กำนัน ผู้ใหญ่บ้านกลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ออกมาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงให้วาระการดำรงตำแหน่งกำนันเหลือคราวละ 5 ปี ตามข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพราะจะต้องมีการเลือกตั้งบ่อย แต่เห็นด้วยกับการให้กำนันอยู่คราวละ 5 ปี โดยไม่จำกัดวาระ ส่วนผู้ใหญ่บ้านอยู่จนอายุ 60 ปี
ที่มาและวาระการอยู่ในตำแหน่ง ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีการเปลี่ยนแปลงไปมาตามการเมือง เปลี่ยนจากอยู่จนครบเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี มาเป็นการเลือกตั้งจากประชาชน และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เปลี่ยนกลับไปให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ยาวจนอายุ 60 ปี ในยุครัฐประหาร
เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลคณะรัฐประหาร คมช. 2549 พยายามเอาใจและดึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาเป็นพวก โดยยกย่องให้มีสถานะเท่าเทียมข้าราชการ หลังจากที่รัฐบาลส่วนกลางต้องสูญเสียอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล จึงพยายามควบคุมอำนาจระดับตำบลและหมู่บ้าน โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนราชการ
ส่วนท่ีมาของกำนัน เดิมทีมาจากการเลือกของผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นๆต่อมาเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง และกลับไปให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้เลือกอีก ส่วนประเด็นที่ถกเถียงในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าข้อเสนอของ สปท. กับสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้ต่างกันมาก สมาคมเห็นว่ากำนันควรมาจากการเลือกตั้งคราวละ 5 ปี ส่วนผู้ใหญ่บ้านอยู่จนครบเกษียณ
ข้อเสียของการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ยาวจนครบเกษียณ เหมือนกับข้าราชการ อาจทำให้เกิดความเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นในการแข่งขันทำความดีเพื่อประชาชนและท้องถิ่น ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามไปวันๆ เพราะไม่ต้องกลับไปเลือกตั้ง บางคนอาจจะใช้เวลายาวนานในตำแหน่ง สร้างอำนาจบารมีกลายเป็นผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าพ่อ
...
ระบบการปกครองของประเทศไทย ต่างจากบรรดาประเทศประชาธิปไตยในประเด็นที่สำคัญคือ ประเทศประชาธิปไตยแบ่งการปกครองเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ส่วนกลางกับการปกครองท้องถิ่น แต่ประเทศไทยมีถึง 4 ระดับ คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนการปกครองท้องถิ่น และยังมี “ส่วนปกครองท้องที่” อันได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซ้ำซ้อนกันอยู่
ไม่มีรัฐบาลไหนกล้ายุบรวมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ากับ อบต. เพราะเกรงใจกำนันผู้ใหญ่บ้านกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ แต่น่าจะให้มีกลไกการประสานงานกันใกล้ชิด เช่น ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นที่ปรึกษา อบต. เพื่อความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน และเพื่อประโยชน์ประชาชนในท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในยุคปฏิรูปการเมืองต้องมาจากเลือกตั้งตามวาระ.