“บิ๊กตู่” ตั้ง กก.กฤษฎีกายกร่างแก้ไข รธน.ชั่วคราว ปี 57 เปิดประตูรื้อใหม่ รธน.ฉบับผ่านประชามติ มอบ “มีชัย” นั่งหัวโต๊ะคุมทีม 10 อรหันต์ “วิษณุ” ย้ำปรับแก้ไขหมวดพระราชอำนาจ ตามข้อสังเกตพระราชทาน ไม่มีการหมกเม็ดแตะต้องปมร้อน ไม่ยืดโรดแม็ป ยังไม่ฟันธงประกาศเลือกตั้งปลายปี 60 แต่อาจประกาศวันกาบัตรล่วงหน้าได้ “ซือแป๋มีชัย” รอนายกฯ ขอพระราชทาน รธน.กลับคืนก่อน 6 ก.พ. เล็งตัดทิ้งประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการโดยอัตโนมัติ “สมชัย” แจงหลัง 4 ก.ม.ลูกเสร็จ กกต.พร้อมจัดคูหาหย่อนบัตร ใช้เวลาไม่เกิน 90- 100 วัน “ประยุทธ์” ดีเดย์ถกกรอบปฏิรูป-ปรองดอง ติงมุ่งแต่นิรโทษก่อน ทุกอย่างเดินไปไม่ได้ ปัดเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีสืบทอดอำนาจ พท.-ปชป.เหน็บทำช้ายังดีกว่าไม่ทำเลย “นิพิฏฐ์” หนุนใช้ม.44 ดับไฟขัดแย้งทุกขั้วทุกสี
การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เฉพาะหมวดพระมหากษัตริย์ มีความชัดเจนโดยลำดับ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมจะแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำหน้าที่เป็นประธาน
รบ.ตั้ง กก.กฤษฎีกายกร่างรื้อ รธน.
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 ม.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ในวันที่ 13 ม.ค.แล้วเสร็จ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะ คสช.จะต้องไปรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ กลับมาลงมาแก้ไขภายใน 30 วัน เมื่อรับพระราชทานลงมาแล้ว จะมีการตั้งบุคคลต่างๆที่เป็นกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งอื่นที่โยงกับรัฐธรรมนูญมาดำเนินการทันที โดยคณะกรรมการชื่อว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน” โดยทำ 2 หน้าที่คือ 1.ยกร่างเฉพาะมาตรา และ 2.ตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน
...
“มีชัย” นั่งหัวโต๊ะคุมทีม 10 อรหันต์
นายวิษณุกล่าวอีกว่า คณะกรรมการชุดนี้มี10 คน ประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการ กรธ. นายอัชพร จารุจินดา กรรมการ กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายบวรศักด์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และตน
ยันไม่มีหมกเม็ด-ไม่ยืดเวลา
เมื่อถามว่า จะถือโอกาสแก้ไขมาตราอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่ถือโอกาส เพียง แต่อาจมีกระทบกับหมวดอื่นที่เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจ แต่รับรองไม่แก้ไขเรื่องสิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายแห่งรัฐ คณะรัฐมนตรี ศาล วิธีการเลือกตั้ง องค์กร พรรคการเมือง ส.ว. ส.ส. บทเฉพาะกาล ไม่แตะท่อนที่ถกเถียงกันตอนทำประชามติแน่และไม่ยืดเวลา ตอนยกร่างก็ลอกมาจากของเดิม จะแก้ในส่วนที่มีพระราชกระแสลงมาเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ไม่มีหมกเม็ด แก้ขาด แก้เกินแน่ แต่แก้ให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ ถ้าไม่แก้เท่ากับว่าใช้หลักที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2475 และเมื่อแก้เสร็จจะยังไม่ประกาศ นายกฯจะนำส่งคณะองคมนตรีแล้วนำถวาย หากไม่เป็นไปตามที่มีพระราชกระแสมา คณะองคมนตรีจะทักท้วง
ยึด 5 ขั้นตอนตามโรดแม็ปเดิม
นายวิษณุกล่าวต่อว่า หลังจากนายกฯขอ พระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับมาแล้ว จะต้องนำกลับมาแก้ไขและนำขึ้นทูลเกล้าฯกลับไปภายใน 30 วัน จากนั้นเป็นเวลาที่อยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน เมื่อถามว่า แนวทางการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งยังต้องเสร็จก่อนเหมือนเดิมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การร่างกฎหมายลูกยังยึดแนวทางเดิม กรธ.เคยกำหนดอย่างไร ยังเป็นไปอย่างนั้น ไม่สลับ ไม่ตัดขั้นตอนที่มีอยู่ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การถวายร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทรงลงพระ ปรมาภิไธย ใน 90 วัน ก่อนพระราชทานเพื่อประกาศใช้ 2.กรธ.ทำกฎหมายลูกให้เสร็จตามกำหนด 240 วัน 3.ส่ง สนช.พิจารณาใน 60 วันบวกอีก 30 วัน 4.นำขึ้นถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน เมื่อทรงพระราชทานลงมาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอน ที่ 5.เข้าสู่การเลือกตั้งใน 150 วัน นี้คือโรดแม็ป ทุกอย่างยังเป็นอย่างเดิม ที่เกินไม่ได้ แต่เร็วได้
ไม่ตอบประกาศ ลต.ปลายปี 60 ได้
เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ถอยไปหลายเดือนที่แล้วเราเคยกำหนดได้ แต่บัดนี้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ตามที่นายกฯชี้แจงว่าต้องดำเนินการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ไม่อยากเอามาเป็นข้ออ้าง แต่เป็นความจริงที่อยู่ในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งประมาณ 1 ปี จากนั้นตามด้วยพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ที่จะเป็นไปตามพระฤกษ์ที่จะมีการกำหนดอีกครั้ง แน่นอนการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นแทรกเข้ามาในช่วงเวลาอย่างนี้เป็นอันขาด แต่ยังอยู่ตามกำหนดโรดแม็ป เข้าใจว่าเมื่อไปถึงช่วงหนึ่ง แม้จะยังไม่เลือกตั้ง คงจะประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าได้ เพราะเห็นหน้าเห็นหลังแล้ว จะปล่อยให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆได้ ทั้งตั้งพรรค ประชุมพรรค หาหัวคะแนน หาเสียง โดยยังไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับวันเลือกตั้งได้ก่อน และเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะให้บอกว่าประกาศเลือกตั้งปลายปีนี้หรือไม่ ตนตอบไม่ได้ แต่ทุกอย่างนายกฯ ขอให้ใช้คำพูดเดียวกันว่า ยังอยู่ในโรดแม็ปเดิม
ขอพระราชทาน รธน.คืนก่อน 6 ก.พ.
เมื่อเวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นายมีชัย ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติว่า เท่าที่ดูเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ สนช.กำลังจะพิจารณาในวันที่ 13 ม.ค.ไม่ได้มีเนื้อหากว้างไกล แต่แก้ไขเฉพาะข้อสังเกตที่ส่งมาจากสำนักราชเลขาธิการเท่านั้น คณะกรรมการชุดพิเศษที่ตั้งขึ้น ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ คือ ทำอย่างไรจะเขียนให้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามข้อสังเกตนั้น กระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ จะต้องรอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ให้เสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้ และให้นายกฯไปขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกลับคืนมาก่อนวันที่ 6 ก.พ. จากนั้นนายกฯจะมีเวลาแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน เมื่อถามว่ารายละเอียดการแก้ไขและปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฯ มีข้อยุติแล้วหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ยังไม่ทราบเหมือนกัน ต้องรอจนกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเสร็จและมีผลใช้บังคับถึงเวลานั้นค่อยมาพิจารณาอีกครั้ง
ตัดผู้สำเร็จราชการโดยอัตโนมัติ
เมื่อถามว่า ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขมาถึงแล้วใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เข้าใจว่ามาถึงแล้ว แต่ไม่ทราบว่ามาแล้วครบถ้วนหรือยัง เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ ถ้าแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะมีผลต่อเรื่องอื่นหรือไม่อย่างไร นายมีชัย กล่าวว่า บางเรื่องอาจจะมีผล เช่น การตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญฉบับเดิมเขียนเอาไว้ต้องมีการตั้ง ในกรณีที่ไม่ได้ตั้งจะให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินโดยอัตโนมัติ แต่เมื่อจะแก้ไขในรัฐธรรมนูญว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ได้ ดังนั้นบทบัญญัติที่ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินโดยอัตโนมัติต้องไปแก้ไขด้วย ในกรณีที่ทรงไม่ประสงค์จะตั้งแปลว่าทรงทำงานได้ ประธานองคมนตรีไม่ต้องเป็นโดยอัตโนมัติ จะกระทบบ้างนิดหน่อยก็ตามไปแก้
ไม่รับปากกระทบโรดแม็ป ลต.หรือไม่
เมื่อถามว่า แปลว่าจะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติในมาตรา 16, 17 และ 18 เกี่ยวกับกรณีการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในส่วนอื่นๆอีกใช่หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า จำไม่ได้ว่ามีมาตราไหนบ้าง เมื่อถามว่า ต้องพิจารณาไปถึงโบราณราชประเพณีด้วยหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ต้องดูว่ารัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร ไม่แน่ใจว่าจะมีกระบวนการอย่างไร ระหว่างรัฐบาลแก้ไขและส่งมาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูว่าครบถ้วนและตรงตามข้อสังเกต หรือไม่ หรือจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นฝ่ายแก้ไขเอง ในส่วนของคำปรารภหรือไม่ คงต้องแก้ไขบ้างและต้องดูเนื้อหาให้ครบถ้วนเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกัน เมื่อถามว่า กระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดจะกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า อันนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องรอจนกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ประกาศใช้ก่อนถึงจะเริ่มนับหนึ่งได้
