"บิ๊กตู่" เผย คุมเองศูนย์บริหารจัดการน้ำ ภายใต้กำกับสำนักนายกรัฐมนตรี หวังเป็นตัวเชื่อมหน่วยงานน้ำ พร้อมสั่ง ก.คลัง หามาตรการช่วยเหลือ ปชช.ที่ได้รับผลกระทบ
วันที่ 3 พ.ค. เมื่อเวลา 11.30 น. ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่า รัฐบาลจะต้องเร่งรัดในหลักการดำเนินการ เรื่องน้ำให้ได้ภายในปีนี้ จะมีการแบ่งย่อยโครงการให้มากขึ้น เป็นโครงการขนาดเล็กเพื่อจะให้ถึงมือผู้ใช้น้ำให้ได้มากที่สุด อาจจะต้องมีการนำมาปลดล็อกโดยนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อให้เกิดการดำเนินการได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการนโยบายน้ำ เป็นคณะทำงานที่สำคัญที่สุด ตนมีแนวคิดว่า จะทำอย่างไรให้มีหน่วยงานในลักษณะการบริหารงานนโยบาย ตนได้ให้แนวทางไปคิดและศึกษามา เป็นคณะกรรมการนโยบายเรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติของรัฐบาล ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อมาบริหารจร ทั้งเรื่องน้ำ ที่ดิน ป่า ไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะอยู่ที่หน่วยงานข้างล่าง ถ้าไม่มีหน่วยงานที่มาบริหาร หรือ กำหนดนโยบายมันก็จะเกิดปัญหาเหมือนเดิม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องมีการหารือและทำให้ได้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และปฏิรูป ซึ่งถือเป็นแนวคิดของตน และตนได้รวบรวมจากสิ่งที่ได้เห็นและฟังมาจากสภา รวมถึงจากข้อเสนอของส่วนราชการ ถ้าไปตั้งไว้ที่หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งก็จะเป็นแบบเดิม
"ยืนยันว่า เราจำเป็นต้องมีการตั้งศูนย์ขึ้นมา เหมือนที่ผมทำในวันนี้เพราะคำสั่งพวกนี้ ผมตั้งมาด้วยคำสั่งของผม ถ้ายังอยู่ตรงนี้ต่อไปก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ไม่อย่างนั้นก็จะมาบอกว่า หน่วยงานไม่ทำ ทำไม่ได้ จึงต้องมีส่วนที่รับผิดชอบด้วย อย่างน้อยต้องดีขึ้น และที่ผ่านมา ผมก็ทำงานเช่นนี้มาตลอด แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเอาทุกคนมาอยู่ที่นี่ มันจะต้องมีหน่วยงานที่กำกับดูแลตรงนี้ กำกับนโยบายลงไปข้างล่าง ไม่อย่างนั้นทุกกระทรวงก็จะทำตามกฎหมาย ตามฟังก์ชันอย่างเดียวก็ไม่ประสานกัน
...
นายกฯ กล่าวถึงเรื่องรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำลังจะขับเคลื่อนในเรื่องพ.ร.บ.เหล่านี้อยู่ การทำ EIA จะทำเมื่อได้รับงบประมาณไปแล้ว และไปทำในพื้นที่ ดังนั้นมันจะไม่มีในลักษณะนโยบายข้างบน ดังนั้นจึงมีรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งขณะนี้กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอกฎหมายนี้เข้าไปในสภาแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และในส่วนของการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กำลังให้กระทรวงการคลัง ดูแลอยู่ว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือดูแล และได้สั่งการให้ รมว.เกษตรฯ และรมว.มหาดไทย หารือในรายละเอียดอีกครั้ง ให้เป็นไปตามนโยบายที่ตนได้สั่งและมอบไว้ และจะนำเสนอขึ้นมาในช่วงต่อไป ในการปรับงบประมาณที่มีของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ และตนจะอนุมัติในครม.และจะเร่งดำเนินการในปีนี้ให้ได้มากที่สุด ทุกอย่างต้องทำแผนไว้ เรื่องราคาก็เป็นไปตามห้วงเวลาที่ต้องทำ ตอนนี้เราใช้งบประมาณแสนกว่าล้าน เป็นงบประมาณปกติ ไม่ใช่งบพิเศษ
"วันนี้เรามีนโยบายไปแล้วเรื่องของการพัฒนาระบบราชการ ว่า จะต้องเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องคิดใหม่ คิดให้นอกกรอบ และจะทำกฎหมายให้เป็นไปได้ และเป็นกฎหมายที่จะต้องไม่กระทบต่อประชาชน และมีผลในทางปฏิบัติ ประชาชนก็พอใจ เจ้าหน้าที่ก็ทำงานได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว ...