พรเพชร วิชิตชลชัย

"ศิษย์หลวงตามหาบัว" ยื่น สนช.ต้านแก้กฎหมายสงฆ์ จี้ระงับร่าง ก.ม.สภาพุทธบริษัท-จัดการทรัพย์สินวัด พระ ชี้เนื้อหาเหยียบย่ำพระธรรมวินัย...
 
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.รัตนา ศิริพานิช ในนามคณะศิษยานุศิษย์ผู้รักษาปณิธานองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ทำหนังสือ เรื่อง ขอโปรดระงับร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับมหาคณิสสร) และอย่าเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดก็ตาม ที่มีเนื้อหาเหยียบย่ำพระธรรมวินัยและราชประเพณีร้ายแรง โดยหมายรวมถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ร่าง พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ เพราะมีแนวโน้มจะเหยียบย่ำทำลายหลักพระธรรมวินัย และกำลังส่งเสริมให้ฆราวาสขึ้นปกครองและตรวจสอบพระ ถึง ศ.พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีใจความสำคัญดังนี้ ตามที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแผนในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมถึงด้านศาสนา โดยรัฐมุ่งเข้ามาตรวจสอบเงินของพระของวัด และจะจัดให้มีองค์กรทางโลกเข้ามาตรวจสอบบัญชีวัด เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากศาสนสมบัติ แต่การเปิดให้คนมีกิเลสเข้ามาทอดแทรก หรือถอนพุทธบัญญัติ ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ. หวังบัญญัติกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ ใช้บังคับวัดบังคับพระ ย่อมไม่ต่างอะไรกับ “เทวทัต” ที่อวดอ้างว่ากฎนั้นดีกว่าเลิศกว่า "พระธรรมวินัย"

คณะศิษยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว มีเจตนาที่แน่วแน่คัดค้านร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ ซึ่งล้วนแล้วแต่วิปริตผิดธรรม เหยียบย่ำพระธรรมวินัยให้ถึงกาลวิบัติ ในความเห็น 10 ข้อ ดังนี้ 1.พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อนปรินิพพานว่า พระธรรมและพระวินัยนั้นเป็นศาสนาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคต 2.ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติขึ้น และไม่รื้อถอนสิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว สงฆ์เท่านั้นเป็นใหญ่ในศาสนสมบัติและในกิจการของสงฆ์ 3.ทรงผ่อนผันให้พระรับเงินทองได้ โดยต้องมีไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บรักษา และพระต้องไม่ยินดีในเงินทองนั้น 4.ทรงให้สงฆ์ปกครองกันเอง ทรงให้ภิกษุตรวจสอบข้อปฏิบัติไม่ให้คลาดเคลื่อนจากธรรมวินัย ไม่ทรงบัญญัติให้วัดมีอำนาจเข้ายึดทรัพย์ของพระรูปใดรูปหนึ่งได้ 5.ให้สงฆ์น้อมนำธรรมวินัยมาวินิจฉัยและพิจารณาโทษกันเอง ไม่ปรากฏว่าทรงอนุญาตให้คฤหัสถ์เข้ามาร่วมตีความหรือวินิจฉัยโทษพระภิกษุได้

...

6.กระบวนการร่างกฎหมายไม่โปร่งใส เนื้อหาร่างถูกปิดบังอำพรางไว้ทั้งที่ส่งผลต่อพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักของชาติ 7.การปฏิรูปพระพุทธศาสนา หรือการแก้ไขปัญหาพระพุทธศาสนาที่ตรงจุด ต้องส่งเสริมการเผยแผ่ธรรมะแท้ออกสู่ประชาชน ในสื่อที่เข้าถึงง่ายเช่นวิทยุกระจายเสียง 8.ข้อกฎหมายที่เป็นคุณต่อพระศาสนาผู้ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ไม่ได้ให้ความสนใจแม้แต่น้อย 9.พระธรรมวินัยลึกซึ้งกว่าทางโลก 10.ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อย่าอ้างปัญหามาเป็นเหตุในการทำลายพระพุทธศาสนา.