"ก.พลังงาน" เตรียมออกกฎกระทรวงควบคู่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ดำเนินการเรื่องพลังงาน หลังใกล้หมดสัมปทาน ปี 65-66 เผยประมูลพลังงานได้ ธ.ค.นี้ ลั่นมี ก.ม.แล้วทุกอย่างต้องเดินหน้า
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 60 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ สนช.ถอดมาตรา 10/1 ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ให้เขียนไว้ในข้อสังเกต โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา ว่า กระทรวงพลังงานเตรียมออกกฎกระทรวงควบคู่ไปกับ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับสัมปทานแหล่งพลังงานในสองแหล่งที่จะหมดอายุในปี 2565 และ 2566 ตามปกติต้องเตรียมการล่วงหน้า 5 ปี เราจึงเตรียมการโดยออกกฎกระทรวง 5 ฉบับ และประกาศ 1 ฉบับ จะทยอยเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และจะเปิดหลักเกณฑ์การประมูลสัมปทานได้ในเดือน ก.ค. คาดว่าจะประมูลในเดือน ธ.ค. 60 ทุกอย่างถือว่าเป็นไปตามที่กระทรวงพลังงานวางไว้ โดยการประมูลจะเป็นระบบใดก็ได้ ทั้ง ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) และระบบจ้างบริการ(เอสซี) ในขั้นต้นอาจจะนำระบบสัมปทานหรือพีเอสซีมาใช้ เราจะใช้ระบบที่ประมูลง่าย ขณะนี้อนุกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับระบบอยู่ และต้องเป็นระบบที่ชี้แจงประชาชนได้
เมื่อถามว่า การประมูลสามารถดำเนินการก่อนการศึกษาเกี่ยวกับบรรษัทพลังงานหรือไม่ พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ไม่ได้บอกให้รอเมื่อสัมปทานหมดอายุ การรอจะเกิดผลเสียหาย การศึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ กระทรวงการคลังเคยทำมาแล้ว เนื่องจากกระทรวงพลังงานเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงไม่อยากศึกษาเองโดยตรง แต่เมื่อ สนช.ตัดมาตรา 10/1 ออกไปแล้ว ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา กระทรวงพลังงานอาจจะพิจารณาให้หน่วยงานอื่น อาทิ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่มีความเป็นกลาง เข้ามาเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา หรือให้ ครม.เป็นผู้ตัดสินใจ โดยคณะกรรมการต้องมีประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมด้วย กระทรวงพลังงานคงไม่เป็นหัวหน้าในการศึกษา แต่จะมีตัวแทนเข้าไป ส่วนหน่วยงานทหาร เช่น กรมพลังงานทหาร จะอยู่ในคณะกรรมการด้วยหรือไม่ก็ได้ เราจะเสนอหน่วยงานที่คิดว่ามีศักยภาพและเป็นกลาง ทั้งนี้ ผลการศึกษาต้องมีความชัดเจนว่าจะเอาแบบไหนที่เหมาะสมกับประเทศ จะตั้งเป็นองค์กรใหญ่หรือไม่ หรือเป็นฝ่ายกำหนดนโยบาย และการจัดตั้งบรรษัทพลังงานฯ จะต้องออกกฎหมายรองรับขึ้นมาอีก เรื่องนี้ได้แนะนำ สนช.ไปแล้ว วันนี้ทุกอย่างเดินหน้าได้ ทุกคนต้องถอยคนละก้าว กระทรวงพลังงานฟังทุกเสียง ก่อนหน้านี้อาจจะเกิดความสับสน ทำให้ดูเหมือนขัดแย้ง แต่เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้ ตนบอกกระทรวงพลังงานว่า ไม่ต้องไปพูดแล้ว แต่ให้เดินหน้าต่อไป ทำอย่างไรก็ได้ ให้สัมปทานที่หมดอายุมีความชัดเจนในการลงทุนในสิ้นปีนี้ เพื่อความมั่นใจของนักลงทุน.
...