ปัญหาเกิดจากรัฐบาลอัดฉีดงบลงทุนขนาดใหญ่ หลายโครงการพร้อมกัน ทำให้กระทรวงคลังต้องหาวิธีเก็บภาษีเพิ่มกันชุลมุน วุ่นวาย
ล่าสุด นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังเตรียมยกร่าง ก.ม.ใหม่ เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มพิเศษจากประชาชนเจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนของรัฐบาล
เช่น...ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีราคาสูงขึ้นเห็นทันตา
ถือว่าเอกชนเจ้าของที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ติดเส้นทางสร้างรถไฟฟ้า เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนของรัฐบาล
กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเก็บภาษีพิเศษจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ติดแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติม
เป็นยุทธการถอนขนห่าน แนวใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย
“แม่ลูกจันทร์” ขอสรุปย่อๆเป็น 4 ข้อเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน
1,ร่างกฎหมายภาษีชนิดใหม่ของกระทรวงการคลัง จะใช้บังคับกับเอกชน เจ้าของที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ทุกแห่งทุกรายที่ได้ประโยชน์จาก “โครงการลงทุนใหม่” ของรัฐบาล
ไม่มีผลย้อนหลังโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วทุกกรณี
2,ภาษีชนิดนี้จะเรียกเก็บเพียงครั้งเดียว เมื่อมีการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ผู้ถือครอง
ถ้ายังไม่ขาย ยังไม่โอน ก็ยังไม่ต้องจ่ายภาษีแม้แต่บาทเดียว
3,อัตราภาษีจะเทียบจากราคาประเมินที่ดิน “ก่อน” สร้างรถไฟฟ้า และ “หลัง” สร้างรถไฟฟ้าว่าเปลี่ยน แปลงมากน้อยเท่าใด??
เช่น ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเฉพาะส่วนต่าง 50 เปอร์เซ็นต์
4, ภาษีชนิดใหม่ที่กระทรวงการคลังกำลังยกร่างกฎหมาย จะแยกเป็นคนละฉบับกับ ก.ม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.
...
“แม่ลูกจันทร์” ไม่เข้าใจเหตุผลที่กระทรวงการคลังจะเก็บภาษีพิเศษ จากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างรถ ไฟฟ้าของรัฐบาล
เพราะประชาชนไม่มีอำนาจกำหนดให้เส้นทางรถไฟฟ้าต้องวิ่งผ่านที่ดินของใคร
รัฐบาลต่างหากที่เอารถไฟฟ้าไปวิ่งผ่านที่ดินประชาชนเอง
เมื่อราคาที่ดินสูงขึ้น ใครจะขายโอนที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ย่อมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและภาษีให้รัฐเพิ่มขึ้นตามราคาประเมินปัจจุบัน
เหตุใดจึงเพิ่มภาระให้ประ-ชาชนที่มีที่ดิน 2 ข้างเส้นทางรถไฟฟ้า ต้องจ่ายภาษีพิเศษกลุ่มเดียว?!
ข้อสำคัญโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะเจ้าของที่ดิน “ติดแนวรถไฟฟ้า” เท่านั้น
คนที่มีที่ดินใกล้รถไฟฟ้า หรือคนที่อยู่ในซอยที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ก็ได้ประโยชน์จากโครงการนี้เช่นเดียวกัน
ปัญหาคือ กระทรวงการคลังจะใช้หลักเกณฑ์อย่างไร? ชี้ว่าตรงไหนต้องจ่ายภาษี? ตรงไหนไม่ต้องจ่ายภาษี? ให้ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม??
คิดน่ะมันง่าย...แต่ทำจริงๆมันไม่ง่ายนะคุณโยม.
“แม่ลูกจันทร์”