กสม.หวั่นปัญหา "ธรรมกาย" บานปลายขัดแย้งรุนแรง ออกแถลงการณ์จี้รัฐยึดหลักสิทธิมนุษยชน เลี่ยงการเผชิญหน้า เรียกร้องมหาเถรสมาคมเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม พร้อมแนะดึงองค์กรภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบ หากยังไม่พบผู้ที่ถูกออกหมายจับ ควรยกเลิก ม.44
เมื่อวันที่ 5 มี.ค.60 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่องการปฏิบัติการจับกุมพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกาย โดยระบุว่า ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่อื่น เข้าปฏิบัติงานติดตามจับกุมพระธัมมชโย ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 5/2560 ที่ประกาศให้วัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบตามที่กำหนด เป็นพื้นที่ควบคุมมาอย่างต่อเนื่องนั้น และขณะนี้มีความเคลื่อนไหวต่อต้านจากพระสงฆ์ของวัดพระธรรมกายและศิษยานุศิษย์ด้วยการปิดทางเข้าออกวัด มีการกล่าวอ้างว่าภายในวัดขาดแคลนยาและอาหาร มีผู้ป่วยถึงแก่ความตายเนื่องจากทำการช่วยเหลือไม่ทัน การที่เจ้าหน้าที่พยายามนำกำลังเข้ากดดัน ประกอบกับพระภิกษุสงฆ์และศิษยานุศิษย์ของวัดพระธรรมกายทำการต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ กสม.ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด และมีความกังวลว่าเหตุการณ์จะบานปลายนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง และเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นภายใต้หลักนิติธรรมโดยคำนึงถึงสาระสำคัญแห่งหลักการสิทธิมนุษยชน จึงเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดย 1.เจ้าหน้าที่ของรัฐควรใช้ความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ที่อาจนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรง และพิจารณาใช้มาตรการที่เหมาะสมพอสมควร แก่เหตุในการติดตามจับกุมผู้ต้องหา ประการสำคัญการปฏิบัติการใดๆ ต้องให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
...
2.พระสงฆ์และศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ควรใช้สติและอยู่ในความสงบ หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและหรืออาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง และขอเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมได้มีบทบาทในการแก้ปัญหา เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม 3.เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและวัดพระธรรมกายควรมีความร่วมมือกันในการปฏิบัติงานตามกฎหมาย ทั้งนี้ควรให้มีองค์กรอื่นรวมทั้งภาคประชาสังคมเข้าร่วม เป็นพยานในการปฏิบัติงานตรวจค้นเพื่อหาบุคคลตามหมายจับ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และหากไม่พบบุคคลดังกล่าวในชั้นนี้ ให้ยุติการตรวจค้นและยกเลิกการกำหนดให้วัดพระธรรมกาย และพื้นที่โดยรอบวัดเป็นพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2560 โดยการติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับ ให้บังคับใช้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป.