมายเกี่ยวกับพลังงาน กฎหมายพรรคการเมือง เพราะผู้มีอำนาจขาดวิสัยทัศน์ แต่กลับดำรงจุดมุ่งหมายแฝงเร้น กฎหมายควบคุมสื่อนี้ดูเหมือนแม่น้ำ 5 สายต้องการเน้นให้รัฐกำกับควบคุมสื่อ มากกว่าให้สื่อมวลชนดูแลกันเอง ขาดการส่งเสริมให้สังคมสามารถตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนได้

จับไต๋ทำรองรับหวังสืบอำนาจ

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อแล้ว ยังมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่ให้อำนาจ กสทช.จัดการสื่ออีก ทั้ง 3 ส่วนนี้ ต่อไปมีแนวโน้มสื่อที่เห็นต่างจากรัฐ อาจไม่ได้รับการรับรองให้ทำหน้าที่สื่อ ขณะที่ประชาชนหากต้องการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีผ่านโซเชียลมีเดีย อาจถูกนับเป็นสื่อและถูกจัดการตามกฎหมายควบคุมสื่อ ทั้งสื่อและประชาชนจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไปด้วยกัน ขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่แม่น้ำ 5 สาย กำลังวางระบบกับสื่อมวลชนอยู่นี้ อาจเป็นการเตรียมการรองรับในกรณีที่พวกตัวเองจะเข้ามามีอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นเขาคงต้องวางระบบอย่างเข้มข้น ให้สื่อและประชาชนตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ดังนั้น จุดมุ่งหมายของแม่น้ำ 5 สาย จึงน่ากลัวกว่าที่คิดกัน

พท.แห่ต้านรัฐนั่งสภาวิชาชีพสื่อ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเสรีภาพสื่อเป็นสิ่งสำคัญ เป็นปัจจัยชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ สื่อที่เข้มแข็งจะตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างสังคมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขอเรียกร้องให้ยกเลิกการส่งตัวแทนรัฐเข้าไปนั่งควบคุมสื่อ เป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ควรให้สื่อควบคุมกันเองเหมือนสภาทนายความ ไม่ควรส่งตัวแทนรัฐเข้าไป เพราะสื่อต้องอยู่ภายใต้กฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา หากไปหมิ่นประมาทใครอยู่แล้ว สื่อมวลชนเป็นฐานันดรที่สี่ของสังคม การออกกฎหมายควบคุมสื่อ หรือการกำหนดนโยบายใดๆเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเสรีภาพสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน

สปท.ดันวาระร้อนปฏิรูปการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน เกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปการเมือง เพื่อเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงทางการเมือง ที่ กมธ.ด้านการเมืองพิจารณาใกล้เสร็จแล้ว ให้เดินไปสู่เป้าหมายตามระยะเวลา 10 ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 และจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2561 โดยตั้งเป้ากำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางการเมืองไว้ว่า ให้มีการปรับตัวของนักการเมือง และทำพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง จากนั้นในช่วง 4 ปีแรกเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งที่สอง เป็นช่วงเวลาตรวจสอบทบทวนปัญหา และอุปสรรคของการเลือกตั้ง ส.ส.จากครั้งแรก ว่าเป็นอย่างไร พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการเลือกตั้ง และการพิจารณาเสถียรภาพของรัฐบาล ว่ามีความมั่นคงและบริหารประเทศมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมทั้งการควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ต้องประเมินผลด้วย ครั้นเข้าสู่ช่วง 4 ปีที่สองมีการเลือกตั้งครั้งที่สาม ในรายงานเสนอให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมนักการเมืองอย่างเข้มข้น และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายเพื่อให้รับโทษอย่างจริงจัง

มุ่งสร้างนักการเมืองรุ่นใหม่น้ำดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแผนปฏิรูปด้านการ เมือง มุ่งสร้างนักการเมืองที่ดี สร้างนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นจากเยาวชน มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย ให้ยอมรับในเสียงส่วนใหญ่ ไม่สร้างปัญหา หรือปมความขัดแย้ง จนประชาชนเกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นที่ผ่านมา ที่สำคัญคือทุกรัฐบาลไม่ควรมี หรือไม่ควรสนับสนุนม็อบให้ออกมาสนับสนุนหรือเชียร์รัฐบาล หามาตรการป้องกันมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เบื้อง หลังหรือสนับสนุนม็อบการเมือง มีมาตรการที่มีสภาพบังคับ หากใครฝ่าฝืนอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังเสนอยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางการเมือง ให้มี “สภาทบทวนรัฐธรรมนูญ” ที่มาจากและยึดโยงประชาชนทุกสิบปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหาร หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย

“ท็อป” โต้ข่าวต่อสายเซ็งลี้ ชทพ.

