นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

พรรคเพื่อไทย ซัดปาหี่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ-ดีเอสไอ” เตือนอธิบดีดีเอสไออย่าดูแลเหนือชาวบ้าน ชี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ใช้อำนาจจริง แต่ไม่มีสิทธิ์ยิงประชาชนต้องทำอย่างสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุ ทนายเหยื่อ 10 เม.ย. เผย สน.เตรียมเรียกนายกฯ-สุเทพให้ปากคำ...

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายพีรพันธ์ พาลุสุข พร้อมด้วย พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และนายเรืองเดช เหลืองบริบูรณ์ ทนายความของนายเกรียงไกร คำน้อย ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เดินทางไปพบกับอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงเจตจำนงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหลังจากมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่า ข่าวที่ออกมาเหมือนกับนายสุเทพ ทำทีต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งที่อธิบดีดีเอสไอก็เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ดีเอสไอจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลางและสุจริต

นายพีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอโรดแม็ปปรองดอง แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยคำขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ตั้งข้อกล่าวหาแกนนำเป็นผู้ก่อการร้าย นายอภิสิทธิ์ ไม่ทำตัวเป็นนายกฯ แต่ทำตัวเหมือนเป็นคู่กรณีกับกลุ่ม นปช. จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ มีจิตเมตตา ปฏิบัติด้วยความสุจริต เป็นกลาง และไม่เลือกปฏิบัติ เรื่องใดเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ แม้ว่า พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจะมอบอำนาจให้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะให้ไปฆ่าคนได้ การดำเนินการใดๆ ต้องสมควรแก่เหตุ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

ด้าน พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าวว่า กรณีของนายเกรียงไกร ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกกระสุนปืนบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. บิดาของผู้ตายได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่ จ.ร้อยเอ็ด และพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ว่า นายกฯ และนายสุเทพ สั่งการให้ทหารสลายการชุมนุม ซึ่งมีการสอบสวนและสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ต่อมาได้โอนคดีดังกล่าวไปให้ดีเอสไอ แต่นายสุเทพ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่ได้ไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม แต่กลับเดินทางไปพบอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับนายสุเทพ จึงไม่ได้เป็นไปตามหลัก จึงขอเรียกร้องให้นายกฯและนายสุเทพ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาเหมือนกับคนทั่วไป เมื่อทำเช่นนี้ หากแกนนำ นปช.เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน แกนนำ นปช.ก็ควรได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกัน

“แม้ว่า พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินจะบัญญัติให้ไม่ต้องรับผิดทางอาญา แพ่ง และทางวินัย แต่มาตรา 17 ได้ระบุถึงการกระทำที่ไม่ต้องรับผิดไว้ 3 ข้อ คือ ต้องทำการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทำเกินกว่าเหตุ และคนที่ชี้ว่าใครทำผิดต้องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งฟ้องอัยการ อัยการสั่งฟ้องก็ต้องเข้าสู่ศาล ซึ่งมีทั้ง 3 ศาล ผู้ปฏิบัติจะมาวินิฉัยเองไม่ได้ อยากเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นกลางด้วย" พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าว และว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 29 คน บาดเจ็บกว่า 800 คน ก็พอแล้ว ครั้งนี้หากจะมีการสลายการชุมนุมอีก ก็ขอชีวิตทหารและตำรวจ ทำอย่างตรงไปตรงมา เท่าเทียมกัน

ขณะที่นายเรืองเดช กล่าวว่า ขณะนี้คดีของนายเกรียงไกร ทางพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือเรียกร้องผู้ถูกกล่าวหา คือนายกฯและนายสุเทพแล้ว จึงของเรียกร้องให้ทั้ง 2 คน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในขั้นต้นอย่างถูกต้อง อย่าทำลับๆ ล่อๆ ว่า ทำแล้ว ที่ไปมอบตัวกับดีเอสไอ เป็นเพียงการโฆษณาตัวเองมากกว่า.

...