ป.ป.ช.คัดค้านข้อเสนอ กมธ.พาณิชย์ สนช.ชงตั้งหน่วยงานใหม่ ส.ป.อ.คุมการทุจริตภาคเอกชน หวั่นทำงานซ้ำซ้อน ป.ป.ช.-ป.ป.ท. และ กลต. ไม่คุ้มค่างบประมาณ
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 60 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. เป็นประธานการประชุมเพื่อรับทราบข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช.เรื่องการส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ที่เคยส่งให้ ครม.รับทราบข้อเสนอดังกล่าว
โดย นายกิตติ ลิ้มพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงว่า ป.ป.ช.เห็นด้วยกับหลักการในรายงานดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างรูปแบบที่กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน (ส.ป.อ.) และการตั้งศูนย์อำนวยการคณะกรรมการ ส.ป.อ. เนื่องจากปัจจุบันมี ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบกับมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีมาตรฐานสนับสนุนป้องกันปราบปรามการทุจริตอยู่แล้ว หากจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว อาจมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรและงบประมาณที่ดำเนินการ
พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช. กล่าวว่า เมื่อ ป.ป.ช.ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรใหม่จึงอยากให้ ป.ป.ช.รับเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ โดยเพิ่มอำนาจเกี่ยวกับดูแลการทุจริตในภาคเอกชนด้วย ขณะที่ พล.อ.ดนัย มีชูเวท สมาชิก สนช. อภิปรายว่า แม้ให้เหตุผลว่าการตั้งหน่วยงานใหม่ทำให้เสียงบประมาณและทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่มองว่า ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ กลต. มีการทำงานแยกกันอยู่ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีการประสานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการปราบปรามและป้องกันการทุจริตจากภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคเอกชน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยไม่ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่
...