อีกเรื่อง นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต รมช.คมนาคม และแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าพรรคชาติไทยพัฒนาถูกเทก โอเวอร์ และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อสายตรงมาถึงตน และ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา พี่สาวนั้น ยืนยันว่าช่วงที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เสียชีวิตลง 1-2 วัน นายทักษิณได้โทร.หาตนและพี่สาวเพื่อแสดงความเสียใจในฐานะคนที่รู้จักกัน ไม่มีการพูดถึงเรื่องการเมือง หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย พรรคชาติไทยพัฒนาถือเป็นจิตวิญญาณของนายบรรหาร เมื่อนายบรรหารไม่อยู่ จะยกพรรคการเมืองให้คนอื่นย่อมเป็นไปไม่ได้แน่ ยืนยันว่าพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้ถูกเทกโอเวอร์ ข่าวที่ออกมาเป็นเท็จทั้งสิ้น ไม่อยากคาดเดาว่ามีเจตนาอย่างไร

ขอบคุณคนปล่อยข่าวที่ให้เกียรติ

นายวราวุธกล่าวว่า ผู้ใหญ่ในพรรคชาติไทยพัฒนาทุกคนต่างหัวเราะกับกระแสข่าวดังกล่าว เพราะทุกคนยังมีความรักสามัคคีกันเหมือนเดิม พร้อมใจกันยืนยันว่าหากมีการเลือกตั้ง พรรคชาติไทยพัฒนาพร้อมจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง วันที่ 8 พ.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ตนจะแถลงข่าวยืนยันเจตนารมณ์ของพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมกับขอบคุณคนให้ข่าวดังกล่าว ถือว่าให้เกียรติพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคเนื้อหอม ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกฉุนกับข่าวดังกล่าวหรือไม่ เหมือนเป็นการดูถูกว่าไม่มีพ่อแล้วต้องขายพรรคทิ้ง นายวราวุธกล่าวปนหัวเราะว่า “ไม่ถึงกับฉุนหรอกครับ แค่คันๆจมูกเท่านั้น ขนาดทีมฟุตบอลผมยังไม่ขายเลย แล้วผมจะขายพรรคชาติไทยพัฒนาได้อย่างไร”

“วัชระ” กัดไม่ปล่อยปมสภาใหม่

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้กับนายจเร พันธุ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการสภาฯที่ถูกคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ย้ายไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงกรณีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า พบว่านายจเรไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา นายกฯเคยประกาศว่า ถ้าข้าราชการที่ถูกโยกย้ายโดยมาตรา 44 ไม่มีความผิดจะให้กลับไปดำรงตำแหน่งเดิม จึงขอให้นายกฯปฏิบัติตามคำพูด คืนตำแหน่งให้นายจเร ปัจจุบันการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ และการสอบทุจริตที่อยู่ในความดูแลของนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯคนปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ล่าช้า แต่ยังพบว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษในโครงการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ งบประมาณ 56 ล้านบาท ถามว่าทำไมต้องใช้วิธีพิเศษ และยังตั้งผู้ที่เคยถูกร้องทุจริตในหลายเรื่อง มาเป็นประธานดูแลโครงการนี้ ยังมีความน่าสงสัยว่าทำไม นายศิรัส ตามสกุล หน้าห้องของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จึงเร่งรัดโครงการนี้จนผิดสังเกต โดยมี สนช.ที่เป็นนายทหารบางคนมาก้าวก่ายแทรกแซงโครงการนี้ อยากให้รู้ว่า สนช.ไม่ใช่สภาของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง

“วิลาศ” ลุยสอบขยายสัญญาเอื้อใคร

ด้านนายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเข้าไปดูเกี่ยวกับการขอขยายสัญญาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ครั้งที่สามไปอีก 906 วัน ว่ามีเหตุผลอะไร และเห็นว่าเลขาธิการสภาฯคนปัจจุบัน ทำงานเหมือนหุ่นยนต์ตามคนกดปุ่มให้เดินซ้ายหรือขวา ไม่ทราบว่าได้ใช้สมองสั่งการบ้างหรือไม่ เพราะหลายเรื่องทำโดยไม่มีพื้นฐาน เหตุผลชี้แจงไม่ได้ ที่ผ่านมาตนทำให้เลขาฯสองคนต้องพ้นตำแหน่งไปแล้ว คนนี้อาจเป็นรายที่สาม

