การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันระหว่าง ตัวเลขการเจริญเติบโตกับคุณภาพชีวิตปัญหาปากท้องของประชาชน ไม่เช่นนั้นประเทศจะตกอยู่ในภาวะ รวยกระจุกจนกระจาย โดยที่ปัจจัยการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานและนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจด้วย

ยกตัวอย่าง กระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนและเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ถ้าค่าไฟแพง ต้นทุนการผลิตก็สูง ประชาชนก็เดือดร้อน เป็นอุปสรรคในการแข่งขันและการลงทุน ปริมาณไฟฟ้าสำรองมีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนและความเสี่ยงในการลงทุนอย่างมาก ซึ่งต้องยอมรับว่า แผนการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยอยู่ในอัตราความเสี่ยง พอสมควร ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าสำรองในอนาคต

ยกตัวอย่าง สมมติมีโรงผลิตไฟฟ้าอยู่ 2 โรง ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้โรงละ 50 เมกะวัตต์ ในขณะเดียวกัน มีความต้องการใช้ไฟฟ้า ทั้งประเทศ 100 เมกะวัตต์ หากเกิดกรณีที่โรงไฟฟ้าโรงหนึ่งโรงใดต้องหยุดซ่อมหรือมีปัญหาเรื่องของเชื้อเพลิง ก็จะเกิดปัญหาทันทีในขณะที่ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะเดียวกัน การสร้างโรงไฟฟ้า 1 โรง จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 5 ปี จึงต้องมีการเตรียมแผนรองรับว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณเท่าใดและความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าในปัจจุบันมีปริมาณเท่าไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไฟดับตามมา

ยกตัวอย่างกรณีที่เกิด ปัญหาไฟดับขึ้นในภาคใต้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,089.5 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่รวมกับ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ ที่มีกำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องเก็บไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน เช่นการปิดซ่อมท่อก๊าซจากแหล่ง JDA เป็นต้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดึงไฟฟ้าที่ผลิตในภาคกลางไปช่วยสนับสนุนผ่านสายส่งประมาณ 600 กว่ากิโลเมตรในปริมาณ 500-650 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังต้องซื้อไฟฟ้าจาก มาเลเซีย อีก 300 เมกะวัตต์ สำหรับเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงค่าไฟที่แพงขึ้นด้วย

...

สมมติว่า โรงไฟฟ้าขนอม หยุดซ่อมตามแผนก็ต้องลดกำลังการผลิตลงจาก 930 เมกะวัตต์ เหลือ 465 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ จึงจำเป็นต้องสำรองไฟฟ้าเผื่อไว้อีก 465 เมกะวัตต์ รวมเป็น 3,178 เมกะวัตต์ เวลาเดียวกันเรามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3,089 เมกะวัตต์ หรือกรณีที่โรงไฟฟ้าไม่หยุดซ่อม แต่ถ้า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่จะนะ ซึ่งมีกำลังผลิตที่ 710 เมกะวัตต์ขัดข้อง ก็จะต้องสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 3,423 เมกะวัตต์ แต่ถ้าโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งมีปัญหาพร้อมกัน ก็จะต้องสำรองไฟฟ้าถึง 3,888 เมกะวัตต์

ในปีข้างหน้าคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟในภาคใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 150 เมกะวัตต์ เมื่อนำมาคำนวณกับระยะเวลาในการสร้างโรงไฟฟ้า 5 ปี ความต้องการในปีที่ 5 จะอยู่ที่ 750 เมกะวัตต์รวมเป็น 4,173 เมกะวัตต์ ยิ่งใช้เวลาในการตัดสินใจหรือก่อสร้างนานขึ้นก็จะมีผลกระทบกับการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติพลังงานไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่รัฐบาลควรจะรีบตัดสินใจเสียแต่เนิ่นๆ.

หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com