เมื่อวานนี้ผมเขียนถึง สภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ที่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒนฯ แถลงข่าว ณ สิ้นปี 2558 ความยากจนและ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังมีความรุนแรงขึ้น ฐานะของคนรวยกับคนจนห่างกันถึง 22 เท่า คนรวย 0.1% หรือ 65,000 คน จากประชากร ทั้งประเทศ 65 ล้านคน มีเงินฝากธนาคารเท่ากับ 49.2% ของเงินฝาก ทั้งหมด (11.2 ล้านล้านบาท ข้อมูล วารสาร “การเงินธนาคาร” เล่มล่าสุด) หรือ 5.51 ล้านล้านบาท ขณะที่ประชาชนอีก 64.93 ล้านคน มีเงินฝาก รวมกันเท่ากับ 5.69 ล้านล้านบาท

เป็นความเหลื่อมล้ำที่ห่างกันมากมายอย่างที่เลขาธิการสภาพัฒนฯแถลง

ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เครดิตสวิส โกลบอล เวลธ์ รีพอร์ต 2016 ก็มีรายงานถึง ความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆในโลก โดยวัดจากสัดส่วนความมั่งคั่งของคนรวย 1% ในประเทศ เทียบกับความ มั่งคั่งของประเทศในปี 2016 ผลปรากฏว่า ประเทศรัสเซียครองอันดับ 1 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศรัสเซียสูงถึง 74.5%

อันดับ 2 ประเทศอินเดีย คนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศสูงถึง 58.4%

อันดับ 3 Thailand ประเทศไทย คนรวย 1% ครองความมั่งคั่ง ในประเทศสูงถึง 58.0% ตัวเลขของ เครดิตสวิส สูงกว่าตัวเลขของ สภาพัฒนฯ 8% กว่า ไม่รู้มีการนับความมั่งคั่งของเศรษฐีไทยที่เอาทรัพย์สินไปเก็บไว้ที่สวิตฯและยุโรปด้วยหรือเปล่า

อันดับ 4 ประเทศอินโดนีเซีย คนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศ 49.3% อันดับ 5 ประเทศบราซิล คนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศ 47.9%

อันดับ 6 ประเทศจีน คนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในประเทศ 43.8% (จีดีพีจีนปี 2016 อยู่ที่ 11.391 ล้านล้านดอลลาร์ 43.8% ก็เป็นเงิน 4,989 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 174.62 ล้านล้านบาท) อันดับ 7 สหรัฐอเมริกา คนรวย 1% ครองความมั่งคั่งในสหรัฐฯถึง 42.1% (จีดีพีสหรัฐฯปี 2016 อยู่ที่ 18.561 ล้านล้านดอลลาร์ 42.1% ก็เป็นเงิน 7.81 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 273.49 ล้านล้านบาท)

...

อันดับ 8 ประเทศแอฟริกาใต้ คนรวย 1% ครองความมั่งคั่ง 41.9% และ อันดับ 9 ประเทศเม็กซิโก คนรวย 1% ครองความมั่งคั่ง 38.2 %

รายงานของ เครดิตสวิส บอกว่า โลกมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น นับแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงปี 2008 แนวโน้มก็พลิกกลับ เมื่อเกิดวิกฤติ การเงินแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นในสหรัฐฯ ในภาพรวม ความไม่เท่าเทียมกัน เกิดขึ้นในทุกส่วนของโลก

จากการประเมินของเครดิตสวิส ประชากรโลกกลุ่มล่างกว่าครึ่งโลกมีทรัพย์สินน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งของโลก ในขณะที่ คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ครองความมั่งคั่ง ถึง 89 เปอร์เซ็นต์ของความมั่งคั่งในโลก โดยคนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ ครองความมั่งคั่งและสินทรัพย์ถึงครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ในโลกเบี้ยวใบนี้

นับตั้งแต่ออกรายงานนี้ในปีที่แล้ว เครดิตสวิส พบว่า ครัวเรือนสหรัฐฯ และ ครัวเรือนญี่ปุ่น มีรายได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก ขณะที่ สวิตเซอร์แลนด์ ยังสามารถรักษาแชมป์ ประเทศที่รวยที่สุดในโลก จากรายได้ต่อหัวของประชากร
ยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในไทยและในโลก ผมก็ยิ่งคิดถึง พระบรมราโชวาท เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเห็นว่า รัฐบาลควรบรรจุไว้เป็น “หัวใจสำคัญ” ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ

“...พอเพียงมีความหมายกว้างยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียง นี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงอาจจะมี มีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”.

“ลม เปลี่ยนทิศ”