กวีสุนทรภู่ ชีวิตขึ้นๆลงๆ รุ่งเรืองสมัยรัชกาลที่ 2 ตกอับในสมัยรัชกาลที่ 3 ฟื้นอีกทีในร่มบารมีวังหน้าในรัชกาลที่ 4 อ่านจากบทกลอน นิสัยเอาเรื่องไปทางเจ้าชู้ประตูดิน

ตัวอย่างกลอน...“เหมือนไร้คู่อยู่ข้างกำแพงวัง จะเกี้ยวมั่งเขาก็เฆี่ยนเอาเจียนตาย”

เคยตัวอยู่กับสาวชาววัง ในนิราศพระประธม พอไปเจอสาวบ้านนอกก็ค่อนขอด...“ดูรูปนางบางคูเวียงเหมือนเหนียงนา ไม่เหมือนหน้านางนั่งในวังเวียง”

ใครจะคิดจะนินทายังไง สุนทรภู่ ออกตัวไว้ในตอนท้ายนิราศภูเขาทอง

“เหมือนแม่ครัวคั่วแกงพะแนงผัด สารพัดพยัญชนังเครื่อง มังสา อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ”

ขนบการรำพึงรำพัน เศร้าสร้อยละห้อยหา...แต่ละนางนั้น เป็นแค่พริกไทย ใบผักชี เป็นเครื่องปรุงรส ตามขนบเขียน
นิราศ...เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องเจ้าชู้ประตูดินจริงๆจังๆ แต่อย่างใด

สาวชาววัง...ที่สุนทรภู่รำพึงหานั้น ไม่ใช่แค่จะสวยด้วยรูปทรง เสื้อผ้า เมื่อเข้าใกล้ก็จะได้กลิ่นหอม...สาวๆเหล่านี้
เนื้อตัวหอม...เพราะมีหน้าที่ต้องดูแลบรรยากาศในวังให้หอม

พระราชนิพนธ์ เรื่องคาวี ของรัชกาลที่ 2 ตอนหนึ่ง

“คิดแล้วสรงน้ำชำระกาย ขมิ้นผงละลายเป็นค่อนขัน ลูบไล้ขัดสีฉวีวรรณ ทรงกระแจะจวงจันทน์กลิ่นเกลา น้ำดอกไม้เทศทากว่าจะทั่ว ชะโลมทั้งเนื้อตัวเหมือนปล่อยเต่า”

สุนทรภู่ เคยรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 2 ในราชสำนัก คุ้นเคยกับบรรยากาศหอมๆ...ในนิราศภูเขาทอง ที่ขึ้นต้นว่า...เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา รับกฐินภิญโญโมทนา ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย...

จากหน้าวัดเลียบ เรือล่องไปทางริมฝั่งพระนคร...

“ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด คิดถึงบาทบพิตรอดิศร โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่แลเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา

...

เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ ละอองอบรสรื่นชื่น นาสา สิ้นแผ่นดินก็สิ้นกลิ่นสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์”

เรื่องที่เล่ากันว่า ตอนสุนทรภู่เฟื่องฟู เคยรับสนองรัชกาลที่ 2 แก้กลอนหักหน้า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมา ทรงเป็นรัชกาลที่ 3 นั้น จะจริงหรือไม่ ผู้รู้ให้เหตุผลหักล้างกันยังไม่จบ

แต่หลักฐานที่พอชี้ชัดในโคลงกลอนจารึกวัดโพธิ์ ที่ร.3 โปรดเกล้าฯ...ให้ทำ มีชื่อกวีมากมาย...แต่ไม่มีชื่อสุนทรภู่ เลยแม้แต่บทเดียว

กวี ไม่ว่าที่ไหน...ถ้าไม่มีเวทีให้เขียน...ก็เหงา และเหตุแห่งความเหงานั้น ก็พลุ่งโพล่งขึ้นในใจ...เมื่อล่องเรือผ่านหน้าวังพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่เคยหมอบกราบรับใช้

ใครที่พอรู้ความนัย อ่านถึงบทสิ้นแผ่นดินก็สิ้นกลิ่นสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์...เป็นต้องน้ำตาซึมให้สุนทรภู่ ทุกคน

ผมเห็นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงภาพผู้คนหลามไหลไปรอคิวถวาย “คารวาลัย”พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช แล้วใช้กลอนถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด บรรยายภาพ แล้ว...ก็เหมือนใจจะขาดตามสุนทรภู่

วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมปีนี้ เป็นวันที่ “เรา” “เหงาและเศร้า” คิดถึงพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของเรา มากกว่าทุกๆปี.

กิเลน ประลองเชิง