“สมชัย” พร้อมจัดคูหาใช้ไม่เกิน 100 วัน
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ระบุว่าจะมีรัฐบาลใหม่ช่วงต้นปี 61 ว่า กกต.มีความพร้อมจะจัดเลือกตั้ง เตรียมบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์และระบบต่างๆไว้แล้ว ถ้ารัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งเมื่อไหร่ กกต.พร้อมดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้จะเป็นเมื่อใด ยังมีปัจจัยอีกหลายเรื่องที่ยังไม่นิ่ง แต่หลังจากที่กฎหมายลูก 4 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน แต่ กกต.คงไม่ใช้เวลาเต็มทั้ง 150 วัน อาจจะใช้ 90-100 วัน เพราะต้องเหลือเวลาเพื่อตรวจสอบและพิจารณาการทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง
“บิ๊กตู่” ติงมุ่งนิรโทษ-ปรองดองสะดุด
อีกเรื่อง เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.กล่าวระหว่างให้โอวาทแก่คณะเด็กและเยาวชนดีเด่น ตอนหนึ่งถึงแนวทางการสร้างความปรองดองว่า ต้องกลับไปดูว่าวันนี้คนไทยทะเลาะกันด้วยสาเหตุใด นอกจากการเมืองแล้วยังมีประเด็นอื่นอีกหรือไม่ ถ้าพูดเรื่องการเมืองก่อนต้องมีการพูดถึงการนิรโทษกรรม ทำให้ทุกอย่างไปไม่ได้ทั้งหมด ขอให้ทุกคนเข้าใจประเทศชาติปั่นป่วนมาแล้ว 10 กว่าปี มีคนทำผิดกฎหมายไม่ยอมรับกติกาสังคม ไม่เช่นนั้นคงไม่เข้ามายืนอยู่ตรงนี้ เมื่อเข้ามาแล้วต้องแก้ไขปัญหา ไม่ใช่อยู่รอเวลาเฉยๆ แล้วให้ปัญหากลับมาที่เก่า ทำให้ทุกคนหมดกำลังใจ ข้าราชการไม่อยากทำงาน การรู้ว่าปัญหาอยู่จุดใดคือการปฏิรูป วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างกระบวนการปรองดอง แต่ไม่ใช่ปรองดองเฉพาะคนมีโทษ คนปกติต้องปรองดองกัน การทำงานแก้ไขปัญหาทุกคนมองว่าหากทำไม่ดีจะต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ขอถามว่าเปลี่ยนแล้วได้อะไรขึ้นมา เพราะอยู่ที่การกำกับดูแล การวางแนวทาง แผนงานยุทธศาสตร์ และนโยบายของทุกกระทรวงชัดเจน นำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หากเขียนส่งเดชปัญหาจะยังคงอยู่เช่นนี้ เลือกใครเข้ามาก็มีแต่ผิดหวัง สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เกิดความยั่งยืน ทั้งแผนงาน แผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติ
ปัดเขียนยุทธศาสตร์ต่อท่ออำนาจ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีคิด พูด เขียน แต่มีคนทำน้อย หลายคนต่อต้านคำว่ายุทธศาสตร์ชาติของลุงว่าจะเขียนทำไมถึง 20 ปี ทำไมไม่ทำแต่ละปีแล้วเปลี่ยน ผมไม่เคยบอกว่าเปลี่ยนไม่ได้ แต่ต้องทำไป 5 ปี จึงสามารถเปลี่ยนได้ ให้อยู่ในหลักการกรอบกว้างๆ ว่าจะมีความมั่นคงได้อย่างไร ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาระบบราชการ เพิ่มขีดความสามารถ อย่าฟังว่าเขียนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ตนอยู่สืบทอดอำนาจ ทุกคนคิดแต่อำนาจผลประโยชน์แล้วตีกัน ไม่คิดว่าประเทศชาติจะอยู่อย่างไรจะแก้ไขปัญหาทุจริตได้อย่างไร ทุกคนต้องรู้จักว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร กฎหมายทุกตัวออกมาแล้วต้องเรียนรู้ ถ้าไม่รู้เลยแล้วมาบอกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรคงไม่ได้ รัฐบาลไม่ได้ใช้กฎหมายเพื่อไล่ล่า และอย่าให้เงินเพื่อลัดคิว เพราะทั้งผู้ให้และผู้รับก็ผิดทั้งคู่
อารมณ์ดีเตะบอลหยอกสื่อ
ต่อมาเวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายฮาเวียร์ เบกเกอร์ มาร์แชล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐชิลี ประจำประเทศไทยและคณบดีคณะทูต เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ จากนั้นเวลา 15.00 น.ที่สนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า พล.อ.ประยุทธ์นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่ออกกำลังกายประจำวันพุธ โดยเต้นแอโรบิกอบอุ่นร่างกาย 20 นาที จากนั้นร่วมเล่นฟุตบอลกับ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกฯ และคณะทำงานนายกฯ โดยเตะลูกบอลและลูกวอลเลย์บอลรับ-ส่งสลับกันไปมาต่อเนื่องจำนวน 3-4 ลูก นานเป็นเวลาประมาณ 10 นาที ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้หยอกล้อผู้สื่อข่าวและช่างภาพ พยายามอย่างตั้งใจที่จะเตะลูกบอลใส่ให้ไปถึงกลุ่มผู้สื่อข่าว ขณะยืนสังเกตการณ์และบันทึกภาพ 3-4 ลูก อย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเลิกเตะเดินขึ้นห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า