"วิษณุ" มอบ สตช.-ปภ.-กรมขนส่ง พิจารณาปัญหาจราจรด่วน เล็งใช้ ม.44 แก้ปัญหารถตู้ ชงเข้า ครม. พร้อมงดออกใบอนุญาตรถตู้เป็นรถขนส่งสาธารณะปี 62 

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเสนอใช้มาตรา 44 แก้ปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะ ว่า ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องการคุ้มเข้มรถตู้โดยสารสาธารณะนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะกรณีรถตู้ชนกับรถกระบะจนมีผู้เสียชีวิต 25 ศพเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การจราจรทางบกไว้ก่อนแล้ว และได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแลความปลอดภัยจราจรทางบก ซึ่งได้เสนอมาตรการในที่ประชุม ครม.ไปแล้ว แต่ในการออกกฎหมายต้องใช้เวลาหลายเดือนทำให้ล่าช้า ระหว่างนี้อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้อีกโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหยุดยาว ดังนั้นจึงนำบางเรื่องของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 บังคับใช้ไปก่อน และเมื่อ พ.ร.บ.ประกาศ คำสั่งมาตรา 44 ก็จะหมดไป

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับกรมการขนส่งทางบก  สตช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และได้ยกกรณีเหตุรถตู้ชนรถกระบะที่แสดงให้เหตุถึงความบกพร่องทั้งในเรื่องสภาพรถ ความเร็ว คุณภาพผู้ขับขี่ วินัยจราจร และบทลงโทษ จึงได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานไปพิจารณาว่ามีเรื่องใดเร่งด่วนให้เสนอ ครม.มาภายใน 7 วัน ก่อนจะออกมาตรา 44 ทั้งนี้รถตู้ที่มีลักษณะเดียวกับคันที่เกิดเหตุมีใช้จำนวนมากในไทย และมีสภาพไม่เหมาะสมนำมาเป็นรถขนส่งสาธารณะ เพราะมีประตูขึ้นลงประตูเดียว หน้าต่างเปิดไม่ได้ บรรทุกถังแก๊สถึง 3 ถัง และประตูหลังเปิดไม่ได้เนื่องจากสลักอยู่ที่พื้นดึงไม่ได้เนื่องจากติดเก้าอี้ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหารถตู้มีมาตรการอยู่แล้วที่จะให้รถตู้หมดไปภายในปี 2562 แต่เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เสนอให้งดการออกใบอนุญาตรถตู้เป็นรถขนส่งสาธารณะตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อไม่เพิ่มจำนวนรถตู้ในท้องถนน 

...

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะใช้มาตรา 44 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถตรวจสมุดบันทึกประจำรถ นอกเหนือจากการตรวจของเจ้าหน้าที่ทางหลวงและเจ้าหน้าที่กรมขนส่ง ซึ่งหากรถตู้ไม่พกสมุดบันทึกติดรถ และไม่กรอกข้อมูลหรือกรอกเป็นเท็จก็ถือว่ามีความผิด ขณะเดียวกันจะล็อกความเร็วของการขับขี่ที่ปกติกำหนดไว้ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ให้เพิ่มอัตราความเร็วเพื่อเร่งแซงได้ที่ 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ตายตัว ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปหารือกับกรมขนส่งอีกครั้ง.