จี้นายกฯใช้ ม.44 ชะลอขึ้นค่าไฟ

อีกเรื่อง นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าเป็นหน่วยละ 3.50 บาท ว่า ปัจจุบันเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่บุคลากรของ คสช.ได้รับการปูนบำเหน็จขึ้นเงินเดือน สนช. และ สปท. ได้รับเงินเดือนหลายทาง แต่ประชาชนทั้งประเทศกลับต้องจ่ายค่าไฟในราคาแพงเพื่อจ่ายเงินเดือนคนเหล่านี้ เป็นธรรมแล้วหรือ จึงขอเรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับเอกชนทั้งหมด อย่าให้ประชาชนเป็นแพะรับบาป ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล้าใช้มาตรา 44 ทบทวนโครงสร้างการผลิตกระแสไฟฟ้า และระงับการขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปค่าเอฟทีไปก่อน อย่างน้อย 6 เดือนจนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ถ้านายกฯคิดว่าเศรษฐกิจดีก็ขอให้ไปเดินตลาดสด ตลาดนัดเหมือนชาวบ้านบ้าง อย่าฟังแต่รายงานอย่างเดียว

ห่วงไทยเป็นคนป่วยเอเชีย

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักบริหาร หนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ระบุตัวเลขถึงสิ้นเดือน มี.ค. มีหนี้สาธารณะ 6.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.27% ของจีดีพี มีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 7.63 หมื่นล้านบาท ยิ่งดูการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยิ่งใจหาย แม้ถูกทักท้วงมากมายก็ยังซื้อเรือดำน้ำ หัวใจปัญหาอยู่ที่ระบบการเมืองไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา วิธีแก้คือ เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สังคมและโลกเห็นว่าไทยมีระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ แม้รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ แต่ยังไม่มีสัญญาณบวกที่จะเห็นการเมืองเปิด ที่สำคัญกติกาที่ออกแบบมา ไม่ส่งเสริมการเมืองมีเสถียรภาพ แต่ยิ่งทำให้อ่อนแอลง เกิดรัฐบาลผสม หากระบบการเมืองยังเป็นแบบนี้จะไม่มีใครมาลงทุนกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพ สุดท้ายเราจะล้มละลายกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย

โพลจับจุดแข็ง–จุดอ่อน “ลุงตู่”

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเปิดผลสำรวจความเห็น “ประชาชนมองจุดแข็งและจุดอ่อนรัฐบาลประยุทธ์อย่างไร?” พบว่า เรื่องที่เป็นจุดแข็งของรัฐบาล อันดับแรกร้อยละ 75.36 คือ การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล รองลงไป คือ การช่วยเหลือเกษตรกร คนจน ผู้มีรายได้น้อย การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การจัดระเบียบสังคม ส่วนที่เป็นจุดอ่อน อันดับแรกร้อยละ 74.04 คือเศรษฐกิจตกต่ำ รองลงไปคือ การจำกัดสิทธิเสรีภาพ การใช้งบประมาณจำนวนมาก การจัดซื้อเรือดำน้ำ ปัญหาชายแดนใต้ และคดีสำคัญไม่มีความคืบหน้า เช่น วัดพระธรรมกาย กระทิงแดง โดยส่วนใหญ่เสนอว่าต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ทำงานด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว เด็ดขาด และแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้ต่อเนื่อง มีผลงานเป็นรูปธรรม และทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

เพิ่มพื้นที่ปลูกหอมมะลิชั้นเลิศ

ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยปี 2560 กำหนด 3 โครงการหลักต่อเนื่อง 5 ปี (2560-2564) งบประมาณ 25,871.14 ล้านบาท คือ โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ใน 21 จังหวัด พื้นที่ 300,000 ไร่ โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ และโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เพิ่มพื้นที่เป็น 750 แปลง ครอบคลุมเกษตรกร 66,670 ราย และรณรงค์เพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ยึดความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคนำการผลิต รวมทั้งจัดหาตลาดรองรับผลผลิตให้มีราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป