เหตุการณ์บ้านเมืองโดยเฉพาะข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับวันนี้ ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีเศรษฐกิจที่สำคัญมากทฤษฎีหนึ่ง
ไม่แน่ใจว่าผมจะเคยเขียนไว้บ้างแล้วหรือไม่ เพราะเขียนมา 40 กว่าปีเช่นนี้ก็คงจะเขียนซ้ำกันไปบ้างไม่มากก็น้อยละครับ
ทฤษฎีนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Law of Diminishing marginal utility” ที่ท่านอาจารย์เศรษฐศาสตร์เคยสอนผมไว้เมื่อปี 2504 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่านอาจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ อาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ท่านสอนสนุกมาก อธิบายทฤษฎีนี้ให้พวกเราฟังว่า ข้าวของทุกชิ้นไม่ว่าของกินของใช้หรือของอะไรก็ตาม จะมีคุณค่าหรือมีอรรถประโยชน์ (Utility) อยู่ในตัวของมันเอง
แต่มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์รสนิยมสูงมักจะเบื่ออะไรง่ายๆหรืออยากจะชอบของใหม่อยู่เสมอ ดังนั้นพอบริโภคอะไรก็ตามเป็นชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 หรือครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ความพอใจในอรรถประโยชน์ของของสิ่งนั้น จะค่อยๆลดลง และถ้ายังขืนใช้ต่อไปจะติดลบเอาด้วยซ้ำ
ผมจำได้ว่าท่านอาจารย์ ดร.อุทิศ ยกตัวอย่างเรียกเสียงฮาได้ทั้งห้อง เมื่อท่านบอกว่าเหมือนหนุ่มสาวแต่งงานกันยังไงล่ะ แรกๆต่างก็บริโภคความรักซึ่งกันและกันด้วยความสุขและอรรถประโยชน์สูงสุดเต็มเปี่ยม
แต่บริโภคกันไปนานๆ อรรถประโยชน์จากการใช้ชีวิตคู่เริ่มน้อยลง เพราะทั้ง 2 ต่างบริโภคซ้ำๆอยู่นั่นแหละ บางคู่ไม่กี่ปีอรรถประโยชน์ก็เหลือศูนย์แล้ว และต่อมาพอติดลบก็อาจหย่ากันไปเลย
อีกตัวอย่างที่ท่านพูดถึงได้แก่เพลง “ต้นตระกูลไทย” ที่แต่งโดย หลวงวิจิตรวาทการ และเป็นเพลงที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งให้วิทยุประเทศไทยเปิดทุกวัน วันละหลายๆรอบ ก่อน พ.ศ.2500
เปิดอยู่ได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้งจนคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์รายหนึ่ง รู้สึกเบื่อ แต่ไม่กล้าเขียนวิจารณ์โดยตรง เพราะเกรงกลัวอำนาจของจอมพล ป.
...
นักหนังสือพิมพ์รายที่ว่าจึงไปแต่งเป็นเรื่องโจ๊กในทำนองว่า โจรปากแข็งรายหนึ่งไปปล้นเขามาถูกตำรวจจับได้ แต่ไม่ยอมรับสารภาพ
ปกติตำรวจยุคโน้นมักจะใช้วิธีซ้อมให้รับสารภาพ แต่ตำรวจโรงพักนี้ ใช้วิธีเปิดเพลงให้คนร้ายฟัง เพื่อให้รับสารภาพ และก็ใช้เพลงต้นตระกูลไทยนี่เอง โดยจะเปิดผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือจานเสียงรุ่นเก่าที่เปิดได้ทีละครั้งทีละครั้ง ซึ่งเจ้าโจรพอฟังต้นตระกูลไทยครั้งแรกก็ยิ้ม บอกว่า ตำรวจโรงพักนี้ดีแฮะ นอกจากไม่ซ้อมเราแล้ว ยังให้ฟังเพลงเสียอีก
แต่พอตำรวจเปิดไปเรื่อยๆ ครั้งที่ 40-50 ก็ชักเริ่มหงุดหงิด เมื่ออรรถประโยชน์ของเพลงต้นตระกูลเริ่มลดลงและเริ่มรำคาญที่ฟังอยู่เพลงเดียว
ตำรวจเปิดต่อไปอีกข้ามคืนข้ามวันเป็นครั้งที่ 400-500 ได้กระมัง พอจะเปิดครั้งที่ 501 เจ้าโจรก็ตะโกนลั่นว่า “ยอมแล้ว ยอมแล้ว ผมปล้นเขามาจริง จะเอาผมไปขังคุกไหนก็ได้ แต่หยุดเปิดเพลงบ้าๆเพลงนี้ทีเถอะ”
ถือเป็นการเขียนประชด จอมพล ป.ที่ชอบเปิดเพลงต้นตระกูลไทยทุกวันได้อย่างยอดเยี่ยม และขณะเดียวกันก็สามารถนำมาเป็นตัวอย่าง ช่วยให้เข้าใจถึงทฤษฎีว่าด้วยอรรถประโยชน์ถดถอยได้อย่างดียิ่ง
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทุกทฤษฎีเกิดจากการเก็บสถิติและจดจำพฤติกรรมมนุษย์ ที่สะสมกันมาเป็นร้อยๆปี โดยนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่า รวมทั้งทฤษฎีว่าด้วย “อรรถประโยชน์ถดถอย” ที่เราพูดถึงวันนี้
สำหรับชาวโลกทั่วไป ห้วงเวลาของความถดถอยอาจจะนานหน่อย แต่สำหรับชาวไทยจะเร็วมาก เพราะคนไทยมักจะเบื่อง่ายอยู่แล้ว
เรามี คสช.เมื่อ 22 พ.ค. 2557 และมีรัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2557 อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะครบ 3 ปีแล้ว อรรถประโยชน์ต่างๆที่เคย เปี่ยมล้น เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราวในปีแรกๆก็ชักจะเริ่มถดถอยลง
ผมอ่านข่าวทุกวันนี้แล้วก็รู้สึกเห็นใจท่าน แต่ก็เข้าใจ เพราะเรียนเศรษฐศาสตร์มาและวิชาเศรษฐศาสตร์ก็สอนไว้อย่างนี้จริงๆ
ก็คงต้องเขียนให้กำลังใจท่านนายกฯ ในฐานะที่ผมเคยเป็นคนหนึ่ง ที่ดีใจในช่วงที่ได้ท่านมาแก้ปัญหาความยุ่งเหยิงของบ้านเมืองที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆในยุคโน้นจนสงบเรียบร้อยในระดับหนึ่งจนถึงวันนี้
ถ้าจะว่าไปสถานการณ์ตอนนี้ก็เพิ่งจะเริ่มถดถอยลงบ้างเท่านั้น และก็เพียงจากบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้น ทางแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือเดินหน้าทำงานต่อไป สร้างผลงานเด็ดๆออกมาสัก 2-3 ช็อต อรรถประโยชน์ทั้งหลาย ก็คงจะกลับมาเอง...หายใจลึกๆเข้าไว้ครับท่านนายกฯ.
“ซูม”